อภ.ปลูกกัญชารอบใหม่ 140 ต้น จ่อขยายพื้นที่ปลูกเพิ่ม

2019-08-28 14:15:54

อภ.ปลูกกัญชารอบใหม่ 140 ต้น จ่อขยายพื้นที่ปลูกเพิ่ม

Advertisement

อภ.เผยความคืบหน้าโครงการสกัดกัญชาทางการแพทย์ ปลูกกัญชาเมดิคัลเกรดพื้นที่เดิมรอบใหม่แล้ว 140 ต้น เมื่อต้นเดือน ส.ค. คาดสามารถสกัด 10,000 ขวดเดือน ธ.ค.นี้ พร้อมขยายพื้นที่การปลูกเป็น 1,000 ตารางเมตร คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการปลูกได้ในเดือน มิ.ย.2563

เมื่อวันที่ 28 ส.ค. นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เปิดเผยถึง ในวันนี้ อภ. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และภาคีเครือข่ายการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ได้ร่วมกันจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อสรุปผล และรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมจากการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง Mapping the Thai Approach มุมมองหลากมิติของการกำหนดทิศทางกัญชาทางการแพทย์ ซึ่งได้จัดไปเมื่อวันที่ 2 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยมีการระดมความคิดเห็นและประสบการณ์ แนวคิดการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์จากผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน โดยมี Mr. Martin Woodbridge นักเภสัชวิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านกัญชาทางการแพทย์จากประเทศนิวซีแลนด์ ที่มีประสบการณ์การทำงานที่ Medsafe กระทรวงสาธารณสุข ประเทศนิวซีแลนด์ ในฐานะ Medicines Quality Specialist และเป็นผู้เขียนหลักเกณฑ์คู่มือกัญชาทางการแพทย์ของประเทศนิวซีแลนด์ เป็นวิทยากรนำการสัมมนา


นพ.วิฑูรย์ กล่าวต่อว่า สำหรับผลจากการสัมมนาในเบื้องต้นนั้น ผู้สัมมนาได้ร่วมแสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย โดยให้ความสำคัญกับการยกระดับด้วยการสร้างแนวทางการใช้ประโยชน์กัญชาทางการแพทย์ให้ได้มาตรฐานระดับโลก อันจะเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย และควรให้ความสำคัญในการสร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์ การวิจัยและพัฒนา การศึกษา การติดตามข้อมูล ด้านความปลอดภัยจากการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ ตลอดจนการกำกับ ควบคุมดูแลตั้งแต่ปลูก การผลิตจนถึงการใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ทั้งกระบวนการ โดยเห็นว่าการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพจะนำไปสู่การใช้กัญชาทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ ประชาชนเข้าถึงได้และเกิดความยั่งยืน สอดคล้องกับแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากนี้ยังเห็นว่าการใช้กัญชาทางการแพทย์ในประเทศไทยจะประสบผลสำเร็จได้นั้นจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน และต้องมีข้อมูลสนับสนุนการใช้กัญชาทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ และประเทศไทยควรเป็นแหล่งสืบค้นข้อมูลกัญชาทางการแพทย์ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่สำคัญในอนาคต


นพ.วิฑูรย์ กล่าวอีกว่า สำหรับด้านการกำกับควบคุมผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชานั้น ควรมีการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของผลิตภัณฑ์ การเข้าถึงผลิตภัณฑ์และราคา รวมถึงบทบาทของแพทย์และ เภสัชกรในฐานะผู้สั่งใช้และจ่ายยา ให้มีความชัดเจน อีกทั้งยังให้มีการพัฒนาแนวทาง(guideline) สำหรับการใช้กัญชาทางการแพทย์ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง มีการพัฒนาตลาดสำหรับภาคอุตสาหกรรม สนับสนุนให้มีการใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ทางการแพทย์แผนไทย อีกทั้งมีการพัฒนาด้านการศึกษา และให้ความรู้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้มีส่วนร่วมในการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างรอบด้าน และที่สำคัญด้านการสื่อสารนั้นสื่อมวลชนควรเป็นสื่อกลางของรัฐบาล ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารการใช้กัญชาทางการแพทย์ให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง


