เขาใหญ่ กลายเป็นข่าวใหญ่บนหน้าสื่ออีกครั้ง เมื่อเกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่กับช้างป่าอย่างน้อย 11 ตัว พลัดตกลงไปตายหมู่ที่เหวนรก หนึ่งในหุบเหวและน้ำตกสำคัญของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
ซ้ำรอยเหตุการณ์ช้างป่าพลัดตกหุบเหวแห่งนี้และตายหลายครั้ง โดยเฉพาะในปี 2535 มีช้างป่าแม่และลูกถึง 8 ตัว ที่ต้องสังเวยพื้นที่ที่เต็มไปด้วยหุบเหว แก่งหิน และกระแสน้ำที่เชียวกราก
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้รับจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย เมื่อปี 2505 มีเนื้อที่ครอบคลุม 11 อำเภอ 4 จังหวัด คือ อ.ปากช่อง อ.วังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา อ.นาดี อ.กบินทร์บุรี อ.ประจันตคาม และ อ.เมือง จังหวัดปราจีนบุรี อ.ปากพลี อ.บ้านนา อ.เมือง จังหวัดนครนายก อ.แก่งคอย และ อ.มวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ปกคลุมเนื้อที่ประมาณ 2,215 ตารางกิโลเมตร
ต่อมาในปี 2548 อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ร่วมกับอุทยานแห่งชาติอีก 3 แห่ง คืออุทยานแห่งชาติทับลาน /ปางสีดา /ตาพระยา และ 1 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ได้รับประกาศให้เป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติจากยูเนสโก ภายใต้ชื่อ "กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่"
เดิมเป็นพื้นที่ป่าและภูเขาที่สลับซับซ้อน ตั้งตระหง่านขวางการเดินทางระหว่างภาคกลางกับภาคอีสาน ไม่มีถนนเชื่อมต่ออย่างในปัจจุบัน การเดินทางสมัยนั้นต้องลัดเลาะตามไหล่เขาและพักแรมค้างคืนในป่าอย่างน้อย 2 คืนจึงจะทะลุเข้าเขตนครราชสีมา จึงเป็นที่มาและตำนานของป่าดงพญาไฟ หรือที่เรียกในเวลาต่อมาว่า ดงพญาเย็น
ทั้งสัตว์ร้ายนานาชนิด ไข้ป่า และที่ขาดไม่ได้คือเรื่องราวที่เร้นลับ ฉากของนวนิยายชื่อดัง “เพชรพระอุมา” ของพนมเทียน ที่โด่งดังมากในอดีต ก็คือป่าดงดิบผืนนี้
ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 5 มีการสร้างทางและเปิดบริการรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา มีชาวบ้านเข้าไปจับจองพื้นที่ โดยเฉพาะบนยอดเขา ถางป่าเพื่อทำไร่ และได้ขอจัดตั้งเป็นตำบลเขาใหญ่ ขึ้นกับจังหวัดนครนายก เมื่อปี 2465 แต่เพราะเป็นเขตห่างไกล การเดินทางขึ้นยอดเขาของเจ้าหน้าที่ยังยากลำบาก ตำบลเขาใหญ่จึงเป็นแหล่งซ่องสุมของโจรผู้ร้าย กระทั่งปี 2475 ทางการจึงส่งปลัดจ่างขึ้นไปปราบโจรผู้ร้ายจนหมด แต่ปลัดจ่างมือปราบก็เสียชีวิตด้วยไข้ป่า ชาวบ้านจึงได้ตั้งเป็นศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ เป็นที่เคารพนับถือจนปัจจุบัน
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ยังมีความสมบูรณ์ มีทั้งป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง ป่าดงดิบชื้น ป่าดิบเขา ทุ่งหญ้า และป่ารุ่นสอง มีพืชพรรณกว่า 3,000 ชนิด ผีเสื้อกว่า 189 ชนิด นกป่ากว่า 350 ชนิด และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 71 ชนิด ตั้งแต่ ช้าง เสือ ชะนี กวาง หมูป่า และอื่นๆ เนื่องจากอยู่ใกล้กรุงเทพฯ และสภาพอากาศดี ในฤดูหนาวมีอากาศหนาว จึงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่คนไทยและต่างชาติมักเดินทางไปท่องเที่ยวสม่ำเสมอ
เขาใหญ่มีแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อมากมาย อาทิ น้ำตกผากล้วยไม้ที่เต็มไปด้วยกล้วยไม้นานาพันธุ์สมชื่อ โดยเฉพาะกล้วยไม้หวายแดง /จุดชมวิวผาเดียวดาย บนยอดเขาเขียว /จุดชมวิวผาตรอมใจ ที่เมื่อมองออกไปจะเห็นทุ่งหญ้ากว้างไกลสุดลูกหูลูกตาจนรู้สึกเวิ้งว้าง /หอดูสัตว์ 3 จุด สำหรับให้นักท่องเที่ยวใช้ดูสัตว์ที่ลงไปกินดินโป่ง
ที่พลาดไม่ได้ เมื่อมาเยือนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ คือน้ำตก ซึ่งมีอยู่หลายแห่ง เช่น น้ำตกเหวไทร น้ำตกเหวประทุน แต่ที่โด่งดังขึ้นชื่อที่สุด คือน้ำตกเหวสุวัต กับน้ำตกเหวนรก
น้ำตกเหวสุวัต เกิดจากห้วยลำตะคองไหลตกผ่านหน้าผาสูงราว 25 เมตร แอ่งน้ำด้านล่างเหมาะสำหรับการเล่นน้ำอย่างยิ่ง แต่ช่วงหน้าฝนเจ้าหน้าที่จะแนะนำให้ระมัดระวังเป็นพิเศษเพราะน้ำป่าจะมากกว่าปกติ เนื่องจากบริเวณนี้เชื่อกันว่า เคยเป็นปล่องภูขาไฟมาก่อน ตะกอนภูเขาที่ระเบิดออกมาจึงเกิดเป็นหินกรวดเหลี่ยมจำนวนมาก เป็นเสมือนสัญญลักษณ์ของน้ำตกเหวสุวัต
ส่วนน้ำตกเหวนรก เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่สุดและสูงที่สุดของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ สายน้ำที่ไหลตกลงจากผามีลักษณะสูงชันราว 90 องศา แบ่งเป็น 3 ชั้นใหญ่ 5 ชั้นย่อย ชั้นแรกสูงประมาณ 60 เมตร ไหลลงสู่ผาน้ำตกชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 มีความสูงรวมกันกว่า 100 เมตร ก่อนตกลงในหุบธารน้ำ ที่ขนาบด้วยผาสูงชันรูปตัว V ความสูงชัน ความแรงของน้ำ และมวลน้ำจำนวนมาก เมื่อสาดซัดลงกระทบแผ่นหินผาด้านล่าง จึงเกิดเสียงดังสนั่นก้องไปทั้งหุบเขา ประกอบกับเกิดละอองไอน้ำลอยคลุ้งไปทั่วบริเวณ ทำให้ดูลึกลับน่าเกรงขาม จึงเป็นที่มาของชื่อ “น้ำตกเหวนรก”
เป็นสุสานช้างป่ามานานนับสิบๆ ปี แต่ก็อุดมด้วยเสน่ห์และความงดงามของธรรมชาติ ที่ผู้คนยากจะปฏิเสธ