สุดยอดนวัตกรรม การจัดการน้ำ "อิสราเอล"

2019-09-26 17:25:05

สุดยอดนวัตกรรม การจัดการน้ำ "อิสราเอล"

Advertisement

ภายใน พ.ศ.2568 ครึ่งหนึ่งของประชากรโลกจะเผชิญกับภาวะขาดแคลนน้ำ ปริมาณของประชากรที่เพิ่มขึ้น ภาวะโลกร้อน และจำนวนแหล่งน้ำดื่มที่ลดน้อยลง ล้วนส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำรุนแรง โดยในประเทศไทย น้ำก็เป็นปัญหาเรื้อรังเช่นกัน เห็นได้จากภัยพิบัติน้ำท่วมและสถานการณ์น้ำแล้ง เนื่องจากปัญหาน้ำส่งผลกระทบที่รุนแรง ทั้งในด้านสุขภาพ การเกษตร เศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ระดับนานาชาติ ทำให้ในปัจจุบัน ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับการค้นหาวิธีที่จะแก้ไขปัญหาอันรุนแรงนี้ได้อย่างยั่งยืน

อิสราเอล ให้ความสำคัญกับการจัดการน้ำมาตั้งแต่การสถาปนาประเทศ น้ำถือเป็นวาระสำคัญระดับชาติ ทำให้ในปัจจุบัน อิสราเอลได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเชี่ยวชาญด้านน้ำของโลก และในเดือนกันยายนนี้ ฝ่ายเศรษฐกิจและการค้า สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย ทั้งจากภาครัฐและเอกชน นำเสนอความรู้จากอิสราเอลที่พัฒนามาเป็นเวลากว่า 70 ปี พร้อมจัดแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมน้ำใหม่ล่าสุดของอิสราเอล ที่กรุงเทพฯ ในงานสัมมนา “นวัตกรรมและการจัดการน้ำ” ทางออกอันชาญฉลาดของปัญหาน้ำระดับโลก

ภายในงาน มีผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำจากทั้งไทยและอิสราเอลมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์กับผู้เข้าร่วม ได้แก่ ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ นายแดนนี แล็คเคอร์ หัวหน้าฝ่ายความมั่นคงและเหตุฉุกเฉิน สำนักงานน้ำแห่งชาติอิสราเอล และ นายไมเคิล รัทแมน รองประธานฝ่ายการตลาด บริษัทวอเตอร์เจน




“น้ำไม่ใช่ปัญหาของเราอีกต่อไป” เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ฯพณฯ ดร.เมเอียร์ ชโลโม กล่าวในสุนทรพจน์เปิดงาน ท่านทูตกล่าวต่อว่า “เพราะเราเก่งในเรื่องที่เราไม่มี และน้ำคือสิ่งที่เราขาดแคลน” ชาวอิสราเอลตระหนักถึงภาวะแล้งน้ำของประเทศ ส่งผลให้พวกเขาพัฒนาเทคโนโลยีล้ำสมัยที่เกี่ยวกับน้ำหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ระบบชลประทานน้ำหยด กระบวนการแยกเกลือออกจากน้ำ และการบำบัดน้ำเสียเพื่อนำกลับมาใช่ใหม่

ประเทศไทยและอิสราเอล มีความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจอันดีมาเป็นระยะเวลานาน นายดะกัน อโลนี หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจและการค้า สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย กล่าวในสุนทรพจน์ว่า “ทุกครั้งที่ประเทศไทยและอิสราเอลร่วมมือกัน สิ่งดีๆ จะเกิดขึ้นเสมอ” โดยนายดะกันได้ถือโอกาสนี้ กล่าวเชิญผู้เข้าร่วมไปชมงานจัดแสดงเทคโนโลยีเกี่ยวกับน้ำในทุกๆ มิติ ที่จะจัดขึ้นในนครเทล อาวีฟ ระหว่างวันที่ 18 ถึง 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2562



เพื่อเป็นการอธิบายถึงความรุนแรงของปัญหาน้ำในประเทศไทย ดร.สมเกียรติ ได้เล่าให้ผู้เข้าร่วมฟังว่า “ประเทศไทยติดอันดับหนึ่งในสิบประเทศที่ได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกมากที่สุด” โดยใน พ.ศ.2560 ประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรง หนึ่งปีให้หลังมีฝนมากจนทำให้เกิดน้ำท่วม และในปีนี้ประเทศไทยทั้งแห้งแล้งและน้ำท่วมในเวลาเดียวกัน ดร.สมเกียรติ ยังชี้แจงอีกว่าคนไทยยังต้องการข้อมูลการศึกษาเกี่ยวกับน้ำอีกมาก เพื่อรับมือและเตรียมพร้อมกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ในส่วนของผู้เชี่ยวชาญชาวอิสราเอล นายแดนนี ได้แบ่งปันขั้นตอนแรกของการบรรเทาสถานการณ์น้ำในอิสราเอลให้ผู้เข้าร่วมชาวไทยได้ฟังว่า อิสราเอลเริ่มจากการรณรงค์ให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด พร้อมกับสอนวิธีการประหยัดน้ำให้กับเด็กๆ ในโรงเรียน ซึ่งสามารถลดปริมาณการใช้น้ำในประเทศได้ถึงร้อยละ ๓๐ ภายในเวลาเพียงสามเดือน

ส่วนที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมมากที่สุด คือการนำเสนอ “วอเตอร์เจน” โดย นายไมเคิล วอเตอร์เจนคือเครื่องผลิตน้ำจากความชื้นในอากาศเครื่องแรกของโลก เขาได้อธิบายว่าเครื่องดังกล่าวจะเป็นแหล่งผลิตน้ำดื่มแหล่งใหม่ ซึ่งภายในประกอบด้วยเครื่องกรองหลายชั้น เริ่มต้นจากการกรองอากาศ และสิ้นสุดที่สถานีเติมแร่ธาตุ วอเตอร์เจนจึงเป็นเครื่องผลิตน้ำจากอากาศเพื่อโลกที่น่าอยู่ขึ้น นอกจากนี้วอเตอร์เจน ยังมีหลายขนาด เพื่อรองรับการใช้งานในระดับหมู่บ้าน ภาคอุตสาหกรรม โรงเรียน อาคารสำนักงาน และครัวเรือน ในปัจจุบัน ผู้คนใน 45 ประเทศทั่วโลกดื่มน้ำจากวอเตอร์เจน ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน อินเดีย ฯลฯ



ในส่วนท้ายของงานสัมมนา มีช่วงอภิปรายในหัวข้อ “น้ำทุกหยดมีคุณค่า” โดยผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำของประเทศไทยและอิสราเอลร่วมอภิปราย และแบ่งปันประสบการณ์ ความท้าทาย วิธีการแก้ปัญหา และข้อสรุปที่ได้จากประสบการณ์จริง ครอบคลุมประเด็นเรื่องการจัดสรรน้ำสำหรับเกษตรกร การสิ้นเปลืองน้ำ การจัดการน้ำเสียในอุตสาหกรรม และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำ