"ซึมเศร้า" กัดกินจิตใจ บทเรียนสุดเศร้า "เหม" ฆ่าตัวตาย ! ลองสังเกตตัวเองหรือยัง ? (คลิป)

2019-09-26 10:45:34

"ซึมเศร้า" กัดกินจิตใจ บทเรียนสุดเศร้า "เหม" ฆ่าตัวตาย ! ลองสังเกตตัวเองหรือยัง ? (คลิป)

Advertisement

สืบเนื่องจากข่าวการกระทำอัตวินิบากกรรม (ฆ่าตัวตาย) ที่สาเหตุเบื้องต้นคาดกันว่ามาจากอาการป่วย "โรคซึมเศร้า" ของนักแสดงหนุ่มผู้น่าสงสาร "เหม-ภูมิภาฑิต นิตยารส" ด้วยการแขวนคอภายในห้องพัก เรื่องสะเทือนขวัญดังกล่าวสร้างความโศกเศร้าให้กับครอบครัวและบุคคลใกล้ชิด พร้อมกับความสลดใจให้กับคนในวงการบันเทิง



ขณะที่เขารู้ตัวว่ากำลังป่วยและได้ต่อสู้กับมันอย่างมีสติ เขาเปิดเผยเรื่องราวบางแง่มุมในชีวิตให้แก่แฟนคลับทั่วไปได้รับรู้ โดยไม่คิดปิดบังเพราะเขาเชื่อว่าจะสามารถผ่านพ้นภัยร้ายที่กำลังทำลายชีวิตของเขาได้ในเวลาไม่ช้านาน แต่แล้วเรื่องราวในตอนจบกลับไม่สวยเหมือนในนิยาย เขาพ่ายแพ้ให้แก่มัน ตัวการที่ทำให้ชีวิตเขาต้องดับสิ้นลง เจ้า "โรคซึมเศร้า" ภัยร้ายที่คุกคามทำลายความสุขในจิตใจ






ทั้งนี้ เราได้เห็นการโพสต์ครั้งสุดท้ายของ "เหม ภูมิภาฑิต" ทางทวิตเตอร์พบว่าเมื่อวันที่ 6 กันยายน เหมได้โพสต์ข้อความไว้ว่า




"ขอขอบคุณทุกอย่างที่เข้ามาในชีวิต ใกล้ถึงวันแห่งอิสรภาพเสียที"

และวันที่ 12 กันยายน ได้โพสต์ว่า


"เหนื่อย"





นอกจากนี้ ในอินสตาแกรมยังพบว่า "เหม ภูมิภาฑิต" ได้โพสต์คลิปให้กำลังใจสำหรับคนที่เป็นโรคซึมเศร้าด้วยการบอกว่าให้กำลังใจตัวเอง และเป็นสัญญาณบางอย่างที่บ่งบอกว่าภายใต้ใบหน้าอันยิ้มแย้มและหล่อเหลานั้น มันกำลังถูกกัดกินด้วยโรคร้ายทำลายใจจนไม่เหลือชิ้นดี ซึ่งเหมเขียนบรรยายความรู้สึกเอาไว้ว่า

"ประโยคสุดท้ายเราอาจจะไม่คาดคิด ก่อนที่เค้าจะจากไป

ผมจำประโยคเหล่านี้ได้แม่น เคยอ่านเจอมาเมื่อปีก่อน อยู่ดีๆ มันก็แว๊บเข้ามาในหัวอีกครั้งนึง ถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้าย ที่เราได้เจอกับคนที่เรารักหละ เราจะทำดีกับเค้าให้มากที่สุดมั้ย เราจะปล่อยปละละเลยเค้าเหมือนวันนี้มั้ย"



คลิป สุดท้าย "เหม ภูมิภาฑิต"





เส้นทางในวงการบันเทิงของ "เหม-ภูมิภาฑิต นิตยารส" นั้น เริ่มต้นจากการเป็นนักแสดงในสังกัดของกันตนา เคยร่วมประกวดโครงการสู่ฝันปั้นดาวเมื่อปี พ.ศ. 2550 และชนะเลิศโครงการ Star Search by Kantana Training Center เมื่อปี พ.ศ. 2554 มีผลงานกับทางช่อง 7 ไม่ว่าจะเป็น นางฟ้ากับมาเฟีย, ปิ่นอนงค์, สวนอาหารบานใจ รวมถึงละครจากค่ายกันตนา ไม่ว่าจะเป็น ทายาทอสูร, รักร้าย, เงินปากผี และปัจจุบันเจ้าตัวกำลังจะมีผลงาน "บ้านนางรำ" ซึ่งรอออนแอร์อีกไม่ช้านาน อีกทั้งยังมีละครจ่อคิวถ่ายทำและเป็นละครฟอร์มใหญ่เรื่อง "ลายกินรี" อีกด้วย





