สุดรันทด! ไข่ฟองเดียว แบ่งกันกิน 4 คน หนุ่มดวงซวยช่วยน้ำท่วมขาติดเชื้อ เมียทิ้งลูก 3 คนให้ดูแล

2019-08-19 14:40:21

สุดรันทด! ไข่ฟองเดียว แบ่งกันกิน 4 คน หนุ่มดวงซวยช่วยน้ำท่วมขาติดเชื้อ เมียทิ้งลูก 3 คนให้ดูแล

Advertisement

 "ไข่ฟองเดียวแบ่งกิน 4 คน" สุดเวทนาหนุ่มดวงซวยช่วยน้ำท่วม ขาติดเชื้อต้องตัดทิ้ง ซ้ำร้ายเมียรักตีจากทิ้งลูก 3 คนให้ดูแล ได้เบี้ยคนพิการ-บัตรสวัสดิการยังชีพ แต่ไม่พอ.. ต้องเข้าโรงพยาบาลเกือบทุกสัปดาห์ อาศัยข้าวก้นบาตรประทังชีวิต 

วันที่ 18 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านโคกสำโรง คุ้มโคกเจริญ สพฐ 208 หมู่ 9 ต.ราม อ.เมือง จ.สุรินทร์ พบครอบครัวหนึ่ง มีฐานะยากจน ไม่มีแม้ข้าวสารจะกรอกหม้อ อาศัยอยู่ 4 คนพ่อลูก ทราบชื่อคือ นายอนุชิต นิราชโศรก อายุ 36 ปี พิการขาขวาขาด ป่วยโรคธาลัสซีเมีย โรคเมลิออยด์ และม้ามโต ส่วนลูกอีก 3 คนประกอบด้วยคนแรก ด.ญ.กัลยา นิราชโศรก อายุ 14 ปี (ไม่ได้ศึกษาต่อ) คนที่ 2 ชื่อ ด.ช.พงศกร นิราชโศรก อายุ 9 ขวบ เรียนชั้น ป.3 โรงเรียนใกล้บ้าน และคนที่ 3 ด.ช.จิรายุ นิราชโศรก อายุ 6 ขวบ เรียนชั้นอนุบาล 3 โรงเรียนเดียวกัน

โดยลูกสาวได้รับบ้านพระราชทานจากในหลวง ร.9 เมื่อปี 2558 ภายในบ้านมีอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่รับบริจาคมาพร้อมบ้านหลังใหม่ มีตู้เย็น เตาแก๊ส กระทะไฟฟ้า และพัดลมตัวเก่าสภาพไม่พร้อมใช้งาน ภายในบ้านถูกจัดอย่างเป็นระเบียบสะอาดเรียบร้อย มีห้องครัว และห้องน้ำในตัว มีข้าวสารที่ไปขอมาจากวัด และอุปกรณ์ทำครัว ส่วนอาหารวันนี้มีเพื่อนบ้านเอาไข่มาให้ 2 ฟอง พบ ด.ช.พงศกร นิราชโศรก อายุ 9 ปี กำลังล้างจานอย่างขยันขันแข็ง และเข้าครัวทำกับข้าว โดยใช้กระทะไฟฟ้าทอดไข่ไก่ 1 ฟอง (แก๊สหมดถังไม่มีเงินเติม) ซึ่งลีลาในการทอดมีความชำนาญดีการหยิบจับกระฉับกระเฉง ต่อมา ด.ช.จิรายุ อายุ 6 ขวบ หยิบซีอิ๊วขาวมาเทราดลงที่ข้าวนั่งคลุกกินด้วยความหิวอย่างเอร็ดอร่อย และได้นำไปแบ่งให้พ่อและพี่ชาย คนละคำ 2 คำ เพื่อกินคลายหิว เพราะทั้งครอบครัวไม่ได้ทานข้าวเช้า ส่วนข้าวเที่ยงก็ทานข้าวคลุกซีอิ๊วขาว ซึ่งปกติแล้วงานบ้านทุกอย่างพี่สาวคนโต คือ ด.ญ.กัลยา นิราชโศรก อายุ 14 ปี จะเป็นผู้ดูแลทุกอย่างแต่เคราะห์ร้ายถูกสุนัขกัดที่นิ้วมือทั้ง 2 ข้างและที่ท้อง จนทำให้ไม่สามารถทำงานได้ และโดนน้ำไม่ได้ ภาระทุกอย่างจึงตกไปอยู่ที่น้องชายคนกลางคือ ด.ช.พงศกร อายุ 9 ขวบ




