สัปดาห์นี้ น่าจะมีความชัดเจนเรื่องมาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” เฟส 2 เมื่อกระทรวงการคลัง นัดหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง กรมบัญชีกลาง และธนาคารกรุงไทย ว่าจะเอาอย่างไร รูปแบบไหน หลังจากเฟสแรก ภาครัฐมองว่า ประสบความสำเร็จเกินคาด
เพราะนับถึงแค่วันที่ 3 ตุลาคม มีประชาชนผู้ใช้สิทธิ์แล้ว 1.25 ล้านคน มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 1,144 ล้านบาท ใช้จ่ายในกรุงเทพฯมากที่สุด 164 ล้านบาท รองลงไปคือชลบุรี 81 ล้านบาท
แม้นว่า ผลสำรวจของนิด้าโพลเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา อาจอาจมีความเห็นที่หลากหลายและแตกต่าง โดย 27.36% เห็นว่าเปลืองงบประมาณ ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง อีก 27.28% เห็นว่าเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดี แต่ความคิดเห็นต่อภาพรวมของโครงการ พบว่า 28.95% ระบุไม่เห็นด้วยเลย 25.62% ค่อนข้างเห็นด้วย และ 22.60% เห็นด้วยมาก ส่วนความเห็นว่าควรเดินหน้าต่อหรือไม่ 42.19%เห็นควรปรับปรุงให้ดีขึ้น แต่อีก 34.10% เห็นว่า ควรยกเลิกโครงการไปเลย
แต่ฟังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อ 5 ตุลาคม 2562 ดูจะชัดเจนว่า สัปดาห์ใหม่นี้ น่าจะมีข่าวดีจากกระทรวงการคลัง เตรียมขยาย "ชิมช้อปใช้” เฟส 2 ภายใต้หลักการ ทำอย่างไรจะให้เกิดการหมุนเวียนของเงินที่ใส่เข้าไปให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด ทั้งยืนยันว่า มาตรการนี้ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ใคร โดยเฉพาะกลุ่มทุนใหญ่ อย่างที่บางคนกล่าวหา
หากเป็นไปตามแนวทางนี้ “ชิม ช้อป ใช้” เฟส 2 อาจต่างไปจากเฟสแรกที่แจกเงิน ”เป๋าตังค์” 1,000 บาทให้ผู้ลงทะเบียนสำหรับใช้จ่ายในจังหวัดนอกภูมิลำเนา เป็นการกระตุ้นประชาชนใช้จ่ายเงินกระเป๋าช่องที่ 2 ที่เติมเงินลงไปแล้วรับเงินคืน หรือ แคช แบ๊ค 15 เปอร์เซ็นต์ แต่ยอดใช้จ่ายไม่เกิน 4,500 บาท หรือรัฐสมทบทุนเพิ่มกระเป๋าช่องทางอื่น เพื่อป็นแรงจูงใจให้คนควักเงินออกมาใช้จ่าย และให้สามารถลงทะเบียนช่วงกลางวันแทนเวลากลางคืนอย่างที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ประเด็นหนึ่งที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันมาก และรัฐควรต้องหยิบยกขึ้นพิจารณาเช่นกัน คือเดิมทีมาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” มุ่งส่งเสริมให้ผู้ลงทะเบียนไปท่องเที่ยวต่างจังหวัด และใช้จ่ายเงินตามร้านค้าในท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อกระจายเม็ดเงินสู่ฐานรากจริงๆ แต่อาจเป็นเพราะกรอบเวลาใช้เงินต้องทำภายใน 2 สัปดาห์ หรือมีผลประโยชน์แอบแฝงก็ตามที สุดท้ายเป้าหมายส่งเสริมให้เที่ยวต่างจังหวัด กลายไปเป็นซื้อสินค้าในห้างค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่แทน ซึ่งส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯและเมืองใหญ่ กระทั่งระบบล่ม
เช่นเดียวกับทัศนะของนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ อย่าง รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณบดีสถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ที่เห็นว่า วิธีกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้ประโยชน์สูงสุด รัฐบาลยังไม่เคยได้ตอบ แต่วิธีที่ทำง่ายที่สุด คือการแจกเงินหรือแจกเช็คช่วยชาติ ซึ่งไม่ใช่หลักการเพิ่มรายได้อย่างยั่งยืนในเชิงเศรษฐศาสตร์ และถึงปัจจุบันนี้ ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจทั่วไปดีขึ้น
รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวว่า เงิน 1,000 บาทที่ได้รับแจกความจริงเป็นเงินภาษีที่ประชาชนต้องจ่าย และเป็นภาระภาษีทางอ้อมที่คนจนที่เกินจากเกณฑ์ยกเว้นภาษีและชนชั้นกลางต่างแบกรับมากที่สุด เป็นเหมือนนำของหวานมายั่วยวนให้คนหลงไหลชั่วครั้งชั่วคราว ทั้งที่รัฐบาลควรต้องหามาตรการกระตุ้นที่ถาวรยั่งยืนมาใช้ นอกจากนี้ ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า เงินที่ได้รับแจก สุดท้ายไปตกอยู่ในมือของใคร?
มาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” จึงมีความเห็นแตกออกเป็น 2 ฝ่ายหลักๆ ขึ้นอยู่กับว่า จะมองจากฝ่ายใด รัฐบาลกับคนที่ได้รับอานิสงส์ หรือฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยเพราะวูบวาบชั่วระยะหนึ่งเท่านั้น
แต่ที่แน่ๆ มาตรการลักษณะนี้ จะมีปรากฏออกมาเป็นระยะๆ ตราบใดที่เศรษฐกิจในระดับฐานราก ยังฝืดเคือง และเงินยังหายากอยู่เหมือนเดิม