“จุรินทร์” ประชุมมาราธอน 5 ชม. ช่วยเกษตรกรกองทุนฟื้นฟูแก้หนี้เรื้อรัง ระบุปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่เกี่ยวข้องกับกองทุนฟื้นฟูยินดีจัดการให้
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 8 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พร้อมด้วย นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร รับมอบดอกไม้กำลังใจจากตัวแทนเกษตรกร สมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ ก่อนการประชุมกรรมการกองทุนครั้งที่1/2562 โดยมีวาระเพื่อพิจารณา สำคัญๆเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาที่ยืดเยื้อมานาน โดยตัวแทนเกษตรกรร่วม 100 คนมาติดตามการประชุมนี้อย่างใกล้ชิด ซึ่งก่อนหน้านี้นายจุรินทร์ สั่งการให้นำวาระความเดือดร้อนของเกษตรกร 7 เรื่องที่ค้างคามานานนั้นขึ้นมาพิจารณา
ต่อมาเวลา 14.30 น. นายจุรินทร์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า ครั้งนี้เป็นการประชุมนัดแรกจากที่มีการตั้งคณะกรรมการกองทุนชุดใหม่โดยนายกฯมอบหมายให้ตนทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการที่ประชุมได้อนุมัติกรอบวงเงิน สำหรับการดำเนินงานกองทุน 2,463 ล้านบาท วงเงินปี 2563 และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรในเรื่องของหนี้สิน มีมติในหลายเรื่อง เรื่องเที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดการหนี้จะส่งให้กับคณะกรรมการจัดการหนี้ชุดใหม่ได้ดำเนินการ เรื่องใดเกินอำนาจส่งมาที่กรรมการกองทุนฟื้นฟูชุดใหญ่ ถ้าจำเป็นต้องเข้า ครม. ก็จะเข้า ครม. และถ้าเรื่องใดเป็นปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนแล้วเกี่ยวข้องกับกองทุนฟื้นฟูเกษตรกร ตนยินดีที่จะจัดการให้
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องซื้อหนี้จะเป็นหนึ่งในภารกิจของกองทุนนี้ โดยกรรมการจัดการหนี้จะเป็นผู้ดำเนินการต่อไปโดยเป็นหน้าที่ของกรรมการที่จะจัดการใช้เงินโดยมีกรอบวงเงินแล้ว 2,463 ล้านบาท และในประเด็นเรื่องลูกหนี้ธนาคารของรัฐ ที่เกษตรกรเป็นลูกหนี้ของธนาคาร ธ.ก.ส. ธอส. เอสเอ็มอีแบงก์ เป็นต้น กรณีบุคคลค้ำประกันโดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันแต่ค้ำโดยบุคคลนั้น กองทุนจะไม่สามารถซื้อหนี้ได้เรื่องนี้ค้างอยู่จะส่งให้กรรมการจัดการหนี้ได้นำไปพิจารณาต่อไปว่ากรณีไหนที่สามารถซื้อหนี้ได้หรือสามารถช่วยแก้ไขได้ หรือเรื่องการถูกยึดที่ดินได้ และการเดือดร้อนของผู้ค้ำประกันเป็นต้น จะดูเป็นกรณีไปถ้ามีปัญหาเพิ่มเติมสามารถส่งเข้ามาให้กองทุนฟื้นฟูดูแลได้ และถ้ากรณีหนี้เกิน 2.5 ล้านบาท ก็จะตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณาช่วยดูว่าจะกำหนดหลักเกณฑ์อย่างไรต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า การประชุมคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ครั้งนี้ถือครั้งแรกในรัฐบาลชุดนี้ หลังจากที่พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลโดยมี จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นประธานดำเนินการประชุมโดยได้รับมอบหมายจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บรรยากาศเป็นไปด้วยความเข้มข้นและใช้เวลากว่า 5 ชั่วโมงไม่มีพักเบรคแต่ให้กรรมการรับประทานข้าวเที่ยงกันระหว่างการประชุมได้โดยดำเนินการประชุมไปด้วย ภายหลังการประชุมในจุรินทร์ได้รับคชื่นชมจากกรรมการในสายงานตัวแทนของเกษตรกรอย่างมาก