ซึ่งเมื่อย้อนไปต้นปี 2562 "เหม" ได้ตกเป็นข่าวค้างค่าเช่าบ้าน แต่ได้ออกมาเคลียร์ประเด็นดังกล่าวกับสื่อให้สังคมได้รับทราบไปเป็นที่เรียบร้อย สิ่งนี้สร้างผลกระทบหลายอย่างตามมาในชีวิตของเหม จนเกิดความพลิกผันทางด้านอาชีพการงาน   



ด้านชีวิตในวัยเด็กก่อนเข้าวงการบันเทิง เหม ภูมิภาฑิต เกิดวันที่ 28 มิถุนายน 2531 อายุ 31 ปี เป็นคนจังหวัดมหาสารคาม ก่อนหน้านี้ใช้ชื่อจริงว่า เหมวรรษ และได้มาเปลี่ยนภายหลังเป็น ภูมิภาทิต แปลว่า คนฉลาดที่จะทำประโยชน์ให้สังคม จบการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนสาธิตมหาสารคาม ระดับมัธยมปลายที่โรงเรียนสตรีวิทย์ และระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี



ด้วยทีมข่าวบันเทิง นิว 18 เห็นว่าข่าวการตายของ "เหม" นั้น มีความสำคัญต่อสังคมปัจจุบันเป็นอย่างมาก ซึ่งในปัจจุบันโรคนี้กำลังเป็นภัยเงียบไร้สัญญาณเตือนใดๆ และสามารถคร่าชีวิตเราทุกคนได้อย่างง่ายดาย วันนี้ทีมข่าวจึงนำแบบทดสอบโรคซึมเศร้าง่ายๆ จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยให้เพื่อนๆ ทำดูก่อน เผื่อจะได้รู้ตัวเองในขั้นต้นว่าเรานั้นเข้าค่ายเป็นโรคนี้หรือไม่ ...



ประเมินความเสี่ยงโรคซึมเศร้าในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

จดคำตอบของแต่ละข้อเอาไว้ แล้วมารวมคะแนนทีหลัง

จงเลือกตอบคำถามข้อ 1-9 ด้วยตัวเลือกเหล่านี้

>> ไม่เป็นเลย
>> เป็นบางวัน (1 - 7 วันต่อสัปดาห์)
>> เป็นบ่อย (มากกว่า 7 วันต่อสัปดาห์)
>> เป็นแทบทุกวัน
--------------------------------------------------------------------------------------

1. เบื่อ !! ไม่สนใจอยากทำอะไรทั้งนั้น

2. ไม่สบายใจ ซึมเศร้า ท้อแท้

3. หลับยาก หลับๆ ตื่นๆ หรือหลับมากเกินไป

4. เหนื่อยง่าย ไม่ค่อยมีแรง

5. เบื่ออาหาร หรือกินมากเกินไป

6. รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง คิดตลอดเวลาว่าตัวเองไม่ดีพอ เป็นคนล้มเหลวในชีวิต ทำให้ตัวเองและครอบครัวผิดหวัง

7. ไม่ค่อยมีสมาธิกับสิ่งที่ทำ เช่น ดูโทรทัศน์ เล่นอินเทอร์เน็ต ฟังเพลง หรือทำงานที่ต้องใช้ความตั้งใจ

8. พูด หรือทำอะไรช้าเกินไปจนคนอื่นสังเกตเห็น หรือกระสับกระส่ายอยู่ไม่สุข ไม่สามารถอยู่นิ่งๆ ได้เหมือนเคย

9. เคยคิดจะทำร้ายตัวเอง คิดว่าตัวเองไม่อยู่แล้วคงจะดี

--------------------------------------------------------------------------------------

** คิดคะแนนโดย **

ไม่เป็นเลย = 0 คะแนน

เป็นบางวัน = 1 คะแนน

เป็นบ่อยๆ = 2 คะแนน

เป็นแทบทุกวัน = 3 คะแนน




หากได้คะแนน 0-6 คะแนน

คุณ = ปกติ

----------------------------------------------------------
- ควรดูแลสุขภาพจิตของตัวเองให้ดีแบบนี้ต่อไป

หากได้คะแนน 7-12 คะแนน

คุณ = ซึมเศร้าเล็กน้อย
-----------------------------------------------------------
- ควรได้รับคำปรึกษา หรือบำบัดทางจิตเวชโดยจิตแพทย์

หากได้คะแนน 13-18 คะแนน

คุณ = ซึมเศร้าปานกลาง
-----------------------------------------------------------
- ควรได้รับคำปรึกษา หรือบำบัดทางจิตเวชโดยจิตแพทย์

