สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ เร่งตรวจสอบเจดีย์เก่าแก่วัดล่ามช้าง อายุ 700 กว่าปีพังเสียหายจากฝนตกหนัก เตรียมบูรณะด่วน คาดว่าจะใช้เวลา 15 วันซ่อมแล้วเสร็จ
จากกรณีเมื่อช่วงเย็นวันที่ 4 ต.ค. ได้เกิดพายุฝนกระหน่ำรุนแรงในพื้นที่เชียงใหม่ ทำให้เกิดน้ำท่วมขังหลายพื้นที่ และทำให้องค์เจดีย์ภายในวัดล่ามช้าง อายุเก่าแก่กว่า 700 ปี แตกร้าว ปูนหล่นลงมาจำนวนมาก และเกรงว่าจะเกิดการพังเสียหาย ตามข่าวที่ได้นำเสนอไปแล้วนั้น
ข่าวความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 6 ต.ค. นายเทอดศักดิ์ เย็นจุระ ผอ.กลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ พร้อมคณะได้เดินทางมาตรวจสอบที่วัดล่ามช้าง หลังจากที่องค์เจดีย์ภายในวัดถูกน้ำฝนกระหน่ำจนแตกร้าว ปูนหลุดร่วง และมีลักษณะเอียง โดยมี พระครูปลัดอานนท์ วิสุทโธ เจ้าอาวาสวัดล่ามช้าง นำพาเจ้าหน้าที่ศิลปากร เข้าตรวจสอบสภาพโดยรอบ รวมถึงการปีนขึ้นไปดูบริเวณส่วนที่เสียหาย ก็พบว่ามีรากต้นโพธิ์ และปูนที่ร่วงลงมาอยู่บริเวณโดยรอบองค์เจดีย์จำนวนมาก
นายเทอดศักดิ์ เย็นจุระ ผอ.กลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ เปิดเผยว่า เหตุการณ์ที่องค์เจดีย์วัดล่ามช้างพังเสียหายนั้นท่านรัฐมนตรี และท่านอธิบดีกรมศิลปากร มีความเป็นห่วงอย่างมาก และได้กำชับให้สำนักศิลปากรณ์ที่ 7 เชียงใหม่ เร่งเข้ามาตรวจสอบโดยเร็วที่สุด ซึ่งจากการตรวจสอบในวันนี้ ก็พบว่า องค์เจดีย์ถูกสร้างขึ้นสมัยพระยามังราย มีอายุราวๆ 700 กว่าปี จากเดิมเป็นเพียงองค์พระธาตุที่มีสภาพเหลือแต่อิฐเก่าที่เป็นรูปร่างองค์เจดีย์ ต่อมาในปี 2503 ทางอดีตเจ้าอาวาส ได้ทำการบูรณะด้วยการทำเจดีย์ใหม่ครอบเจดีย์เดิม จากนั้นในปี 2542 ทางวัดได้ทำเพิ่มเติมบริเวณทรงระฆังคว่ำขององค์เจดีย์ และติดกระจกเพิ่ม กระทั่งในปี 2557 ทางสำนักงานศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ได้เข้ามาบูรณะองค์เจดีย์บริเวณตั้งแต่ด้านล่างทรงระฆังคว่ำจนถึงฐานร่าง ซึ่งก็มีการยึดและครอบฐานล่างไว้แล้ว
ส่วนสาเหตุของการพังทลายครั้งนี้ จากการตรวจสอบ ก็พบว่า ตัวปูนซีเมนต์ที่ถูกสร้างครอบในปี 2503 ไม่เชื่อมติดกับองค์เจดีย์เดิม ประกอบกับอายุขององค์เจดีย์ที่ผ่านมานานหลายสิบปี และมีรากต้นโพธิ์ด้านใน เมื่อรากดังกล่าวโตมากขึ้น ก็สร้างรอยแยกให้กับปูนจากเดิมที่ไม่ติดกันอยู่แล้ว ก็ขยายตัวมากขึ้น เมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา ก็เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ ทำให้น้ำฝนที่ตกลงมาซึมเข้าไปในรอยแยก เมื่อปูนที่กร่อนแล้วไม่ติดกันแต่เดิมอยู่แล้ว ก็เกิดการแตกและหลุดออกมา ซึ่งขนาดปูนเมื่อหยิบมาตรวจสอบดู ก็พบว่ามีน้ำหนักมาก การใช้ปูนซีเมนต์มาครอบองค์เจดีย์ ก็เหมือนเป็นฉนวนกันความชื้นที่ไม่ให้ระเหยออกมาด้านนอกด้วย และการเอียงขององค์เจดีย์ ก็มีการเอียงแต่เดิมอยู่แล้ว กระทั่งมาสร้างเจดีย์ครอบใหม่ ก็สร้างตามการเอียงขององค์เจดีย์เดิม หากมองทางด้านทิศใต้ขององค์เจดีย์ ก็จะเห็นว่าเจดีย์เอียงไปทางทิศตะวันออก ส่วนเรื่องที่ว่าจะพังทลายลงมาทั้งองค์หรือไม่ เรื่องนี้คงไม่เกิดขึ้น เพราะความแข็งแรงของฐานรากที่ทางสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ได้เข้ามาบูรณะเมื่อปี 2557 ยังแข็งแรงดีอยู่ และโดยภาพรวมยังแข็งแรง นอกเหนือจากจะเจอแผ่นดินไหวที่รุนแรงหนักจริงๆ เหมือนปี 2551 หลังจากนั้นยังไม่เคยเกิดเหตุการณ์อีกเลย
นายเทอดศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า หลังจากการตรวจสอบแล้ว ทางสำนักงานศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ก็เตรียมที่จะบูรณะด้วยการซ่อมแซมตัวองค์เจดีย์ให้กลับคืนมา แต่จะบูรณะในส่วนที่เสียหายก่อน สำหรับการบูรณะระยะยาวก็ต้องรองบประมาณครั้งใหญ่อีกครั้ง ซึ่งแผนการบูรณะซ่อมแซมส่วนที่แตกร้าวครั้ง เมื่อมีการนำรากต้นโพธิ์ออกแล้ว ก็จะดูว่าจุดไหนมีรอยร้าวเพิ่ม ก็จะนำออกและบูรณะใหม่ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 15 วัน งบประมาณรวม 3 แสนบาท พร้อมเตรียมใช้ปูนโบราณ ซึ่งมีน้ำหนักเบา กระจายความชื้นได้ดี มาทำการบูรณะ