ค้นพบ “เทียนสิรินธร” พันธุ์ไม้เฉพาะถิ่นหนึ่งเดียวในโลก

2019-09-25 11:20:11

ค้นพบ “เทียนสิรินธร”  พันธุ์ไม้เฉพาะถิ่นหนึ่งเดียวในโลก

Advertisement

พบ “เทียนสิรินธร” พันธุ์ไม้เฉพาะถิ่นที่เดียวในโลกบริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี

ผศ.ดร.ไซนีย๊ะ สะมาลา ดร.กิตติมา คงทน อาจารย์สาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วย ว่าที่ ร.ต.สุทธิรักษ์ หนองแก้ว และทีมนักวิจัยลงพื้นที่ออกสำรวจ “ต้นเทียนสิรินธร” พืชประจำถิ่นที่มีการกระจายพันธุ์บริเวณหน้าผาภูเขาหินปูนในเขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อหาช่วงเวลาที่มีจำนวนดอกมากที่สุดสำหรับกำหนดเป็นช่วงฤดูกาลเชิญชวนนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชม ที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนรัชชประภา(เชียวหลาน) ต.เขาพังอ.บ้านตาขุน จ.สุราษฎร์ธานี

โดย ผศ.ดร.ไซนีย๊ะ กล่าวว่า เทียนสิรินธร (Impatients Sirindhorniae Triboun & Suksathan) หรือชมพูสิริน ได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้รับรายงานว่าเป็นพืชชนิดใหม่ของโลกโดย ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ และ ดร.ปิยเกษตร สุขสถาน นักวิจัยพฤษศาสตร์ เมื่อปี 2552 เทียนสิรินธรเป็นพืชถิ่นเดียวที่พบได้เฉพาะ จ.สุราษฎร์ธานีและ จ.กระบี่ โดยใน จ.สุราษฎร์ธานีนั้นพบได้เฉพาะภูเขาหินปูนบริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนรัชชประภา (พื้นที่รับผิดชอบ อุทยานแห่งชาติเขาสก)




สำหรับงานวิจัยครั้งนี้เป็นการบูรณาการร่วมกัน 3 หน่วยงานคือ ได้รับทุนงานวิจัยจากเขื่อนรัชชประภาโดยมี ดร.ครรชิต งามแสนโรจน์ ผู้ช่วย ผอ.เขื่อนสิริกิติ์ (ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขื่อนรัชชประภา ในตอนที่เริ่มโครงการวิจัย) เป็นผู้ประสานงาน นอกจากนี้ยังมีนายวิโรจน์ โรจนจินดา หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสก และนางเยาวลักษณ์ สุวรรณคง ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสก ให้ความร่วมมือในการออกสำรวจ และทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โดยจัดเป็นโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ที่จะขยายพันธุ์โดยใช้เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชและนำพืชที่ขยายพันธุ์ได้คืนสู่ท้องถิ่นต่อไป นอกจากนี้จะนำข้อมูลที่ได้จากโครงการวิจัยไปใช้ในการวางแผนการจัดการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างยั่งยืนด้วย