รมว.เกษตรฯสั่งเร่งระบายน้ำ สำรวจความเสียหายเกษตรกร

2019-09-03 12:10:50

รมว.เกษตรฯสั่งเร่งระบายน้ำ สำรวจความเสียหายเกษตรกร

Advertisement

รมว.เกษตรฯ สั่งกรมชลประทานเร่งระบายน้ำเหนือออกทะเลให้เร็วที่สุด ป้องกันน้ำไหลหลาก น้ำล้นตลิ่งท่วมพื้นที่ต่างๆ ระบุต้องไม่ให้มีผลกระทบต่อพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจความเสียหายช่วยเหลือเกษตรกร

เมื่อวันที่ 3 ก.ย. นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากอิทธิพลของพายุที่ทำให้ฝนตกหนักในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือจึงได้สั่งการให้นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำต่างๆ ให้สอดคล้องกับสภาวะฝนที่ตกในพื้นที่ทางตอนบน ที่เป็นห่วงขณะนี้คือ การระบายน้ำเหนือจากพื้นที่ตอนบนสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้งนี้อธิบดีกรมชลประทานรายงานว่า ทยอยเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 2 ก.ย. จากเดิมระบายอยู่ที่ 424 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที เป็น 480 ลบ.ม.ต่อวินาที พร้อมรับน้ำเข้าระบบชลประทานฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นจากเดิม 140 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 170 ลบ.ม.ต่อวินาที และฝั่งขวาจากเดิมรับน้ำจากเดิม 230 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 260 ลบ.ม.ต่อวินาที ทั้งนี้เพื่อเร่งระบายน้ำให้ไหลออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด ซึ่งได้กำชับว่า การเพิ่มปริมาตรการระบายต้องไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งนี้ผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระย ในเขตจังหวัดอ่างทองและพระนครศรีอยุธยาจะต้องมีน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ 700 ลบ.ม.ต่อวินาทีขึ้นไป ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนก

นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า ได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าสำรวจความเสียหายของพื้นที่เกษตรทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง โดยให้ทำทันทีที่น้ำลด ทั้งนี้หากผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเป็นเขตภัยพิบัติจะได้รับเงินช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 ซึ่งทางกรมส่งเสริมการเกษตรรายงานว่า เกษตรกรจะได้รับค่าชดเชยรายละไม่เกิน 30 ไร่ โดยนาข้าวได้ไร่ละ1,113บาท พืชไร่ได้ไร่ละ 1,148บาท พืชสวนและพืชอื่นๆ ได้ไร่ละ 1,690 บาท

รมว.เกษตรฯ กล่าวต่อว่า ส่วนทางด้านปศุสัตว์นั้น นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์รายงานว่า ได้ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยเบื้องต้นด้วยการจัดหาพืชอาหารสัตว์ วัคซีนและเวชภัณฑ์รักษาสัตว์ ช่วยอพยพสัตว์ออกจากพื้นที่น้ำท่วม และฟื้นฟูสุขภาพสัตว์ ส่วนการช่วยเหลือช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังสำหรับพื้นที่เสียหายเป็นเงินหรือปัจจัยการผลิตสำหรับทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ให้เมล็ดพันธุ์พืชอาหารสัตว์ไม่เกินไร่ละ 2 กิโลกรัม หรือท่อนพันธุ์ไม่เกินไร่ละ 250 กิโลกรัม ไม่เกินรายละ 20 ไร่ หรือจ่ายเป็นค่าพันธุ์พืชอาหารสัตว์ครอบครัวละไม่เกินเดือนละ 1,700 บาท เป็นเวลาไม่เกิน 2 เดือน สำหรับการช่วยเหลือกรณีสัตว์ตายหรือสูญหาย จะชดเชยตามที่เสียหายจริงซึ่งกำหนดอัตราส่วนตามอายุสัตว์ โดยโคอายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไปได้ตัวละไม่เกิน 20,000 บาท รายละไม่เกิน 2 ตัว กระบืออายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไปได้ตัวละไม่เกิน 22,000 บาท รายละไม่เกิน 2 ตัว สุกรอายุมากกว่า 30 วันขึ้นไปได้ตัวละไม่เกิน 3,000 บาท รายละไม่เกิน 10 ตัว ไก่ไข่อายุมากกว่า 21 วันขึ้นไป ตัวละไม่เกิน 80 บาท รายละไม่เกิน 1,000 ตัว ไก่เนื้ออายุมากกว่า 21 วันขึ้นไป ตัวละไม่เกิน 50 บาท รายละไม่เกิน 1,000 ตัว เป็ดไข่และเป็ดเนื้ออายุมากกว่า 21 วันขึ้นไป ตัวละไม่เกิน 50 บาท รายละไม่เกิน 1,000 ตัว

นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า กรมประมงได้รายงานถึงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่ประสบภัยว่า ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่กรมประมงทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด หากเกิดผลกระทบหรือความเสียหายด้านประมงให้เร่งช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า โดยบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมชลประทาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ให้หน่วยงานของกรมประมงที่ตั้งอยู่ในพื้นที่จะต้องติดตามสถานการณ์ของแหล่งน้ำต่างๆ ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เช่น เครื่องสูบน้ำ อวน กระชัง และอุปกรณ์ต่างๆ ไว้ช่วยเหลือเกษตรกรได้ทันทีที่ได้รับการร้องขอเพื่อขนย้ายหรือจับสัตว์น้ำออกจำหน่าย จัดเตรียมเรือตรวจการประมง รถยนต์พร้อมเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลืออย่างทันท่วงที จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ประมงไว้ประจำหน่วยงานเพื่อให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการแก่เกษตรกร และจัดเตรียมพันธุ์สัตว์น้ำชนิดต่างๆ ไว้ช่วยเหลือเกษตรกรในกรณีฉุกเฉินเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า

“สำหรับการช่วยเหลือหลังน้ำลดให้สำนักงานประมงจังหวัดต่างๆ พิจารณาดำเนินการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรโดยใช้เงินทดรองราชการในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งอนุมัติได้ 20 ล้านบาทตามระเบียบกระทรวงการคลังเพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยเกษตรกรที่ได้รับความช่วยเหลือต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้เป็นปัจจุบันแล้ว หากเงินงบประมาณไม่เพียงพอสามารถขอใช้เงินทดรองราชการในอำนาจของปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งอนุมัติได้ 50 ล้านบาทต่อไป” นายเฉลิมชัย กล่าว