ในทุกๆ เช้านายอนุชิต นิราชโศรก (พ่อ) อายุ 36 ปี กับลูกชายคนเล็กวัย 6 ขวบ จะขับรถจักรยานยนต์พ่วงข้างไปรอรับพระที่จะออกไปบิณฑบาต โดยใช้ขาซ้ายที่มีอยู่ สตาร์ทเครื่อง ใส่เกียร์ ออกเดินทางจากบ้านไปวัด ระยะทางกว่า 1 กม. โดยรับพระบิณฑบาต ระยะทางไกลกว่า 3 หมู่บ้าน และจะกลับมาพร้อมกับข้าวมื้อที่อร่อยที่สุด ซึ่งหลังจากหลวงพ่อฉันเสร็จ ก็จะแบ่งอาหารให้นายอนุชิต เอากลับมาทานกับลูกๆที่บ้าน

นายอนุชิต นิราชโศรก (พ่อ) อายุ 36 ปี เล่าว่า เมื่อปีที่น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่กรุงเทพมหานคร ตนเลยไปช่วยหน่วยทหาร ทางทหารเลยให้ตนช่วยลากเรือพลาสติกขนอาหารไปแจกจ่ายให้ประชาชนตามซอยต่างๆ และรับส่งประชาชนที่จะเข้า-ออก โดยการเดินลุยน้ำซึ่งลึกเท่าคอ ลากเรือไป-มา ตนอาสาช่วยได้อยู่ประมาณ 3 เดือน ส้นเท้าขวาเป็นแผลเสียดสี จึงเกิดอาการติดเชื้อ และขาขวาก็เริ่มมีสีคล้ำจนกลายเป็นสีดำในที่สุด ตนเลยเข้ารับการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลในเขตกรุงเทพ และกลับมารักษาตัวที่สุรินทร์ ทีมแพทย์ที่ จ.สุรินทร์ระบุ อาการขาขึ้นเป็นสีดำจะลุกลามขึ้นวันละ 1 เซนติเมตร กระทั่งต้องเข้ารับการรักษาโดยด่วนโดยการตัดขาที่ติดเชื้อทิ้งไป ต่อมาทางโรงพยาบาลที่ จ.สุรินทร์ ได้ส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลในเขตกรุงเทพเพื่อไปรักษาอาการติดเชื้อกว่า 2 ปี แพทย์ระบุว่า ตนมีภูมิต้านทานทางร่างกายต่ำ เพราะเป็นโรคธาลัสซีเมีย (โรคโลหิตจาง) ซึ่งในขณะที่ตนลุยน้ำช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันนั้น ตนเองก็ไม่คิดว่าต้องมาเป็นแบบนี้ หลังจากแพทย์อนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาล ตนและครอบครัว ก็ย้ายกลับมาอยู่ที่บ้านแฟน ที่ จ.ศรีสะเกษ แล้วจึงย้ายเข้ามาอยู่ที่สุรินทร์ อยู่ได้สักระยะหนึ่ง แฟนตนไม่สามารถทนอยู่กับความลำบากที่กำลังเผชิญอยู่ได้ จึงขอเดินทางเข้าไปทำงานที่กรุงเทพฯ และได้ไปมีครอบครัวใหม่ มีลูกใหม่ ทิ้งลูกไว้ให้ตนเลี้ยงดูทั้ง 3 คน ตนรู้สึกท้อมากในขณะนั้น ทั้งเรื่องลูก และจะต้องเข้าโรงพยาบาลอยู่ตลอด ซึ่งปัจจุบันนี้ตนก็ยังต้องพึ่งยาคลายเครียด ยาแก้โรคซึมเศร้าอยู่