หากได้คะแนน 19-27 คะแนน

คุณ = ซึมเศร้ารุนแรง

ควรได้รับคำปรึกษา หรือบำบัดทางจิตเวชโดยจิตแพทย์อย่างเร่งด่วน



ทั้งนี้ทั้งนั้น แบบประเมินแบบฟอร์มนี้เป็นเพียงการประเมินด้วยตนเองในเบื้องต้นเพียงเท่านั้น หากได้มากกว่า 7 คะแนน หรือรู้สึกทรมาน ไม่มีความสุข เริ่มรู้สึกว่าตัวเองเปลี่ยนไปจนคนรอบข้างสังเกตเห็น ควรปรึกษาจิตแพทย์โดยตรงจะดีที่สุด หมั่นสังเกตตัวเองและคนรอบข้างให้มากๆ เพื่อระมัดระวังคนที่คุณรักในวันที่ยังไม่สายเกินไป



"คำว่าไม่เป็นไรเนี่ยแหละ ที่จริงแล้ว มันโคตรเป็น..."

สุดท้ายนี้เราต้องทำตัวยังไงเมื่อรู้ว่าคนใกล้ชิดมิตรสหายกำลังถูกภัยซึมเศร้าเข้าคุกคาม

"คนที่เป็นโรคซึมเศร้าเขาต้องการเพื่อนมากกว่าหมอ จึงเป็นที่มาของกลุ่มอาสาสมัครอดีตผู้ป่วยที่ใช้ประสบการณ์ตัวเองบำบัดผู้อื่น ล่าสุดจะมีหลักสูตรการรับมือกับโรคทางจิตเวชของสมาคมสายใยครอบครัว ซึ่งมีจุดประสงค์สอนผู้ดูแลผู้ป่วย เช่น สำหรับแม่ดูแลลูก พี่เลี้ยงดูแลผู้ป่วยโรคจิตเวช ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถเข้าเรียนรู้จากคลาสนี้ได้ พอเรียนจบจะสามารถถ่ายทอดประสบการณ์เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยได้อีกทาง"



“สำหรับผู้ป่วยแล้วสิ่งที่เขาต้องการที่สุดไม่ใช่หมอ แต่คือเพื่อนที่ป่วยเหมือนกัน ต้องการคนที่เข้าใจกัน เราเข้าใจความต้องการนี้ จึงมีการรวบรวมอาสาสมัคร ทั้งนักวิชาชีพ นักสังคมสงเคราะห์ เกิดเป็นเครือข่ายความสุขจากโรคซึมเศร้าขึ้นมา เดินสายให้การอบรมแบบฟรีๆ ตามสถาบันศึกษา”



นั่นคือจุดเริ่มต้นของเครือข่ายอาสาสมัคร ‘ความสุขจากโรคซึมเศร้า’ การรวมตัวกันของผู้มีจิตอาสาที่จะทำงานกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าแบบไม่แสวงหารายได้ โดยสมาชิกในกลุ่มนี้เกือบทั้งหมดเป็นผู้มีประสบการณ์จากการเป็นผู้ป่วยทางจิตเวชมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นอาการไบโพลาร์ อาการป่วยจากโรคซึมเศร้า

สิ่งที่เครือข่ายฯ เน้น คือการเฝ้าระวังไปที่กลุ่มเยาวชนชั้นมัธยมฯ เนื่องจากการฟักตัวของโรคเริ่มตั้งแต่คนวัยนี้ เยาวชนจึงต้องทำให้เด็กรู้จักตัวเองตั้งแต่ต้นทาง ต้องหัดสังเกตตัวเองว่าเริ่มเหงา เริ่มเศร้า เริ่มก้าวร้าว เริ่มเหนื่อยไม่อยากพบคน แบบนี้หรือไม่ อย่าปล่อยให้ถึงมือแพทย์เมื่อสายไป



สิ่งที่ไม่ควรทำกับผู้ป่วยนั้นก็ไม่ได้ซับซ้อนอย่างที่คิด ย้ำว่า อย่ากลัวที่จะพูดคุย โดยเฉพาะสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างการพูดให้กำลังใจแบบส่งๆ เช่น “สู้ๆนะ”, “อย่าท้อ ต้องผ่านไปให้ได้” หรือมองว่าเขาเป็นคนอ่อนแอ ไม่สู้ แต่ควรให้กำลังใจด้วยวิธีการรับฟังปัญหา คอยสังเกตพฤติกรรม