เมื่อผ่านไปกว่า 5 ชั่วโมง มติที่สำคัญคือ ที่ประชุมอนุมัติกรอบงบประมาณรายจ่ายของกองทุนประจำปีงบประมาณ 2563 จำนวน 2,463 ล้านบาท เพื่อนำเสนอกระทรวงการคลังเห็นชอบตามขั้นตอนต่อไป และอนุมติให้ใช้จ่ายงบประมาณเพื่อการบริหารสำนักงานในไตรมาสที่ 1 และ 2 ปีงบประมาณ 2563 จำนวน 157 ล้านบาทเศษ สำหรับการบริหารองค์กร โดยจะมีผลย้อนหลังถึงวันที่ 1 ต.ค. 2562 หลังจากกระทรวงการคลังอนุมัติตาม พ.ร.บ ทุนหมุนเวียน สำหรับงบประมาณในส่วนเหลือ คณะกรรมการบริหารกองทุนฯและคณะกรรมการจัดการหนี้ชองเกษตรกรจะพิจารณาจัดทำรายละเอียดแผนการใช้จ่ายเพื่อนำมาเสนอคณะกรรมการชุดใหญ่ต่อไป
2. เห็นชอบกับรายชื่อคณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (หลังจากคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรถูกแต่งตั้งเรียบร้อยแล้วก่อนหน้านี้) จำนวน 7 คน ประกอบด้วยกรรมการในคณะกรรมการจำนวน 3 คน (ผู้แทนเกษตรกร 2 คน) ผู้ทรงคุณวุฒิสาขาละ 1 คน รวม 3 คน สาขาเศรษฐศาสตร์ (ดร. อักษรศรี พานิชสาส์น) การบริหารการเงินและการธนาคาร (เกรียงศักดิ์ ประทีป) และเกษตรศาสตร์ (รัชดาภรณ์ แก้วสนิท) และผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการจัดการหนี้ สาขาเศรษฐศาสตร์ (นายสมเกียรติ โอสถสภา) สาขาบริหารการเงินและการธนาคาร (นายสุชาติ เตชะโภทัย) สาขาเกษตรศาสตร์ (นายนคร ศรีวิพัฒน์) เพื่อขับเคลื่อนการบริหารงานของกองทุนฯให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพสูงสุด (ต้องตรวจสอบคุณสมบัติก่อนเสนอประธานลงนามแต่งตั้งต่อไป)
สำหรับวาระเพื่อพิจารณาที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรตามข้อเรียกร้อง 7 ข้อมี มติ คือ 1. แก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรลูกหนี้ธนาคารของรัฐ กรณีพิจารณา ให้คณะกรรมบริหารหนี้พิจารณาการใช้งบประมาณ 3,500 ล้านบาท เพื่อซื้อหนี้ 4 ธนาคาร (ธ.ก.ส. ออมสิน ธอส. เอสเอ็มอีแบงก์ ตั้งแต่ปี 2546) เมื่อซื้อแล้ว กองทุนบริหารโฉนด สามารถปล่อยให้เกษตรกรหรือทายาทเช่าซื้อเพื่อใช้ต่อไปได้ (ไม่ได้รวมตัวเลข ธ.ก.ส.) มติ คือ มอบหมายคณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกรตรวจสอบข้อมูลลูกหนี้และรายละเอียดโครงการจัดการหนี้เกษตรกร ให้เรียบร้อยก่อนเสนอคณะกรรมการกองทุนพิจารณา เพื่อเสนอ ครม ให้ความเห็นชอบต่อไป เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลลูกหนี้กับเจ้าหนี้ ด้วยวัตถุประสงค์ของการกู้ใน 3 ธนาคารที่ไม่ใช่ ธ.ก.ส. นั้นไม่ได้เป็นเพื่อการเกษตร
2. ขอความเห็นชอบโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินและฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กรณีหนี้เกิน 2.5 ล้านบาท ต้องพิจารณา นำเข้า ครม. เพื่อมอบอำนาจให้กรรมการกองทุนใช้งบประมาณมาจัดการซื้อหนี้เกษตรกรแต่ละรายที่ยอดเกิน 2.5 ล้านบาท จำนวน 344 ราย รวมทั้งหมด 2,314.66 ล้านบาท (เป็นหนี้ธนาคารอื่นในข้อ 1 ยกเว้น ธ.ก.ส.) ซึ่งรวมอยู่ในงบ 3,500 ล้านบาทนี้ มติ คือ - เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่วม 4 ฝ่ายจำนวน 15 คน โดยมีตัวแทนเกษตรกรภาคละ 1 คนเข้าร่วมในคณะอนุกรรมการฯด้วย และให้ปรับปรุงโครงการฯก่อนเสนอคณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกรตรวจสอบ ก่อนเสนอคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรพิจารณา และเสนอ ครม.ต่อไป
