เผยวัยรุ่นอายุ 12 -17 ปี ยุ่งเกี่ยวยาเสพติดมากขึ้น

2019-09-13 13:05:16

เผยวัยรุ่นอายุ 12 -17 ปี ยุ่งเกี่ยวยาเสพติดมากขึ้น

Advertisement

สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี เผยปัญหายาเสพติดแพร่ระบาดมากขึ้นในกลุ่มเด็กและเยาวชน อายุ 12 -17 ปี เน้นพ่อแม่ดูแล ให้กำลังใจและเป็นอย่างที่ดี หากพลาดพลั้งไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด

เมื่อวันที่ 13 ก.ย. นพ.ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากข้อมูลการบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติดของ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2561 ถึงวันที่ 31 พ.ค. 2562 พบผู้ป่วยทั้งหมด 3,803 คน เป็นเพศชาย 3,256 คน คิดเป็น ร้อยละ 85.62 และเพศหญิง 547 คน คิดเป็นร้อยละ 14.38 กลุ่มผู้ป่วยที่มากที่สุดอยู่ในช่วงอายุระหว่าง 20-24 ปี จำนวน 726 คน รองลงมาได้แก่ช่วงอายุระหว่าง 25-29 ปี จำนวน 692 คน ประเภทของยาเสพติดที่ใช้มากที่สุดคือยาบ้า สุรา และยาไอซ์ นอกจากนี้ยังพบว่าปัญหายาเสพติดแพร่ระบาดมากขึ้นในกลุ่มเด็กและเยาวชน ที่มีอายุระหว่าง 12 -17 ปี ซึ่งเด็กและเยาวชนเหล่านี้คือ อนาคตของชาติ เป็นวัยที่มีความเสี่ยงสูงต่อการใช้ยาเสพติด เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพร่างกายที่เริ่มก้าวเข้าสู่วัยรุ่น เป็นช่วงของการปรับตัว มีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกายสูงที่สุด ทำให้มีความอยากรู้อยากลอง มีความเป็นตัวของตัวเอง

นพ.ภาสกร กล่าวต่อว่า หากเยาวชนกลุ่มนี้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด สมองจะถูกทำลายเสี่ยงต่อการเกิดอาการทางจิตประสาทอย่างถาวรในอนาคต ส่งผลถึงการเรียน และอาจชักชวนเพื่อนให้มายุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ทำให้ปัญหายาเสพติดเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้ ครอบครัว ผู้ปกครอง สามารถป้องกันบุตรหลานโดยการอบรมเลี้ยงดู ให้เวลา ให้ความรักความอบอุ่น สอนให้เห็นถึงผลกระทบของยาเสพติดและเป็นแบบอย่างที่ดี หากพลาดพลั้งเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดแล้ว ต้องดูแลช่วยเหลืออย่างถูกต้องและให้กำลังใจตั้งแต่ระยะเริ่มต้น

ด้าน นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผอ.สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กล่าวว่า การแพร่ระบาดของยาเสพติดในกลุ่มเด็กและเยาวชน เป็นปัญหาที่ต้องให้ความสำคัญและต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน สบยช. มีภารกิจหลักในด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาและสารเสพติดทุกชนิด ซึ่งรูปแบบการบำบัดรักษา ยาเสพติดแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ รูปแบบผู้ป่วยนอก ให้การรักษาในรูปแบบกาย จิต สังคมบำบัดแบบไปกลับ ใช้กระบวนการรักษาทางกาย การปรับเปลี่ยนความคิด พฤติกรรม และรูปแบบผู้ป่วยในเน้นกระบวนการบำบัดให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายและจิตใจให้เข้มแข็ง มีครอบครัวเป็นหลักสำคัญ โดยแพทย์และทีมสหวิชาชีพจะให้การบำบัดรักษาอาการขาดยา รวมถึงภาวะแทรกซ้อนทางกาย ทางจิต จนอาการดีขึ้นและให้การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย และจิตใจ ผู้ป่วยจะได้เรียนรู้การใช้กระบวนการทางจิตวิทยาในการแก้ไขปัญหา การเสริมสร้างพลังใจให้เข้มแข็ง รู้จักหลีกเลี่ยงหรือปฏิเสธการเสพยาเสพติด รวมถึงการปรับตัวให้เข้ากับสังคม ซึ่งจะส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เจตคติ ในการเลิกเสพยาเสพติดได้ ซึ่งต้องใช้เวลาในการบำบัดรักษาและฟื้นฟูอย่างน้อย 3-4 เดือน และติดตามดูแลช่วยเหลือหลังผ่านการบำบัดประมาณ 1 ปี เพื่อไม่ให้กลับไปเสพซ้ำอีก