"ธนาธร" ห้าวไม่เลิก ประกาศปฏิรูป กอ.รมน.

2019-10-08 20:00:31

"ธนาธร" ห้าวไม่เลิก ประกาศปฏิรูป กอ.รมน.

Advertisement

สร้างความฮือฮาจนเรียกคะแนนจากคนรุ่นใหม่ได้อย่างคาดไม่ถึง จากเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 โดยเฉพาะเรื่องปฏิรูปกองทัพ ลดขนาดและลดงบประมาณลงจากเดิม รวมทั้งยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ของพรรคอนาคตใหม่


สุดท้ายแม้จะเป็นฝ่ายค้าน แต่ถือว่าการได้ ส.ส.มากเป็นอันดับ 3 ทั้งที่เป็นพรรคเกิดใหม่ ถือเป็นผลพวงจากเลือกตั้งระบบจัดสรรปันส่วนผสม และทำให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคถูกยกให้เป็น “พ่อของฟ้า” มีแฟนคลับมากมาย


ช่วงปิดสมัยประชุมสภาฯ ขณะนี้ นอกจากเตรียมความพร้อมศึกเลือกตั้งท้องถิ่น โดยเฉพาะ นายกฯ อบจ. อย่างน้อย 15 จังหวัด และรณรงค์แก้รัฐธรรมนูญแล้ว ยังสร้างความตื่นเต้นเร้าใจจนเป็นประเด็นใหม่บนหน้าสื่อ เมื่อประกาศจะปฏิรูป กอ.รมน. อีก 1 หน่วยงาน ภายหลังถูก พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผอ.สำนักงานพระธรรมนูญทหารบก และผู้ชำนาญการ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า รับมอบหมายจากแม่ทัพภาค 4 แจ้งความตำรวจ สภ.ปัตตานี ดำเนินคดีกับแกนนำพรรคฝ่ายค้านและนักวิชาการ รวม 12 คน ผิดกฏหมายอาญามาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่น

นอกจากฝ่ายค้านจะเล่นบทตาต่อตา ฟันต่อฟัน แจ้งความกลับที่กองปราบฯ แล้ว นายธนาธร ยังประกาศจะปฏิรูป กอ.รมน.หรือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2508 และมีภารกิจสำคัญครั้งแรก ภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐ คือปฏิบัติการต่อต้านการแทรกซึมของคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย

เดิมที ใช้ชื่อกองบัญชาการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ (บก.ปค.) ต่อมา ปี 2512 เปลี่ยนเป็นกองอำนวยการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ (กอ.ปค.) กระทั่ง ปี 2516 เปลี่ยนชื่อเป็นกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) แม้โดยโครงสร้าง จะขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี แต่ในทางปฏิบัติ อำนาจสั่งการอยู่ที่กองทัพ จึงถูกเรียกเป็นรัฐซ้อนรัฐ หรือ ดีพ สเตท (Deep State)


(ขอบคุณภาพเหตุการณ์ 6 ตุลา จากเพจเฟซบุ๊ก ฅนเป็นครู)

ในช่วงที่ผ่านๆ มา ขึ้นอยู่กับผู้นำประเทศและผู้นำในกองทัพ จะวางบทบาท กอ.รมน.ไว้อย่างไร เพราะบ่อยครั้ง ถูกนำไปใช้เป็นกลไกในทางการเมืองและขจัดคู่แข่งหรือฝ่ายที่เห็นแตกต่างจากรัฐบาล เช่น ในยุคขวาพิฆาตซ้าย หรือ ยุคเหตุการณ์เดือนตุลาฯ หรือใช้เป็นเครื่องมือจัดการอย่างเด็ดขาด อย่างตำนานถีบลงเขา เผาลงถังแดง


(ขอบคุณภาพเหตุการณ์ 6 ตุลา จากเพจเฟซบุ๊ก ฅนเป็นครู)



แต่ในหลายเหตุการณ์ โดยเฉพาะภัยจากธรรมชาติ กอ.รมน. ก็มีบทบาทอย่างเด่นชัดในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน เช่น น้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯและพื้นที่ภาคกลาง ช่วงปลายปี 2554 พายุโซนร้อนปลาบึกต้นปี 2562 และอีกหลายครั้งในพื้นที่ภาคใต้ ล่าสุด คือเหตุการณ์ฯ ท่วมใหญ่อุบลฯ และอีสานหลายจังหวัด กอ.รมน. เป็นหน่วยงานแรกที่จะเข้าถึงพื้นที่ให้การช่วยเหลือ แต่มักไม่ค่อยเป็นข่าว อยู่ในกลุ่มปิดทองหลังพระ


อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ กอ.รมน. มักถูกผู้คนทั่วไปตั้งข้อสงสัย คือเรื่องงบประมาณที่ได้รับในแต่ละปี จัดได้ว่าสูงพอสมควร แต่มักไม่มีเปิดเผยรายละเอียดว่าถูกใช้จ่ายอย่างไรบ้าง เสมือนคล้าย “งบลับ” เช่นปีงบประมาณ 2559 ได้รับจัดสรร 10.2 หมื่นล้านบาท อีกประเด็นที่ผู้คนส่วนหนึ่งค้างคาใจ คือเมื่อคสช.สิ้นสภาพลง อำนาจพิเศษที่เคยมีส่วนหนึ่ง ถูกโหมกระพือว่าผ่องถ่ายไปที่ กอ.รมน. โดยเฉพาะเรื่องเรียกตัวผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคงไปควบคุมและสอบปากคำ

กอ.รมน. ปัจจุบัน มีภารกิจเพิ่มเติมไปถึงเรื่องชนกลุ่มน้อย ผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย ค้ายาเสพติด อาชญากรรมไซเบอร์ การก่อการร้าย การทำลายป่า ผู้มีอิทธิพล และแก๊งมาเฟีย สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้แก้ไข พ.ร.บ.ความมั่นคง ให้ กอ.รมน. เป็นแม่ข่ายในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทั้งยังทำให้เป็นผู้ควบคุมงานความมั่นคงทั้งหมดของประเทศ

กอ.รมน.มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้อำนวยการ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. เป็นรองผอ. และพลเอก ธีรวัฒน์ บุณยะวัฒน์ เสนาธิการ ทบ. เป็นเลขาธิการ

การหาญกล้าจะปฏิรูป กอ.รมน. ของนายธนาธร จึงเป็นเรื่องใหญ่และท้าทายอย่างยิ่ง