“วราวุธ” เล็งขยาย “กุยบุรีโมเดล” แก้ปัญหาคนกับช้าง

2019-09-14 19:35:48

“วราวุธ” เล็งขยาย “กุยบุรีโมเดล” แก้ปัญหาคนกับช้าง

Advertisement

“วราวุธ” เล็งขยาย “กุยบุรีโมเดล” แก้ปัญหาขัดแย้งคนกับช้าง ลดจำนวนความเสียหายพื้นที่เกษตรกรรม


เมื่อวันที่ 14  ก.ย. นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) พร้อมด้วย น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ที่ปรึกษาคณะทำงาน รมว.ทส. และนายยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษา รมว. ทส. เดินทางมายังอุทยานแห่งชาติกุยบุรี อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดศูนย์เฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Smart Early Warning System) โดยมีนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชเป็นผู้กล่าวรายงาน นายภิรมย์ นิลทยา รอง ผวจ.ประจวบคีรีขันธ์ นาสยทัศเนศวร์ เพชรคง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรีร่วมให้การต้อนรับ


ศูนย์เฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Smart Early Warning System) เป็นโครงการร่วมมือกันระหว่าง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช บ.ทรูมูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น และองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) เพื่อแก้ปัญหาลดความขัดแย้งระหว่างช้างป่าและเกษตรกรในพื้นที่รอบอุทยาน จากปัญหาช้างป่าลงมาหากินทำลายพืชผลทางการเกษตร โดย บ.ทรูมูฟเอชดำเนินการสำรวจและติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือในเขตชุมชน เพื่อรองรับ Camera Trap Smart phone SIM หรือกล้องถ่ายภาพตรวจจับช้างป่า โดยทำการติดตั้งกล้องทั้งหมด 25 จุดตามแนวชายป่าอุทยาน เมื่อมีช้างป่าลงมาจากอุทยาน กล้องจะถ่ายภาพและส่งสัญญาณเตือนผ่านเครือข่ายมือถือ ส่งกลับมาที่ศูนย์และแจ้งเตือนไปยังแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนของเจ้าหน้าที่พิทักษ์อุทยาน ที่แบ่งกำลังลาดตระเวนออกเป็น 4 หน่วยตามแต่ละพื้นที่ทันที 


ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถระบุพิกัดช้างป่าได้อย่างแม่นยำและสามารถผลักดันช้างกลับสู่ป่า ก่อนเกิดความเสียหายแก่พื้นที่เกษตรกรรม นอกจากนี้ กรมอุทยานแห่งชาติฯยังมีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือของประชาชนที่อาศัยบริเวณรอบอุทยาน จัดอบรมเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์อุทยาน โดยอาสาสมัครสามารถโหลดแอพพลิเคชั่น Smart Early Warning System เพื่อส่งข้อมูลภาพถ่ายช้างป่า นอกเหนือจากจุดที่มีการติดตั้งกล้องหลัก 25 จุด เพื่อขอกำลังในการผลักดันช้างกลับสู่ป่าได้ทันทีเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ด้วยการบันทึกข้อมูลและสะสมสถิติการบุกรุกพื้นที่เกษตรกรรมของช้างป่า ยังทำให้สามารถวิเคราะห์ ประมวลผลพฤติกรรมและช่วงเวลาหากินของช้างป่าได้จาก Big Data ที่บันทึกในระบบ เพื่อนำไปศึกษาวิจัยพัฒนาในด้านอื่นต่อไปได้อีกด้วย


โดยหลังจากที่ได้ดำเนินการติดตั้งระบบ Smart Early Warning System ในระยะเวลา 10 เดือนที่ผ่านมา สามารถบันทึกภาพช้างป่าและเตือนภัยล่วงหน้าได้ทั้งหมด 518 ครั้ง โดยเกิดความเสียหายแก่พื้นที่เกษตรกรรม เพียง 27 ครั้ง เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลสถิติการเฝ้าระวังช้างป่าในช่วงเวลาเดียวกันก่อนติดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้า (พ.ย.60 - ส.ค.61 ) สำรวจพบช้างป่าออกทำลายพืชผลทางการเกษตร 628 ครั้ง และพบความเสียหาย 217 ครั้ง ถือว่าเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า สามารถลดจำนวนความเสียหายของพื้นที่เกษตรกรรมได้อย่างน่าพึงพอใจ เป็น “กุยบุรีโมเดล” ที่สามารถนำไปขยายผลและต่อยอดปรับใช้ในพื้นที่เขตอุทยานอื่นๆที่มีปัญหาลักษณะเดียวกันได้ทั่วประเทศ 




นายวราวุธ กล่าวว่า โครงการนี้ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นความสำเร็จ ของการร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานรัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน บริษัทเครือข่ายต่างๆ และชุมชนในพื้นที่ ที่ได้ร่วมกันนำความรู้ ความเชี่ยวชาญ กลยุทธ์ และเทคโนโลยีต่างๆมาใช้ในการแก้ไขจัดการปัญหาความขัดแย้งระหว่างช้างป่าและชุมชนได้เป็นอย่างดี และยังเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองช้างป่า ซึ่งเป็นสัตว์ป่าอนุรักษ์ที่สำคัญของประเทศไทยได้อย่างดียิ่ง


นอกจากนี้นายวราวุธ ยังกล่าวถึงกลยุทธ์ในการปรับความสัมพันธ์ระหว่างช้างป่ากับชุมชนว่านอกเหนือไปจากการใช้ระบบเตือนภัยล่วงหน้า Smart Early Warning System เข้ามาป้องกันความเสียหายของพืชผลเกษตรกรรมแล้ว กรมอุทยานฯ ยังใช้กลยุทธ์เชิงบวก สร้างเครือข่ายชมรมท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ดึงประชาชนในพื้นที่เข้ามาทำหน้าที่เป็นไกด์ทัวร์นำนักท่องเที่ยวชมช้างป่าในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ปรับมุมมองทัศนคติของชุมชนในพื้นที่ที่มีต่อช้างป่าและสัตว์ป่า ให้เห็นความสำคัญ เกิดความรักและหวงแหนช้างป่าและพื้นที่ป่ามากยิ่งขึ้น

“มีสถานที่ที่เราจะสามารถชมชีวิตช้างป่าตามธรรมชาติ เหลืออยู่ไม่กี่แห่งในโลก หนึ่งในนั้นคือกุยบุรี ประเทศไทยของเรา ผมอยากเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนผู้ชื่นชอบการท่องเที่ยว มาท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติกุยบุรี เพื่อช่วยกระจายรายได้ สนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน และที่สำคัญอยากให้ทุกคนได้มาเห็นช้างป่าที่ใช้ชีวิตอาศัยอยู่ตามธรรมชาติด้วยตาตัวเองจริงๆสักครั้ง ผมเชื่อว่าทุกท่านจะหลงรักและเข้าใจถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ช้างไทยมากขึ้นอีกหลายเท่าตัวเหมือนกับครอบครัวของผม” นายวราวุธ กล่าว