“จุรินทร์” ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ เดินหน้าโครงการประกันรายได้ ร่นเวลาจ่ายส่วนต่างขึ้นมาเร็วขึ้นให้ทันความเดือดร้อนประชาชน จากวันที่ 15 ธ.ค.2562 เป็น 1-15 พ.ย.2562 พร้อมเห็นชอบให้ตั้งคณะทำงาน 3 ฝ่ายหาแนวทางการสร้างสวนยางที่ยั่งยืน
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 4 ต.ค. ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.ป รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ครั้งที่ 1/2562 โดยมีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมกรรมการและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ภายหลังการประชุมกว่า 3 ชม. นายจุรินทร์ กล่าวว่า โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 มีมติคืออนุมัติการประกันรายได้ยางพาราในยาง 3 ชนิด คือ ยางแผ่นดิบราคา 60 บาทต่อกิโลกรัม น้ำยางสด 57 บาทต่อกิโลกรัม และยางก้อนถ้วย 23 บาทต่อกิโลกรัม ของสวนยางที่มีอายุ 7 ปีขึ้นไป สูงสุดครัวเรือนละ 25 ไร่ โดยเกษตรกรต้องขึ้นทะเบียน ส่วนเกษตรกรที่ตกหล่นยังสามารถขึ้นทะเบียนได้ และคณะกรรมการระดับตำบลและการยางแห่งประเทศไทยจะต้องตรวจสอบว่าปลูกจริงหรือไม่ ยางชนิดไหน แล้วรายได้ส่วนต่างนั้นเจ้าของสวนยาง 1.4 ล้านราย ผู้กรีดยาง 3 แสนรายโดยประมาณจะได้รับสิทธิ ซึ่งรัฐบาลใช้งบประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท จากนี้ก็จะนำมตินี้เสนอ ครม.เห็นชอบต่อไป นอกจากนี้ที่ประชุมเห็นชอบให้ตั้งคณะทำงาน 3 ฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน ตัวแทนเกษตรกร เพื่อหาแนวทางการสร้างสวนยางที่ยั่งยืน นอกจากนั้นจะเร่งรัดการส่งออกยางที่จีน และอินเดีย รวมทั้งมอบให้การยางแห่งประเทศไทยนำยางไปขายด้วย โดยสามารถร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ได้
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นวาระเพื่อพิจารณาอื่น คือ การอนุมัติขยายวงเงินสินเชื่อและปรับปรุงวิธีการดำเนินงานโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง วงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท การอนุมัติขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการ (ยางแห้ง) วงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท การอนุมัติขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยาง วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท การอนุมัติขยายระยะเวลาและปรับปรุงวิธีการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐ
รายงานระบุว่า ที่ประชุมมีมติเปิดโอกาสให้คนที่ปลูกจริงและมีกรรมสิทธิ์มาขึ้นทะเบียนได้อยู่เพราะถือว่านโยบายประกันรายได้ยางเกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้ การจ่ายเงินงวดแรกให้เร็วกว่าเดิมจากที่กำหนดไว้วันที่ 15 ธ.ค.2562 ร่นมาเป็นระหว่างวันที่ 1-15 พ.ย.2562 เนื่องจากโครงการประกันรายได้ยางพารายังต้องมีคณะกรรมการระดับตำบลเป็นผู้ตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง จะได้สามารถเทียบเคียงกับสินค้าเกษตรอื่นๆที่รัฐบาลประกันรายได้ และต้องปรับราคาอ้างอิงเป็นราคาก่อนหน้านี้ คือ ราคาระหว่างเดือน เม.ย.2562 – ก.ย. 2562 จากนั้นจ่ายงวดสอง 1-15 ม.ค.563 งวดสาม 1-15 มี.ค. 2563โดยมีกระบวนการคือ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.)ต้องตรวจสอบความถูกต้อง เสร็จแล้วส่งผลให้ ธ.ก.ส.ซึ่งจะใช้เวลา 3 วันจะโอนเงินทันที ดังนั้น กยท. ต้องตรวจสอบเสร็จภายในวันที่ 12 โดยในการเปลี่ยนแปลงเนื้อหามาตรการนี้ต้องให้ ครม.เห็นชอบ ก่อนนำเสนอบอร์ด ธ.ก.ส. เพื่อเห็นชอบก่อนภายใน 24-25 ต.ค.นี้
โครงการประกันรายได้ยางพารา คือหนึ่งในโครงการประกันรายได้เกษตรกรในพืชเศรษฐกิจ 5 ชนิด คือ ปาล์ม ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การยางแห่งประเทศไทย ได้เสนอขออนุมัติโครงการ ประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 โดยขอให้สานักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เสนอเรื่องดังกล่าวต่อ กนย.(คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบวันนี้ ก่อนเสนอ ครม.พิจารณาต่อไปในเร็วๆนี้