"ธนกร" โต้ "พิชัย" ลั่น "ชิมช้อปใช้" ประชาชนได้ประโยชน์ ช่วยพยุงเศรษฐกิจ มั่นใจรัฐมาถูกทาง เหน็บอิจฉารัฐบาลทำเรื่องดีๆ จนรากหญ้าอาจเปลี่ยนใจ
เมื่อวันที่ 10 ต.ค. นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการ รมว.คลัง กล่าวถึงกรณีที่นายพิชัย นริพทะพันธ์ อดีต รมว.พลังงาน โจมตีมาตรการชิมช้อปใช้ว่าแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ รัฐบาลหลงทาง พร้อมทั้งเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ลาออกจากหัวหน้าทีมเศรษฐกิจว่า ขอทำความเข้าใจกับนายพิชัยให้เข้าใจว่า มาตรการชิมช้อปใช้เป็นมาตรการหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาวะที่ประเทศได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ซึ่งมาตรการดังกล่าวเชื่อว่าจะสามารถกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย การส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ ทำให้เศรษฐกิจฐานรากของประเทศขับเคลื่อนไปได้ ที่สำคัญ ประชาชนทั่วประเทศได้ประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว ไม่เข้าใจว่าทำไมเมื่อรัฐบาลทำโครงการดีๆ ให้ประชาชน ฝ่ายค้านจะออกมาคัดค้านตลอด จะมาอิจฉาอะไรรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์และนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินมาถูกทางแล้ว นายพิชัยจึงออกมาโจมตี คงทำใจไม่ได้ที่เห็นรัฐบาลทำอะไรดีๆ กลัวพี่น้องประชาชนจะมารักรัฐบาลมากเกินไป
นายธนกร กล่าวอีกว่า นายพิชัยในอดีตที่ผ่านมาพรรคของท่านสร้างความเสียหายให้กับประเทศมากมาย โดยเฉพาะการทุจริตจำนำข้าวที่รัฐบาลนี้ต้องตั้งงบประมาณมาชดใช้หนี้ใช่หรือไม่ นายพิชัยน่าจะกลับตัวกลับใจได้แล้ว สังคมให้อภัย อย่ารับใช้สิ่งที่จะทำลายประเทศต่อไปเลย ทั้งนี้ มาตรการชิมช้อปใช้เป็นมาตรการที่มีวัตถุประสงค์ชัดเจน ไม่ได้เป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำแต่อย่างใด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายในประเทศ ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจากเงินสนับสนุนของรัฐ 1,000 บาท และเงินที่ผู้ได้รับสิทธิ์เติมเงินเพื่อใช้จ่าย โดยได้รับเงินชดเชยอีกส่วนหนึ่ง ประชาชนมากกว่า 10 ล้านคนได้รับประโยชน์จากมาตรการ มีคนใช้สิทธิ์เต็มจำนวน 10 ล้านราย จะส่งผลให้มีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจทั้งสิ้น 10,000 ล้านบาท ในทางเศรษฐศาสตร์เมื่อมีการใช้จ่ายเพื่อการบริโภค จะเกิด Multiplier Effect จะทำให้ผลกระทบรวมเพิ่มขึ้นเป็น 2.5-3.5 เท่า (ภายใต้เงื่อนไข ประชาชนบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 60-70 ของวงเงินที่ได้รับ) ในการกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชนภายในประเทศอันเป็นองค์ประกอบหลักของเศรษฐกิจไทยเป็นสำคัญ โดยการบริโภคภาคเอกชนมีสัดส่วนร้อยละ 50 ของ GDP นอกจากนี้ ผู้ได้รับสิทธิ์สามารถใช้จ่ายเงินของตัวเองในร้าน “ชิมช้อปใช้” ได้มากถึง 30,000 บาทต่อคน โดยได้รับเงินชดเชยร้อยละ 15 ของยอดใช้จ่าย ซึ่งจะทำให้ GDP ขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก มั่นใจว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตามเป้าที่ร้อยละ 0.2