3. ขอความเห็นชอบจัดการหนี้ที่ถูกเจ้าหนี้ขายทรัพย์สินเป็นประกัน (NPA ทรัพย์ที่ถูกเจ้าหนี้ขายทอดตลาด ทำให้กองทุนฯไม่มีอำนสจไปจัดการทรัพย์ ประชุมพิจารณาให้คณะกรรมการจัดการพิจารณารายละเอียดการซื้อคืนทรัพย์ NPA 607 ล้านบาท (ซื้อไปแล้ว 288 ล้านบาทเศษ) ของเกษตรกร 499 ราย แต่ยังมีปัญหาคุณสมบัติเกษตรกรบางราย ซึ่งบอร์ดก่อนหน้านี้ได้ชะลอ โดยอ้างอิงถึงเรื่องผู้บริหารกองทุนไม่มีอำนาจจัดการ ล่าสุดมีข้อสรุปว่า ผู้บริหารกองทุนมีอำนาจจัดการ เรื่องนี้จึงยังค้างอยู่ มติ คทิ มอบหมายคณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกรพิจารณาร่างระเบียบการซื้อทรัพย์คืน ให้ครอบคลุมปัญหาเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาและซื้อทรัพย์คืนให้เกษตรกรได้ อนุมัติให้คณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกรซื้อทรัพย์ NPA คืนให้เกษตรกรที่มีคุณสมบัติครบถ้วน (ให้คณะกรรมการกองทุนฯพิจารณาเห็นชอบก่อน) และให้ดำเนินการรวบรวมรายชื่อเกษตรกรที่มี NPA ที่มีปัญหาไม่เข้าหลักเกณฑ์เสนอคณะกรรมการจัดการหนี้ฯกลั่นกรองความถูกต้อง พร้อมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะ ก่อนเสนอคณะกรรมการกองทุนพิจารณาต่อไป
4. พิจารณาแนวทางการชำระหนี้แทนสถาบันเกษตรกร กรณีการทดลองจ่ายเงินชดเชย บอร์ดต้องพิจารณา พิจารณาแนวทางการชำระหนี้แทนสถาบันเกษตรกร กรณีกรรมการกองทุนปี 48 รับหลักการให้ลดหนี้ 50% และตัดดอกเบี้ยทิ้ง ให้เกษตรกรที่เป็นหนี้สหกรณ์จำนวน 43,004 ราย (ขึ้นทะเบียนเมื่อปี 49) โดย ครม ให้กองทุนฯจ่ายชดเชยก่อน โดยเอาเงินจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ 1,392 ล้านบาท สถานะปัจจุบันต้องการให้ ครม. ชดเชยเงินคืนกองทุนและลดหนี้ให้เกษตรกรอีก 50 % มติ คือ เห็นชอบให้คณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกรกลับไปพิจารณาหนี้ทั้งระบบ หากจำเป็นต้องเสนอ ครม ขอเงินชดเชยคืน ให้นำเสนอคณะกรรมการกองทุนฯพิจารณาอีกครั้ง
5. ปรับปรุงแก้ไขระเบียบคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการโอนทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันชำระหนี้ และการเช่า เช่าซื้อ หรือซื้อทรัพย์สินไปจากกองทุน พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2 ) รวมถึงบรรดาระเบียบ ประกาศ หรือเกณฑ์อื่นใด ที่เกี่ยวข้อง บอร์ดให้อำนาจกองทุนพิจารณาปรับปรุงแก้ไขระเบียบการเช่าซื้อ (เป็นข้อเรียกร้องของแกนนำ) มติ คือ มอบหมายให้คณะกรรมการบริหารพิจารณาดูระเบียบหลักเกณฑ์ดังกล่าว
6. การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการปฏิรูปองค์กรและจัดทำโครงการพิเศษเพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกรในกรณีเร่งด่วน ขอบอร์ดให้อำนาจกองทุนพิจารณาตั้งคณะอนุกรรมการปฏิรูปองค์กรและจัดทำโครงการพิเศษเพื่อเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกรเร่งด่วน มติ คือ ส่งกรรมการบริหารดำเนินการโดยให้รับผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดลไปพิจารณาด้วย 7. กำกับการปฏิบัติงานคณะกรรมการบริหาร เร่งออกประกาศหลักเกณฑ์ว่าด้วยการฟื้นฟูฯ ภายใต้ระเบียบคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ ว่าด้วยการพิจารณาแผนและโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรขององค์กรเกษตรกรฯ พศ 2562 ขอบอร์ดให้อำนาจกองทุนพิจารณาระเบียบให้กรรมการบริหารออกหลักเกณฑ์ว่าด้วยการฟื้นฟูภายใต้ระเบียบของกรรมการเกี่ยวกับแผนและโครงการฟื้นฟู มติ คือ ให้คณะกรรมการบริหารเร่งดำเนินการออกร่างหลักเกณฑ์