อย่าลืมว่าปัญหา และอาการของโรคที่เกิดขึ้นกับแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางครั้งปัญหาของผู้ป่วยอาจมาจากเรื่องทั่วไป ที่คนภายนอกไม่มองว่าเป็นเรื่องใหญ่ หรืออาจเป็นเรื่องคอขาดบาดตายที่เราคาดไม่ถึงก็ได้ จนเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งอยากพ้นจากปัญหา ความทุกข์ หรือสภาพแวดล้อมที่เผชิญอยู่

โรคซึมเศร้าจึงเฝ้าระวังและป้องกันได้ เช่นเดียวกับอาสาสมัครที่แม้จะเคยป่วย แต่ก็ร่วมแชร์ประสบการณ์ของตัวเอง และสร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่น



** รู้หรือไม่ ?

คำพูดต้องห้าม ที่พยายามอย่าใช้กับผู้ป่วย

ซึ่งคำเหล่านี้นอกจากผู้ป่วยจะไม่ได้รับกำลังใจเพิ่มแล้ว ยังทำให้พวกเขาอาการหนักกว่าเดิมได้อีกด้วย เช่น ร้องไห้ทำไม, เดี๋ยวก็ดีเอง, อย่าคิดมาก, แค่นี้เอง หรือคำเชิงต่อว่าอย่าง จะเศร้าไปถึงไหน, เอาแต่เศร้าไม่เหนื่อยบ้างเหรอ เป็นต้น โดยในทางจิตวิทยาเรียกว่า Ignorance คือเป็นการปล่อยให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าเผชิญเรื่องร้ายอยู่คนเดียว




คำพูดที่ควรใช้สำหรับผู้ป่วย

จากคำต้องห้ามข้างต้นหลายคนอาจจะถามว่า แล้วควรพูดยังไงดีล่ะ ซึ่งคำพูดที่เราควรใช้เป็นกำลังใจแก่ผู่ป่วย ช่วยให้เขารับรู้ว่าเราอยู่เคียงข้างกับเขา เช่น ฉันไม่รู้หรอกว่าเธอแย่ขนาดไหนแต่ฉันพร้อมจะเข้าใจเธอตลอดนะ, ฉันเชื่อว่าอีกไม่นานเธอจะดีขึ้น อดทนไว้นะ หรือสำหรับบางคนอาจมีการจับมือกันหรือโอบกอด ถ่ายทอดความรู้สึกดี ๆ ให้กับเขา ผู้ป่วยจะเริ่มเข้าใจว่ามีคนคอยอยู่เคียงข้างพวกเขาทำให้เขามีความหวังขึ้น

ปิดปากและเปิดใจ

สิ่งที่ผู้ป่วยซึมเศร้าต้องการมากที่สุดคือใครสักคนที่อยู่เคียงข้างรับฟังปัญหาของพวกเขา ซึ่งหากใครที่มีคนใกล้ตัวเป็นโรคซึมเศร้า คุณควรถามหรือกระตุ้นให้เขาเล่าในสิ่งที่เขาไม่สบายใจ โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องแสดงความเห็นใด ๆ ยกเว้นเพียงฟังเขาอย่างตั้งใจให้ได้มากที่สุด




อย่าปล่อยให้เก็บตัว

อีกหนึ่งหนทางที่สามารถทำให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้นได้ ก็คือการพาเขาออกไปเปลี่ยนบรรยากาศบ้าง ซึ่งโดยปกติผู้ป่วยอาจจะเก็บตัว ปลีกตัวออกจากสังคม โดยเราอาจพาเขาออกมาเดินเล่น หรือออกไปกินข้าวใกล้ ๆ บ้านบ้างก็ได้ ถ้าให้ดีก็พาไปเที่ยวสนุกๆ ไปเลยถ้าทำได้ มันช่วยได้จริงๆ นะ

อย่างไรก็ตาม การดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้านั้นควรใช้ความอดทนและเข้าใจ จิตใจต้องเข้มแข็งเพราะไม่งั้นอาจจะจิตตกดิ่งตามไปอีกคนก็เป็นได้ และควรเลิกคำพูดเชิงเปรียบเทียบว่า “ดูคนนั้นสิเขาลำบากกว่าตั้งเยอะ เขายังไม่เศร้าเลย” ซึ่งนั่นไม่ช่วยอะไรพวกเขาเลย และไม่ควรโฟกัสกับการเร่งรัดที่จะให้เขาหาย แค่พยายามให้ความรักความใส่ใจและเข้าใจเขาก็เพียงพอ

อ่านข่าว "เหม" แบบต่อเนื่อง

ดับสลด "เหม" อดีตพระเอกช่อง 7 แขวนคอตายโดดเดี่ยวในคอนโดฯ (มีคลิป)

ค้างค่าเช่าจริง “เหม” ลั่น! ถึงคนเสพข่าวเหรียญมีสองด้านเสมอ