ผู้พิพากษายิงตัวเองคดี 5 ศพ ระวังลุกลามถึงขั้นอ้างศาลไร้ความยุติธรรม

2019-10-07 12:10:30

ผู้พิพากษายิงตัวเองคดี 5 ศพ ระวังลุกลามถึงขั้นอ้างศาลไร้ความยุติธรรม

Advertisement

คำแถลง 25 หน้าของนายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นศาลจังหวัดยะลา ก่อนใช้อาวุธปืนยิงตัวเองบาดเจ็บสาหัส หลังพิพากษายกฟ้องคดีสังหารราษฎร 5 ศพ ที่ อ.บันนังสตาร์ จ.ยะลา กลายเป็นประเด็นใหญ่ ทั้งในวงการยุติธรรม และถูกโยงเกี่ยวพันกับการเมือง


ทั้งนี้ คดีสังหารหมู่ 5 ศพ เกิดขึ้นที่บ้านตือโละดือลง หมู่ที่ 4 ต.ตาเนาะปูเต๊ะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2561 เบื้องต้น ตำรวจได้คุมตัวผู้ต้องสงสัยไปสอบปากคำและเข้าสู่กระบวนการซักถามที่ศูนย์พิทักษ์สันติ ศูนย์ปฏิบัติการ สนง.ตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า โรงเรียนตำรวจภูธร 9 อ.เมือง จังหวัดยะลา

ต่อมา ได้ออกหมายจับผู้ต้องหาในคดีนี้ 10 ราย ความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, ร่วมกันเป็นอั้งยี่, ร่วมกันเป็นซ่องโจร, ร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้โดยผิดกฎหมาย, ร่วมกันพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน ไปในเมือง หมู่บ้านโดยผิดกฎหมาย

จำเลยถูกส่งฟ้องดำเนินคดีก่อน 5 คน มีนัดอ่านคำพิพากษาครั้งแรก วันที่ 19 สิงหาคม 2562 แต่เลื่อนไปเป็นวันที่ 4 ตุลาคม 2562 ซึ่งในแถลงการณ์ของนายคณากร ระบุสาเหตุว่า เป็นคดีสำคัญ ต้องรายงานให้อธิบดีศาลทราบก่อน

และ 4 ตุลาคม 2562 วันอ่านพิพากษาศาลชั้นต้น คือวันเดียวกับที่นายคณากร ใช้ปืนยิงตัวเอง ซึ่งหากพิจารณาจากแถลงการณ์ดังกล่าว เป็นเพราะถูกกดดันและถูกแทรกแซงในการตัดสินคดี ทั้งยังเรียกร้องให้สภาฯ ออกกฎหมายห้ามตรวจร่างคำพิพากษาก่อนอ่านให้คู่ความฟัง และขอความเป็นธรรมทางการเงินแก่ผู้พิพากษาทั่วประเทศ

เหตุการณ์ยิงตัวเองของนายคณากร มีการนำเสนอเบื้องต้นว่ามาจากความเครียดส่วนตัว แต่นายปิยะบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เป็นคนเปิดประเด็นใหม่ ระบุผู้พิพากษายะลา ส่งข้อมูลให้ตนและเพจของพรรค ถามถึงนโยบายการประกันหลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษาในการตัดสินคดี เพื่อมิให้ผู้บริหารศาลเข้ามาแทรกแซง และอ้างว่าอยากเล่าเรื่องถูกแทรกแซงให้รับรู้


เมื่อข่าวคราวเรื่องนี้แพร่กระจายออกไป ไม่เพียงสื่อหลักเท่านั้น ที่เกาะติดและพยายามล้วงลึกข้อมูลความจริง แต่ในโลกโซเชียล ซึ่งปกติไม่มีที่มาที่ไป และส่วนใหญ่เป็นเรื่องใช้อารมณ์และความเห็นส่วนตัวทั้งสิ้น ก็เข้มข้นดุเดือดจนแซงหน้าสื่อหลักเสียด้วยซ้ำ มีความเห็นและเสียงวิจารณ์แบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายชัดเจน ด้านหนึ่งมองไปในด้านการสมรู้ร่วมคิดกับฝ่ายการเมือง บ้างก็ว่ามีการจัดฉากยิงตัวเอง และบ้างก็เล่นแรงถึงขั้นทำไมยิงท้อง ไม่ยิงหัว

ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่ง พุ่งเป้าเน้นเรื่องกระบวนการยุติธรรมขาดความเป็นอิสระ ถูกแทรกแซงชี้นำ โดยอ้างเหตุการณ์นี้เป็นตัวอย่างที่สะท้อนความไม่เท่าเทียมและเข้าถึงความยุติธรรมอย่างแท้จริงของคนในพื้นที่ เพราะเริ่มแรก ไม่มีข้อหาก่อการร้าย บ้างโยงไปถึงเรื่องต่างศาสนาก็มี

แม้ว่า ทั้งฝ่ายทหาร จะยืนยันผ่าน พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าว่า ฝ่ายความมั่นคงไม่ได้เข้าไปก้าวก่ายในกระบวนการยุติธรรม การสั่งฟ้องหรือไม่ ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานและดุลยพินิจของศาล ขณะที่สำนักงานศาลยุติธรรม โดยนายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการ ก็ออกโรงย้ำหลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษาตัดสินคดีความ ใหญ่แค่ไหน ก็สั่งศาลไม่ได้


อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องความยุติธรรมเป็นเรื่องเปราะบางและละเอียดอ่อน โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ การปลุกเร้าถึงความไม่เท่าเทียมที่เดิมทีมุ่งเน้นตั้งแต่ตำรวจ พนักงานสอบสวน กระทั่งถึงทหาร ที่ใช้อำนาจตาม พรก.ฉุกเฉิน ในการควบคุมตัวและสอบปากคำในค่ายทหาร ล้วนถูกนำไปใช้อย่างต่อเนื่อง และเป็นปฏิบัติการด้านจิตวิทยาและแย่งชิงมวลชน อย่างได้ผลมาแล้ว

ดังนั้น ครั้งนี้ แน่นอนว่า คงมีการขยับขึ้นถึงชั้นศาลและกระบวนการยุติธรรม โดยอ้างกรณีที่เรื่องที่เกิดขึ้นในศาลจังหวัดยะลา อย่างไม่ต้องสงสัย

หรือไฟใต้ จะรอวันกลับมาคุโชนอีกครั้ง