อเมซอน ป่าฝนเขตร้อนผืนใหญ่ที่สุด และมีความหลากหลายทางชีวภาพที่สุดในอเมริกาใต้ กินพื้นที่ครอบคลุม 5.5 ล้านตารางกิโลเมตร ใน 9 ประเทศ ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 60 อยู่ในบราซิล ถูกเรียกขานว่า “ปอดของโลก” เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตออกซิเจน 20 % ในชั้นบรรยากาศของโลก ต้นไม้เป็นพันล้านต้นในป่าอเมซอนช่วยดูดซับคาร์บอนปริมาณมหาศาลเอาไว้ ไม่ให้หลุดลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศของโลก ซึ่งกระบวนการเก็บกักคาร์บอนทำงานกันมานานหลายพันปีแล้ว และดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมากทุกปี คิดเป็นปริมาณเท่ากับการปล่อยก๊าซดังกล่าวจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลของ 9 ประเทศในแถบลุ่มน้ำอเมซอนระหว่างปี 2523-2553 เลยทีเดียว ถือว่าเป็นตัวหลักในการหน่วงเหนี่ยวอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงขึ้น
ในทางตรงกันข้าม หากกระบวนการนี้ถูกทำลายเสียหาย ก๊าซคาร์บอน ที่เป็นตัวการทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก จะถูกทิ้งให้หลงเหลืออยู่ในชั้นบรรยากาศ ผลก็คือ อุณหภูมิโลกสูงขึ้น และเกิดภาวะโลกร้อน หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลก
ผืนป่าอเมซอน ยังเป็นที่อยู่ของพืชและสัตว์ประมาณ 3 ล้านสายพันธุ์ และยังมีชนเผ่าพื้นเมืองอาศัยพึ่งพาผืนป่าแห่งนี้อยู่อีกประมาณ 1 ล้านคน
แต่ขณะนี้ ผืนป่าอเมซอน ตกอยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วง เมื่อป่าถูกทำลายมากขึ้นจากมนุษย์ทั้งที่จงใจและไม่จงใจ โดยข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมที่เผยแพร่โดยสถาบันวิจัยด้านอวกาศแห่งชาติบราซิล หรือไอเอ็นพีอี แสดงให้เห็นว่า ปริมาณการเกิดไฟป่าในอเมซอน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 83 จากปีที่แล้ว ในขณะที่ อัตราการตัดไม้ทำลายป่าในเดือนมิถุนายน ปีนี้ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 88 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 ซึ่งแน่นอน รายงานนี้ สร้างความไม่พอใจให้ประธานาธิบดีจาอีร์ โบลโซนาโร ซึ่งต่อมาได้สั่งปลดผู้บริหารของสถาบันออกจากตำแหน่ง ส่วนบรรดานักอนุรักษ์ต่างพากันโจมตีประธานาธิบดีโบลโซนาโร ที่สนับสนุนให้มีการทำไม้และถางป่าเพื่อทำการเกษตร

ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลกลางในอดีตของบราซิล ร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่น พยายามแก้ไขปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า สั่งปรับผู้ละเมิดกฎหมายอย่างจริงจัง จนสถิติการตัดโค่นต้นไม้ในป่าอเมซอนลดลงอย่างมาก แต่แนวโน้มที่ดีต่อการอนุรักษ์กลับถูกทำลายโดยรัฐบาลของประธานาธิบดีโบลโซนาโร ซึ่งไม่เห็นด้วยกับนโยบายลงโทษผู้ตัดไม้ทำลายป่าในอดีต ทำให้สถิติการจับกุมอายัดของกลางจากแก๊งมอดไม้ลดต่ำลงอย่างมากในรัฐบาลปัจจุบัน รวมทั้งการตัดสินลงโทษผู้กระทำผิดในคดี "อาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อม" ก็พลอยลดน้อยถอยลงไปด้วย พวกตัดไม้ทำลายป่ายิ่งได้ใจมากขึ้น ไม่เกรงกลัวกฎหมาย
ไอเอ็นพีอี บอกว่า ระหว่างเดือนมกราคม-สิงหาคม 2562 ตรวจพบการเกิดไฟป่าในป่าอเมซอนมากกว่า 72,000 จุด ซึ่งเป็นจำนวนที่มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา และในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ ระหว่างวันที่ 15-21 ส.ค. เกิดไฟป่ามากถึง 9,500 ครั้ง

ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมชี้ให้เห็นว่า ป่าฝนอเมซอน พื้นที่ป่าดิบชื้นกว้างใหญ่ที่สุดของโลก กำลังถูกทำลายลงอย่างรวดเร็ว มีการแผ้วถางป่ากินพื้นที่ขนาดเท่าสนามฟุตบอลหนึ่งแห่งในทุกหนึ่งนาที โดยสนามฟุตบอลขนาดมาตรฐานสำหรับทีมฟุตบอลมืออาชีพมีพื้นที่ราว 7,140 ตารางเมตร ทำให้อัตราการตัดไม้ทำลายป่าที่เกิดขึ้นนี้น่าตกใจอย่างยิ่ง เพราะป่าอเมซอนนั้นเป็นแหล่งดูดซับกักเก็บคาร์บอนที่สำคัญ ซึ่งช่วยชะลอการเกิดภาวะโลกร้อน
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลบราซิลผู้ไม่ประสงค์จะเปิดเผยชื่อ กล่าวว่า รัฐบาลใหม่ ซึ่งยึดถืออุดมการณ์ฝ่ายขวาของประธานาธิบดีโบลโซนาโร สนับสนุนการแผ้วถางป่าอเมซอนในครั้งนี้ เพราะเห็นแก่การพัฒนาเศรษฐกิจมากกว่าการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทำให้ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อทำการเกษตรมีมากขึ้นตามลำดับ

เมื่อเกิดไฟป่าและการตัดไม้ทำลายป่าอเมซอนครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์เช่นนี้ ก็เรียกเสียงประณามจากนานาชาติ หลายประเทศขู่ที่จะไม่ทำข้อตกลงการค้ากับบราซิล หากยังปล่อยปละละเลยปัญหานี้ จนทำให้ประธานาธิบดีโบลโซนาโร สั่งกองทัพให้เข้าไปช่วยกันสยบไฟป่าอเมซอนครั้งนี้แล้ว แต่จะสามารถควบคุมเพลิงได้มากน้อย หรือรวดเร็วขนาดไหน ทั่วโลกยังจับตาดู
หากป่าอเมซอนมอดม้วย ชีวิตสัตว์โลกก็คงจะม้วยมอดเหมือนกัน เพราะผืนป่าอเมซอน คือลมหายใจของโลก นี่คือป่าฝน หรือป่าดิบชื้นที่ใหญ่ที่สุดของโลก เป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนที่สำคัญยิ่งและเป็นผืนป่าที่ช่วยชะลอปัญหาโลกร้อน ป่าอเมซอนสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ ในฐานะ ปอดของโลก "lungs of the world"
แต่ขณะนี้ ป่าอเมซอนกำลังถูกทำลายจากไฟป่าที่โหมลุกไหม้รุนแรงเลวร้าย ที่ว่ากันว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนโยบายของรัฐบาลบราซิลเอง ไฟไหม้ป่าอเมซอน เพิ่มมากขึ้นอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนตั้งแต่ประธานาธิบดีโบลโซนาโร เข้ารับตำแหน่งในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งเขาให้คำมั่นว่าจะพัฒนาพื้นที่ป่าอเมซอน เพื่อการเกษตรและเหมืองแร่ โดยไม่สนใจความวิตกกังวลของนานาชาติเกี่ยวกับการตัดไม้ทำลายป่าที่จะเพิ่มมากขึ้น
หากป่าอเมซอนมีอันเป็นไป หายนะรอมนุษย์โลกอยู่ข้างหน้าแน่นอน และจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาโลกร้อน ที่ถือว่ารุนแรงมากอยู่แล้วในปัจจุบัน ให้เลวร้ายมากขึ้น จะเห็นได้จากสภาพอากาศแปรปรวน ทั้งแล้งหนัก น้ำท่วมหนัก ไฟป่าเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก
อย่าโทษธรรมชาติ เพราะนี่คือฝีมือคนล้วน ๆ
#PrayforAmazonas