คณะทำงานสัตว์หายากตั้งเป้าเพิ่มพะยูน 50 % ใน 10 ปี

2019-08-19 13:30:08

คณะทำงานสัตว์หายากตั้งเป้าเพิ่มพะยูน 50 % ใน 10 ปี

Advertisement

อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สั่งคณะทำงานสัตว์หายาก ทำแผนเพิ่มจำนวนพะยูนให้ได้ 50% ภายใน 10 ปี ตั้ง "พะยูนโปรเจค" ต่อต้านขยะทเล เตรียมเสนอ 17 ส.ค. เป็นวันพะยูนแห่งชาติ ของทุกปี

เมื่อวันที่ 19 ส.ค. ที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เรียกประชุมพร้อมสั่งการให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จัดทำแผนการอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ ภายหลังการสูญเสียพะยูนมาเรียม โดยมีการกำหนดเป้าหมายให้เพิ่มจำนวนพะยูนในประเทศไทยให้ได้ 50% ภายใน 10 ปี โดยให้ใช้บทเรียนจากกรณีมาเรียมที่คนทั้งประเทศได้ให้ความรัก ความหวังกับการเลี้ยงดูมาเรียมและไม่ต้องการให้มาเรียมต้องตายฟรี ทั้งนี้นายวราวุธ ได้กำชับให้มีการถอดบทเรียน ลิบงโมเดล ซึ่งสามารถเพิ่มจำนวนพะยูนจาก 125 ตัว เป็น 185 ตัว ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยความสำเร็จ 3 ประการ คือ 1) คนที่รักพะยูน 2) แหล่งหญ้าทะเลที่สมบูรณ์ และ 3) การสร้างความสมดุลของการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรในพื้นที่

ด้านนายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า ได้กำหนดแผนปฏิบัติการมาเรียม ซึ่งมีพื้นที่เป้าหมาย 6 พื้นที่ในการนำลิบงโมเดลไปปรับใช้ ประกอบได้ด้วย 1) เกาะพระทอง จ.พังงา 2) ป่าคลอก และเกาะยาว อ่าวพังงา 3) ปากน้ำกระบี่ จ.กระบี่ 4) อ่าวบ้านดอน จ.สุราษฎร์ธานี 5) อ่าวสัตหีบ จ.ระยอง และ 6) ปากน้ำประแส จ.ระยอง ซึ่งทั้ง 6 พื้นที่เป็นบริเวณที่มีแหล่งหญ้าทะเลที่สำคัญ และเคยมีการพบพะยูนอยู่อาศัย


นายจตุพร ได้เน้นย้ำให้ใช้งานวิชาการเป็นฐานในการกำหนดมาตรการที่เหมาะสม ให้มีการลาดตระเวนทางทะเลเชิงคุณภาพร่วมกับชุมชนในพื้นที่ ให้มีการปรับเปลี่ยนเครื่องมือประมงที่เป็นสาเหตุการตายของพะยูนและส่งเสริมการท่องเที่ยวชมพะยูน โดยกำชับให้ใช้อาสาสมัครพิทักษ์ทะเลเป็นศูนย์กลางในการทำงาน โดยร่วมมือกับจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นอกจากนั้นในส่วนของเกาะลิบง จ.ตรัง จะยกระดับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชมพะยูนที่สำคัญของโลก โดยความร่วมมือในการวางแผนกับภาคธุรกิจและเอกชน รวมทั้งจะมีการจัดประชุมพะยูนโลกที่จังหวัดตรังในปีหน้าเพื่อแลกเปลี่ยนบทเรียนการอนุรักษ์พะยูนในประเทศไทย กับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

ขณะที่ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานสัตว์ทะเลหายาก เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า สถานการณ์พะยูน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2562 พบพะยูนเกยตื้นในพื้นที่ชายฝั่งประเทศไทย ทั้งหมด 16 ตัว 15 ตัวได้เสียชีวิตแล้ว เหลือเพียง ยามีล เพียงตัวเดียวที่ยังอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเฉลี่ยแล้วในไทยมีพะยูนเสียชีวิตปีละ 10-12 ตัว ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิต ร้อยละ90 เกิดขึ้นจากเครื่องมือการประมง วันนี้จึงได้กำหนดเป้าหมาย "แผนพะยูนแห่งชาติ" มีทั้งหมด 3 เป้าหมาย ประกอบด้วย 1) การเพิ่มจำนวนพะยูนให้ได้อย่างน้อยอีก 50% ในระยะเวลา 10 ปี (ปัจจุบันมีพะยูน 250 ตัว) 2) การจัดการพื้นที่ "พะยูนโมเดล" โดยใช้พื้นที่ จ.ตรัง เป็นต้นแบบ และอีก 12 จังหวัด เพื่อทำให้พะยูนที่เคยตายลดลงเหลือครึ่งหนึ่ง 45% ในเขตอุทยานฯ ไม่เกิน 20% โดยทำงานร่วมกับภาคประชาชน 3) "มาเรียมโปรเจค" เสนอตั้งวันที่ 17 ส.ค. ของทุกปีเป็นวันพะยูนแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่มาเรียมเสียชีวิต โดยจะมีการจัดกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ ซึ่งมีเป้าหมายหลักคือกำจัดขยะทะเล รวมทั้งจัดตั้งกองทุนมาเรียม ระดมทุนเพื่อนำไปใช้เพื่อสนับสนุนให้ชาวบ้านอยู่กับพะยูนให้ได้