ปลัด สธ. ส่งทีมลงพื้นที่สอบเด็ก ม.4 กินส้มตำดับ

2019-08-30 18:50:52

ปลัด สธ. ส่งทีมลงพื้นที่สอบเด็ก ม.4 กินส้มตำดับ

Advertisement

ปลัด สธ.ส่งทีมสอบสวนกรณีเด็ก ม.4 เสียชีวิตภายหลังกินส้มตำปูปลาร้าที่ จ.บุรีรัมย์ เบื้องต้นพบลำไส้อักเสบรุนแรง เก็บตัวอย่างเชื้อส่งห้องปฏิบัติการ คาดได้ผลภายใน 1 สัปดาห์ แนะประชาชน กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ทานอาหารปรุงใหม่ ป้องกันอาหารเป็นพิษ

เมื่อวันที่ 30 ส.ค. นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์กรณีที่มีผู้เสียชีวิตจากอาหารเป็นพิษจากการรับประทานส้มตำ ที่ จ.บุรีรัมย์ ว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 จ.นครราชสีมา และศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลงพื้นที่ตรวจสอบ การเสียชีวิตของผู้ป่วยรายนี้ เบื้องต้นได้รับรายงานจากทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วว่า ผู้ป่วยรายนี้มีถ่ายเหลว คลื่นไส้อาเจียน มีอาการช็อคหมดสติก่อนนำส่งโรงพยาบาล ตรวจพบมีลำไส้อักเสบรุนแรง ได้เก็บตัวอย่างเชื้อจากร่างกายผู้เสียชีวิตส่งห้องปฏิบัติการ คาดว่าจะได้ผลภายใน 1 สัปดาห์ และจากการสอบสวนโรคผู้ใกล้ชิดของผู้เสียชีวิตไม่พบผู้ใดมีอาการท้องเสีย

“ส้มตำเป็นอาหารประกอบสดที่เป็นที่นิยม จึงขอแนะนำประชาชนใส่ใจ ตั้งแต่กระบวนการทำ วัสดุอุปกรณ์ วัตถุดิบที่ใช้ทำอาหาร เช่น มะละกอ น้ำปลา ปลาร้า ปูเค็มต้องมีความสะอาดที่เพียงพออย่างไรก็ตาม อาหารบางอย่างวิธีการปรุงดีแต่หากทิ้งไว้นานอาจมีผลเสียต่อสุขภาพ อาจเกิดอาหารเป็นพิษได้ ขอให้ประชาชนยึดหลัก กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ใช้ภาชนะปิดอาหารมิดชิดป้องกันแมลงวันตอม หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารค้างคืนอาหารมีกลิ่นผิดปกติ เพื่อให้ปลอดภัยจากโรคที่มาจากน้ำและอาหารที่ไม่สะอาด” นพ.สุขุม กล่าว

นพ.สุขุม กล่าวด้วยว่า โรคอาหารเป็นพิษมักพบหลังจากที่กินอาหารที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนไปแล้วภายใน 2-4 ชั่วโมง โดยจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ ปวดมวนท้องรุนแรง เป็นไข้ และปวดศีรษะร่วมด้วย บางครั้งมีอาการถ่ายอุจจาระปนเลือด หรือเป็นมูกคล้ายเป็นบิด การดูแลเมื่อมีอาการอุจจาระร่วงให้ดื่มสารละลายเกลือแร่ (โออาร์เอส) ผสมน้ำสะอาดบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำและเกลือแร่ หากอาการไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มของเด็กและผู้สูงอายุอาจมีอาการรุนแรงต้องรีบไปพบแพทย์ที่สถานบริการสาธารณสุขหรือโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที