รมว.เกษตรฯสั่งเร่งระบายน้ำท่วม 19 จังหวัด

2019-09-01 07:32:31

รมว.เกษตรฯสั่งเร่งระบายน้ำท่วม 19 จังหวัด

Advertisement

รมว.เกษตรฯ สั่งกรมชลประทานเร่งระบายน้ำท่วมขัง 19 จังหวัด พร้อมให้กรมส่งเสริมการเกษตรสำรวจความเสียหายพื้นที่การเกษตร จ่ายค่าช่วยเหลือเกษตรกรตามระเบียบกระทรวงการคลัง

เมื่อวันที่ 1 ก.ย. นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้กรมชลประทานเร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังทั้งในพื้นที่เกษตร พื้นที่ชุมชน และพื้นที่เศรษฐกิจ ซึ่งได้รับรายงานจากนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานว่า ขณะนี้มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 19 จังหวัดได้แก่ แพร่ พิจิตร น่าน พิษณุโลก อุตรดิตถ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม อุดรธานี อุบลราชธานี อำนาจเจริญ มุกดาหาร สกลนคร สระแก้ว ชุมพร และระนอง โดยเข้าสู่สถานการณ์ปกติแล้ว 1 จังหวัดคือ นครราชสีมา ทั้งนี้ยังคงระดมเครื่องจักร-เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถขุด พร้อมเจ้าหน้าที่จำนวนมากเข้าไปคลี่คลายปัญหาโดยเร่งด่วนแล้ว และจากการพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ภาวะฝนตกหนักจากพายุโพดุลจะเกิดขึ้นถึงวันนี้เป็นวันสุดท้ายแล้ว ภาวะน้ำท่วมจะดีขึ้นตามลำดับ

รมว.เกษตรฯ กล่าวต่อว่า พร้อมกันนี้ได้สั่งการกรมส่งเสริมการเกษตรให้เตรียมเข้าสำรวจความเสียหายพื้นที่เกษตรทันทีหลังน้ำลด โดยนายสำราญ สารบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรรายงานว่า มอบหมายให้เกษตรจังหวัดทุกจังหวัดเตรียมพร้อมรับมือผลกระทบจากพายุโพดุล โดยเฉพาะพื้นที่ได้รับผลกระทบ 44 จังหวัด เหนือ กลาง อีสาน ใต้ ขณะนี้เกษตรอำเภอและเกษตรจังหวัดได้ออกเตือนเกษตรกรเฝ้าระวังความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อผลผลิตทางการเกษตร ให้คำแนะนำแก่เกษตรกรในการดูแลข้าว พืชไร่ ไม้ผล เพราะช่วงนี้ บางพื้นที่เป็นช่วงที่บางพืชเก็บเกี่ยวจึงต้องเตรียมช่วยเหลือเกษตรกร และกำชับทั้งให้ทุกจังหวัดรายงานผลสำรวจให้กรมส่งเสริมการเกษตรทราบทุกวัน นอกจากนี้ยังได้เตรียมการให้ผลิตชีวภัณฑ์เช่น ไตรโคเดอร์มาเพื่อเตรียมแจกจ่ายช่วยเหลือเกษตรกรหลังน้ำลดทันที หลังน้ำลดสารชีวภัณฑ์จะสามารถช่วยลดผลกระทบจากโรคพืชที่มากับน้ำได้

นายเฉลิมชัย  กล่าวด้วยว่า ด้านมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ หากผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเขตพื้นที่การให้ความช่วยเหลือฯ เกษตรกรต้องยื่นแบบความจำนงขอรับการช่วยเหลือ (กษ 01) โดยให้ผู้นำท้องถิ่นรับรอง ก่อนจะมีการตรวจสอบทะเบียนเกษตรกร และพื้นที่เสียหายจริง เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามขั้นตอน โดยกรมส่งเสริมการเกษตรยึดหลักปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 ซึ่งเกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรไว้ก่อนเกิดภัย จ่ายเงินช่วยเหลือตามจำนวนพื้นที่จริงที่ได้รับความเสียหาย แต่รายละไม่เกิน 30 ไร่ ซึ่งกำหนดให้นาข้าวได้รับอัตราไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ได้รับอัตราไร่ละ 1,148 บาท และพืชสวนและอื่นๆ ได้รับอัตราไร่ละ 1,690 บาท

“ได้กำชับกรมชลประทานให้เร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่เกษตรโดยเร็วที่สุดเนื่องจากหากน้ำท่วมขังไม่นาน อาจไม่ส่งผลกระทบต่อพืชผล แต่หากกรมส่งเสริมการเกษตรสำรวจแล้วพบว่า พืชผลของเกษตรกรที่กำลังจะเก็บเกี่ยวผลผลิตเสียหาย นอกจากจะได้รับเงินช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังแล้ว กระทรวงเกษตรฯ จะพิจารณามาตรการช่วยเหลืออื่นๆ ตามความเหมาะสมเช่น สนับสนุนปัจจัยการผลิตสำหรับฤดูกาลเพาะปลูกต่อไป รวมถึงประสานกับกระทรวงพาณิชย์หาตลาดจำหน่ายผลผลิตให้ ตามนโยบายการตลาดนำการเกษตรเพื่อสร้างความมั่นใจแก่เกษตรกรว่า ขายผลผลิตได้แน่นอนและมีรายได้อย่างต่อเนื่อง” นายเฉลิมชัย กล่าว