ตอนนั้นตนไม่รู้จะทำมาหากินอะไร จึงเดินทางไปส่งพระบิณฑบาตและพระก็จะแบ่งอาหารมาให้ ซึ่งตนก็จะเอามาให้ลูกๆ จะกินได้แค่ 2 มื้อคือ เช้า-เที่ยง เพราะส่วนใหญ่จะเป็นกับข้าวสำเร็จ ไว้ได้ไม่เกินเที่ยง ส่วนอาหารเย็นก็หาซื้อกับข้าวทำกินเอง และปัจจุบันนี้ตนเองร่างกายไม่ค่อยแข็งแรงเหมือนเมื่อก่อนแล้ว ตนจึงไม่สามารถออกไปส่งพระบิณฑบาตได้ ทางพระเองก็แบ่งข้าวสาร-อาหารแห้ง มาให้กินกัน รายได้ตอนนี้มีแค่เงินเดือนผู้พิการ 800 บาท และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หากเวลาที่ตนและลูกต้องเข้าโรงพยาบาลก็ต้องไปหาหยิบยืมน้าๆอาๆ และเพื่อนบ้านบ้าง ซึ่งตอนนี้ตนเองก็มีโรคประจำตัวอยู่หลายโรค ทั้งโรคธาลัสซีเมีย คือโรคโลหิตจาง ซึ่งถ่ายทอดทางพันธุกรรมและลูกสาวคนโตก็ได้รับโรคนี้ด้วย ต้องไปรับเลือดที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดทุกเดือน ตน 1 ครั้ง ลูกตนอีก 1 ครั้ง หนึ่งเดือนเข้าโรงพยาบาลประมาณ 2-4 ครั้ง ซึ่งทุกครั้งตนจะต้องขับมอเตอร์ไซด์พ่วงข้าง และต้องพาลูกๆไปทุกคน เพราะทิ้งลูกคนเล็กไว้ไม่ได้ ระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร หากวันไหนที่ตนขับไม่ไหว ก็จำเป็นต้องให้ลูกสาวเป็นคนขับแทน

สำหรับลูกสาวคนโตตอนนี้อายุประมาณ 14 ปี เรียนชั้น ม.1 โรงเรียนประจำตำบล แต่ลูกไม่ได้ไปเรียนเพราะตนไม่มีเงินให้ลูกไปเรียนประมาณปีกว่าๆแล้ว อีกอย่างตนก็จำเป็นจะต้องเข้าโรงพยาบาลอยู่เป็นประจำและและลูกสาวก็ต้องเข้าไปรับเลือดและลูกสาวก็ต้องมาดูแลตนด้วย เพราะม้ามตนเริ่มโตเลยเกิดอาการเจ็บปวดที่ท้องทำอะไรไม่ได้เลย กินข้าวก็ปวดเพราะกระเพาะขยายตัวไปโดนม้าม เดินได้ไม่ถึง 10 เมตร ซึ่งแต่ละวันลูกสาวต้องรับผิดชอบงานบ้านทุกอย่าง ทั้งหุงข้าว ล้างจาน ซึ่งเวลาที่ตนเจ็บปวดเมื่อยเพราะอาจจะเดินมากไปหรือนั่งมากไป ลูกสาวก็จะมาบีบนวดให้ ส่วนโรคที่ 2 คือโรคโรคเมลิออยด์ อาการมีไข้สูงจนต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล

การกินอยู่บางครั้งก็มีกินบ้าง ไม่มีกินบ้าง หากไม่มีกับข้าวลูกๆ ก็จะราดซอสคลุกข้าวกินเปล่าๆ บางครั้งเพื่อนบ้านสงสาร เอาอาหารมาแบ่งบ้าง หากวันไหนไม่มีข้าวสารกรอกหม้อ ตนก็จะไปขอที่วัดเอา สิ่งที่สำคัญที่สุดตอนนี้คือ แทพย์ให้ตนตัดสินใจว่าจะผ่าม้ามหรือไม่ หากไม่ผ่าทางโรงพยาบาลก็จนปัญญาจะช่วยให้หาย ส่วนตัวของตนเองก็อยากผ่า เพื่อนบ้านที่มาเยี่ยมก็แนะนำให้ผ่า ซึ่งม้ามมันโตมากแล้ว มันดูดเลือดไปหมดเพราะร่างกายตนไม่สามารถสร้างเลือดเองได้เหมือนคนปกติ แต่มันก็ลำบากเรื่องค่าใช้จ่าย เพราะไม่รู้หลังผ่าตัด จะต้องนอนพักรักษาตัวอยู่นานแค่ไหน และลูกคนเล็กกับคนที่ 2 ก็ต้องเรียนด้วยไม่มีใครดูแล เลยทำให้ลำบากใจในการตัดสินใจ และก็ไม่มีเงินที่จะไปนอนรักษาด้วย เมื่อหลายปีก่อนทาง อบต.ส่งชื่อไปขอความช่วยเหลือจากหน่วยส่งเคราะห์ ได้มา 2,000 บาท และตอนที่ผู้ว่าฯเดินทางมาที่ ต.ราม ตนก็ได้เงินช่วยเหลืออีก 2,000 บาท



อย่างไรก็ตาม หากผู้ใจบุญมีจิตศรัทธาอยากช่วยเหลือ สามารถโอนเงินเข้าบัญชีได้ที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ชื่อบัญชี นายอนุชิต นิราชโศรก เลขที่บัญชี 403-382280-7 หรือโทรศัพท์  080-174-5803