ตุรกีเริ่มสงครามบดขยี้เคิร์ดในซีเรีย

2019-10-10 14:15:55

ตุรกีเริ่มสงครามบดขยี้เคิร์ดในซีเรีย

Advertisement

สงครามระหว่างตุรกีและนักรบชาวเคิร์ดเริ่มต้นขึ้นแล้ว เมื่อทหารตุรกีและกบฏซีเรีย ซึ่งเป็นพันธมิตร ปฏิบัติการโจมตีนักรบชาวเคิร์ด “กลุ่มวายพีจี” ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรียแล้วเมื่อวันพุธ โดยเริ่มต้นด้วยการโจมตีทางอากาศและยิงปืนใหญ่ถล่ม ก่อนเริ่มส่งกำลังพลข้ามพรมแดน ซึ่งสงครามครั้งนี้ อาจเปลี่ยนแปลงสถานการณ์สงคราม 8 ปีในซีเรีย

ประธานาธิบดีเรเซฟ เทย์ยิป เออร์โดวาน ผู้นำตุรกี กล่าวอ้างผ่านทวิตเตอร์ในวันเดียวกันนี้ว่า กองทัพตุรกีร่วมกับนักรบกบฏซีเรีย เริ่มปฏิบัติการโจมตีกองกำลังชาวเคิร์ดและกลุ่มก่อการร้ายรัฐอิสลาม หรือไอเอส

ผู้นำตุรกี กล่าวด้วยว่า วัตถุประสงค์ในการโจมตีก็เพื่อป้องกันการสร้าง “ระเบียงก่อการร้าย” ตามแนวพรมแดนภาคใต้ของประเทศ และนำสันติภาพมาสู่ภูมิภาค พร้อมให้คำมั่นด้วยว่า จะรักษาบูรณภาพแห่งดินแดนของซีเรียและปลดปล่อยชุมชนท้องถิ่นให้ปลอดจากกลุ่มก่อการร้าย




มีกลุ่มควันพวยพุ่งขึ้นจากหลายสถานที่ที่เชื่อว่าเป็นฐานที่มั่นของนักรบชาวเคิร์ด หลังการโจมตีของตุรกี

กองกำลังชาวเคิร์ดควบคุมพื้นที่ภาคเหนือของซีเรีย ซึ่งตุรกีบอกว่า จะขับไล่นักรบเคิร์ดออกจากพื้นที่ใกล้พรมแดนเพื่อความมั่นคง โดยตุรกีจะสร้างเขตปลอดภัย หรือ “เซฟ โซน” ในรัศมี 32 กิโลเมตรห่างจากพรมแดนลึกเข้าไปในซีเรีย รัฐบาลตุรกีมีแผนการที่จะส่งผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย 2 ล้าน จากจำนวนทั้งสิ้น 3.6 ล้านคน ที่อาศัยอยู่ในดินแดนของตุรกี ไปยังเขตเซฟ โซน ซึ่งคณะกรรมการกาชาดสากล ระบุว่า การโจมตีครั้งนี้ อาจทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ไร้ที่อยู่อาศัย 300,000 คน



ก่อนหน้านี้ กองกำลังชาวเคิร์ดกลุ่ม “วายพีจี” ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ทหารสหรัฐ ในการกวาดล้างนักรบไอเอสจนเอาชนะได้ แต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ มีคำสั่งถอนกำลังทหารอเมริกันออกจากพื้นที่ เปิดทางให้ตุรกีใช้ปฏิบัติการทางทหาร หลังทรัมป์พูดคุยโทรศัพท์กับนายเออร์โดวานเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา จุดชนวนให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทรัมป์ขึ้นในสหรัฐว่า ทรัมป์ “เสร็จนาฆ่าโคถึก” ทรยศหักหลังเคิร์ด ในขณะที่กองกำลังเคิร์ด ก็ประณามรัฐบาลทรัมป์ด้วยเช่นกัน แต่พวกเขาก็ให้คำมั่นว่าจะต่อสู้จนกว่าวาระสุดท้าย

ตุรกี ขึ้นบัญชีดำนักรบชาวเคิร์ด วายพีจี ซึ่งเป็นกำลังหลักในกองกำลังประชาธิปไตยซีเรีย หรือเอสดีเอฟ ที่มีความสัมพันธ์กับพรรคแรงงานเคอร์ดิสถาน ซึ่งต่อสู้เพื่อแยกตัวเป็นเขตปกครองตนเองชาวเคิร์ดในตุรกี มานาน 30 ปีแล้ว

