วิกฤติการเมืองอิตาลี นายกรัฐมนตรีเอือมพรรคร่วม ขอลาออก

2019-08-21 06:35:21

วิกฤติการเมืองอิตาลี นายกรัฐมนตรีเอือมพรรคร่วม ขอลาออก

Advertisement

นายกรัฐมนตรีจูเซปเป คอนเต ของอิตาลี ลาออกจากตำแหน่ง หลังอภิปรายโจมตีดุเดือดต่อนายมัตเตโอ ซัลวินี หัวหน้าพรรคลีก พรรคร่วมรัฐบาลขวาจัดเมื่อวันอังคาร โดยนายคอนเต กล่าวว่า นายซัลวินีไร้ความรับผิดชอบ สร้างวิกฤตทางการเมืองครั้งใหม่ให้เกิดขึ้นกับอิตาลี ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวและพรรค หลังนายซัลวินียื่นญัตติไม่ไว้วางใจนายคอนเตและเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งก่อนกำหนดเมื่อต้นเดือน

นายคอนเตยังวิพากษ์วิจารณ์การใช้สโลแกนทางการเมืองควบคู่กับสัญลักษณ์ทางศาสนาในการรณรงค์ทางการเมืองของนายซัลวินีว่า เป็นการไร้สามัญสำนึก และกล่าวว่า เขาไม่สามารถร่วมงานกับลีกและพรรคไฟว์ สตาร์ พรรคร่วมรัฐบาลของเขาได้อีกต่อไป

ทั้งนี้ พรรคลีกและพรรคไฟว์ สตาร์ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ต่อต้านสถาบัน ตั้งรัฐบาลผสมเพื่อบริหารประเทศเมื่อ 14 เดือนก่อนโดยให้นายคอนเต พรรคอิสระ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี




ประธานาธิบดีเซอร์จิโอ มัตตาเรลลา ของอิตาลี ยอมรับใบลาออกของนายคอนเตแล้ว และมีกำหนดจะเริ่มปรึกษาหารือกับบรรดาผู้นำพรรคการเมืองที่อยู่ในรัฐสภาเป็นเวลา 2 วันเริ่มในวันนี้ (พุธ) เพื่อหาทางออกจากวิกฤตการเมือง ซึ่งจะนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลชุดที่ 67 ของประเทศตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือหากการเจรจาล้มเหลว ก็จะสั่งยุบสภาจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนดถึง 3 ปีครึ่ง ซึ่งคาดว่าจะจัดการเลือกตั้งใหม่ได้ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง อย่างไรก็ตาม นายมัตตาเรลลา ได้เรียกร้องให้นายคอนเต อยู่ในตำแหน่งต่อไปก่อนในช่วงที่อยู่ระหว่างการปรึกษาหารือกัน

ด้านนายซัลวินี มีคะแนนนิยมนำ แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ได้รับเสียงสนับสนุนเพียงพอให้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่เขาก็กล่าวเมื่อวันอังคารว่า เขาพร้อมที่จะทำงานร่วมกับพรรคหุ้นส่วนทางการเมืองของเขา เพื่อเดินหน้าปฏิรูปงบประมาณก่อนการเลือกตั้งก่อนกำหนด



ส่วนชาวกรุงโรมก็แสดงความวิตกกังวลความไม่แน่นอนทางการเมือง และหากมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ อาจสร้างปัญหายากลำบากในผ่านงบประมาณของประเทศประจำปี 2563 โดยอิตาลี ซึ่งเป็นประเทศที่แบกรับภาระหนี้สินมากที่สุดในยูโรโซน รองจากกรีซ ให้คำมั่นต่อกรรมาธิการยุโรปว่า จะขึ้นภาษีการขายเป็นเงิน 23,000 ล้านยูโร จากวันที่ 1 มกราคมนี้ เพื่อให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์การขาดดุลงบประมาณของอียู