ชงศาล รธน.วินิจฉัยปมถวายสัตย์ขัด รธน.หรือไม่

2019-08-27 13:55:15

ชงศาล รธน.วินิจฉัยปมถวายสัตย์ขัด รธน.หรือไม่

Advertisement

ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปมถวายสัตย์ปฏิญาณของนายกฯ และ ครม.เป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ ละเมิดสิทธิของประชาชนหรือไม่ พร้อมสั่งยุติปมประธานรัฐสภารวบรัดขั้นตอนเลือกนายกฯ 

เมื่อวันที่ 27 ส.ค. นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติไม่ส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามคำร้องของนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย และนายอัยย์ เพชรทอง เลขาธิการองค์กรปกป้องพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพร้องเรียนว่าการถวายสัตย์ปฏิญาณของนายกรัฐมนตรีและ ครม. ไม่ครบถ้วน เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องการกระทำไม่ใช่เรื่องของกฏหมาย จึงไม่ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และยังมีมติไม่ส่งเรื่องให้ศาลปกครองตามคำร้องด้วย เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นการกระทำตามรัฐธรรมนูญไม่ใช่การกระทำทางปกครอง จึงไม่มีอำนาจส่งเรื่องให้ศาลปกครองได้

นายรักษเกชา กล่าวต่อว่า ส่วนคำร้องของนายภาณุพงศ์ ชูรักษ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ร้องเรียนว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และกระทบสิทธิประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการถวายสัตย์ปฏิญาณที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินมีเห็นว่าแม้กรณีดังกล่าวแม้นายกรัฐมนตรีจะชี้แจงว่าการถวายสัตย์ไม่ใช่การปฏิญาณตนที่ต้องกล่าวถ้อยคำให้ครบถ้วน แต่เป็นเรื่องของ ครม.และพระมหากษัตริย์ และนายกรัฐมนตรียืนยันว่าได้ถวายสัตย์ครบถ้วนแล้ว แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าการที่ถวายสัตย์มีการใช้ถ้อยคำที่ไม่เป็นตามรัฐธรรมนูญกำหนดอาจเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ จึงมีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านายกรัฐมนตรีกระทำการขัดรัฐธรรมนูญ และเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนหรือไม่

นายรักษเกชา กล่าวอีกว่า ส่วนกรณี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ยื่นคำร้องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาและมีความเห็นเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. มีการรวบรัดขั้นตอนเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 159 วรรคสองหรือไม่ จากคำชี้แจงของนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้จัดให้มีการเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี  โดยมี ส.ส. เสนอชื่อจำนวน 2 ท่าน คือ พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา  และนายธนาธร  จึงรุ่งเรืองกิจ และมีส.ส.รับรองโดยเปิดเผยไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่  โดยไม่มีส.ส.คนใดเสนอรายชื่อเพิ่มเติม  ประธานรัฐสภาจึงดำเนินการให้สมาชิกรัฐสภาอภิปรายและให้ความเห็นชอบต่อไป จึงเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 159 วรรคสอง การกระทำของประธานรัฐสภาจึงไม่เป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว  ไม่ได้มีลักษณะเป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ และฟังไม่ได้ว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์เป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจึงให้ยุติเรื่อง