หลายเมืองและหลายหมู่บ้าน ถูกโจมตีทางอากาศและถูกยิงโจมตีด้วยปืนใหญ่ ประชาชนวิ่งหลบหนีในเมืองราส อัล-ไอน์ และทัล อับยาด โดยกลุ่มสังเกตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนซีเรีย ซึ่งเป็นกลุ่มตรวจสอบสงครามในซีเรีย ที่มีสำนักงานอยู่ในสหราชอาณาจักร แถลงว่า มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 8 คน หลังทหารตุรกีและกบฏซีเรีย รุกคืบเข้าสู่พื้นที่ด้านตะวันออกของแม่น้ำยูเฟรติส กลุ่มที่สนับสนุนตุรกี บอกว่า การโจมตีเริ่มต้นในเมืองทัล อับยาด ซึ่งเป็นพื้นที่หนึ่งที่อยู่ภายใต้การยึดครองของนักรบวายพีจี



แต่มุสตาฟา บาลี โฆษกของเอสดีเอฟ กล่าวว่า กองกำลังของพวกเขาต้านทานการรุกคืบทางภาคพื้นดินเอาไว้ได้ และจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีการรุกคืบของกองทัพตุรกี นักรบชาวเคิร์ดย้ำว่า ชัยชนะที่ได้มาโดยยากในการสู้รบยาวนานกับนักรบไอเอส ขณะนี้ ตกอยู่ในความเสี่ยง กองกำลังเอสดีเอฟสูญเสียนักรบไปประมาณ 11,000 คน ในการต่อสู้กับไอเอส แต่ก็มาประสบความสำเร็จด้วยความช่วยเหลือของสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม มีความวิตกกังวลมากขึ้น เกี่ยวกับการบาดเจ็บล้มตายของพลเรือน ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งครั้งนี้ นอกจากนี้ นักรบเคิร์ด ยังควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยนักรบไอเอสมากกว่า 12,000 คน ในคุกอย่างน้อย 7 แห่ง และในจำนวนนี้มีอย่างน้อย 4,000 คน เป็นชาวต่างชาติ แต่สถานที่คุมขังที่แท้จริงยังไม่มีการเปิดเผย แต่บางแห่งมีรายงานว่า อยู่ติดกับพรมแดนตุรกี จึงไม่มีความชัดเจนว่า พวกเขาจะยังควบคุมกลุ่มนักรบไอเอสไว้ต่อไปหรือไม่ หากการสู้รบปะทุขึ้น

ลินด์เซ เกรแฮม วุฒิสมาชิกสมาชิกใกล้ชิดของทรัมป์ กล่าวว่า เขาจะเป็นผู้นำความพยายามในคองเกรส เพื่อทำให้นายเออร์โดวานต้องรับผิดชอบ พร้อมกล่าวเพิ่มเติมว่า ขอสวดมนต์อวยพรให้พันธมิตรชาวเคิร์ดที่ถูกรัฐบาลทรัมป์ทอดทิ้งอย่างน่าละอาย แต่ในแถลงการณ์ของทรัมป์ ก็บอกว่า ตุรกีจะต้องรับผิดชอบเพื่อรับประกันว่า นักรบไอเอสที่ถูกจับตัวไว้ จะยังคงอยู่ในคุก และไอเอสจะไม่กลับไปรวมกลุ่มกันได้อีก ทรัมป์ ซึ่งขู่ทำลายเศรษฐกิจของตุรกีหากโจมตีอย่างไม่มีขอบเขตจำกัด บอกด้วยว่า สหรัฐไม่ได้เห็นชอบด้วยกับการโจมตีครั้งนี้ พร้อมเรียกปฏิบัติการทางทหารครั้งนี้ว่า “เป็นความมคิดที่แย่มาก”

นอกจากนี้ การตัดสินใจแต่เพียงฝ่ายเดียวของตุรกี เรียกเสียงประณามในวงกว้าง โดยสหภาพยุโรป หรืออียู เรียกร้องให้ตุรกีหยุดการโจมตี อียูบอกด้วยว่า ยังมองไม่เห็นว่า เขตปลอดภัยของตุรกีจะได้มาตรฐานสากลเพื่อให้ผู้ลี้ภัยพอใจการส่งตัวกลับ ขณะที่สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส มีแผนเรียกร้องให้จัดการประชุมฉุกเฉินคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น เพื่อหารือสถานการณ์ดังกล่าว



ส่วนโดมินิก ราบ รัฐมนตรีต่างประเทศสหราชอาณาจักร แสดงความ “กังวลอย่างยิ่ง” เกี่ยวกับการโจมตีครั้งนี้ โดยบอกว่า เสี่ยงที่จะบ่อนทำลายความมั่นคงในภูมิภาค, ก่อให้เกิดความเลวร้ายต่อมนุษยธรรมและความก้าวหน้าในการกวาดล้างกลุ่มไอเอส