ผอ.อภ. กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีข้อสรุปเบื้องต้นเพื่อนำเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุขซึ่งถือเป็นองค์กรหลักในการดำเนินการเรื่องกัญชาทางการแพทย์ ได้แก่ การกำหนดแนวทางการควบคุมคุณภาพของวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์กัญชาให้เป็นไปตามมาตรฐาน GMP ให้มีการกระจายผลิตภัณฑ์ไปสู่ผู้ป่วยอย่างทั่วถึง การพัฒนารูปแบบการสั่งใช้ และส่งมอบผลิตภัณฑ์กัญชาให้ผู้ป่วย การใช้ระบบออนไลน์ และแอพพลิเคชั่นต่างๆ เพื่อช่วยในการสั่งจ่ายยา รวมถึงการเผยแพร่ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนการรวบรวมข้อมูลการใช้ และรายงานอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา มีการกำหนดแผนการวิจัย และสร้างเครือข่ายการดำเนินการวิจัย การกำหนดโปรแกรมการติดตามความปลอดภัยจากการใช้ยา การสร้างช่องทางการให้ข้อมูลข่าวสารเพิ่มขึ้น และให้มีการดำเนินการกับสื่อมวลขนอย่างใกล้ชิด ผู้มีส่วนร่วมในการใช้กัญชาทางการแพทย์ควรได้รับข้อมูลข่าวสารจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมควรมีมาตรฐานในการเพาะปลูกและการผลิต เพื่อให้มั่นใจได้ว่ากัญชาและผลิตภัณฑ์กัญชาที่นำมาใช้ทางการแพทย์นั้นได้มาตรฐาน ประเทศไทยควรมีการดำเนินการอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อให้การใช้กัญชาทางการแพทย์ประสบความสำเร็จตามที่มุ่งหวังไว้ต่อไป ซึ่งข้อสรุปความคิดเห็นต่างๆ เหล่านี้และความคิดเห็นที่ได้เพิ่มเติมจะได้รวบรวมและนำเสนอต่อรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพื่อนำไปพิจารณาดำเนินการต่อไป


ผอ.อภ. ยังได้กล่าวถึง ความคืบหน้าการดำเนินการโครงการสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ว่า ขณะนี้ อภ.ได้ปลูกกัญชาเมดิคัลเกรดในระบบ Indoor บริเวณพื้นที่เดิมรอบใหม่แล้ว จำนวน 140 ต้น โดยได้เริ่มปลูกเมื่อต้นเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา โดยคาดว่า อภ. จะสามารถสกัดและผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาทางการแพทย์แผนปัจจุบันจำนวนประมาณ 10,000 ขวด ประมาณเดือนธันวาคม 2562 ครอบคลุมผลิคภัณฑ์ทั้ง 3 สูตรคือ สูตร THC สูตร CBD สูตร THC : CBD 1:1 โดยการปลูกรอบใหม่นี้ จะปลูกสายพันธุ์ CBD เด่นให้มากขึ้น สำหรับการดำเนินการโครงการระยะที่ 2 เป็นการปรับปรุง พัฒนาสายพันธุ์กัญชาให้ผลิตสารสำคัญได้ปริมาณสูงและสามารถปลูกลงแปลงได้ รวมทั้งขยายกำลังการผลิตสารสกัดเป็นระดับกึ่งอุตสาหกรรม จะขยายพื้นที่การปลูกแบบ Indoor ให้เพิ่มมากขึ้น เป็น 1,000 ตารางเมตร คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการปลูกได้ในเดือนมิ.ย.2563 ซึ่งจะได้ผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาทางการแพทย์แผนปัจจุบันรุ่นแรกประมาณเดือนตุลาคม 2563 ทั้งนี้จะเน้นผลิตผลิตภัณฑ์ สูตร CBD เป็นสำคัญ ในส่วนของความร่วมมือกับกับหน่วยงานต่างๆในการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ การปลูก และเพิ่มพื้นที่การปลูกต้นกัญชานั้น ในส่วนของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จะเริ่มทำการปลูกในเดือน ก.ย.2562 นี้ คาดว่าทางมหาวิทยาลัยจะทยอยส่งวัตถุดิบกัญชาแห้งเกรดทางการแพทย์ให้กับ อภ. ทำการสกัดได้อย่างต่อเนื่อง ประมาณเดือน ก.พ. 2563 เพื่อทำการผลิตตามโครงการเร่งด่วนตามนโยบาย รมว.สาธารณสุข