สิ้น “นิจ หิญชีระนันทน์” ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์

2019-08-19 11:30:54

สิ้น “นิจ หิญชีระนันทน์” ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์

Advertisement

สิ้น “นิจ หิญชีระนันทน์” ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (การออกแบบผังเมือง) พ.ศ.2557 มีพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ 20 ส.ค.เวลา 17.00 น. สวดพระอภิธรรมศพ 20-24 ส.ค. ณ ศาลาจารุมิลินท วัดชลประทานรังสฤษดิ์ จ.นนทบุรี

เมื่อวันที่ 19 ส.ค. นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เปิดเผยว่า นายนิจ หิญชีระนันทน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (การออกแบบผังเมือง) พ.ศ.2557 ได้ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 18 ส.ค. ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 23.00 น. ที่ รพ.ชลประทาน จ.นนทบุรี ด้วยโรคชรา สิริรวมอายุ 95 ปี โดยจะมีพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ วันที่ 20 ส.ค.เวลา 17.00 น. และกำหนดสวดพระอภิธรรมศพระหว่างวันที่ 20-24 ส.ค.เวลา 19.00 น. ณ ศาลาจารุมิลินท วัดชลประทานรังสฤษดิ์ ต.บางตลาด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จะดำเนินการขอพระราชทานเพลิงศพให้ต่อไป

อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวต่อว่า ในส่วนของการช่วยเหลือด้านต่าง ๆ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จะดำเนินการมอบเงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิตเพื่อร่วมการบำเพ็ญกุศลศพ จำนวน 2 หมื่นบาท และเงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเพื่อเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1.5 แสนบาท


สำหรับประวัติของ นายนิจ หิญชีระนันทน์ เกิดเมื่อวันที่ 30 พ.ค.2467 ที่ กทม. เป็นผู้นำวิชาชีพและประสบการณ์มาใช้ประโยชน์แก่สังคมโดยรวมอย่างเต็มประสิทธิภาพ ทุกจังหวะการดำเนินชีวิตไม่มีวันใดที่จะไม่คำนึงถึงควานสำคัญของสิ่งแวดล้อม บ้านเมืองและความเป็นไทย โดยท่านได้ค้นพบเมืองโบราณ “จันเสน” เมืองโบราณสมัยทวารวดีใน จ.นครสวรรค์ ด้วยวิธีเทคนิคการอ่าน แปล และการวิเคราะห์ลักษณะภูมิประเทศจากภาพถ่ายทางอากาศ เป็นผลให้กรมศิลปากรได้รับความช่วยเหลือด้านวิชาการและงบประมาณในการจุดค้นจากสหรัฐอเมริกา

นายนิจ เป็นผู้ริเริ่ม แนวความคิดเรื่องการ “อนุรักษ์” จุดประกาย ส่งเสริมและแนะนำโครงการจนเกิดเป็นโครงการอุทยานประวัติศาสตร์อยุธยาและโครงการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย รวมถึงงานอนุรักษ์นิวาศสถานเดิมของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ครั้งทรงรับราชการเป็นพระราชวรินทร์ (ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) ทรงอุทิศถวายเป็นหอพระไตรปิฏกที่วัดระฆังโฆสิตาราม นายนิจ แสดงออกซึ่งหลักการที่มุ่งมั่นไม่ผันแปร ซึ่งเป็นความสง่างาม (Intehrity) และเป็นแบบอย่างที่ดี เป็นผู้ที่มีหลักการมั่นคงในทุกเรื่องของการนำเนินชีวิตไม่ว่าจะเป็นเรื่องความซื่อตรง ความถูกต้อง

นอกจากนี้ นายนิจ ยังเน้นหลักการที่สร้างความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์แก่งาน คือ มีบูรณาการหลายศาสตร์และหลายมิติ มีบูรณาการหรือการสร้างดุลยภาพระหว่างของเก่าดั้งเดิมกับของใหม่ และงานมีความลุ่มลึก ท่านทำการค้นคว้าข้อมูลต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากส่วนของการสร้างสรรค์งาน ท่านยังรับเชิญเป็นวิทยากรให้ความรู้ด้านสถาปัตยกรรมและผังเมือง ให้ความรู้ความคิดเห็นด้านการอนุรักษ์และพัฒนาเมือง เผยแพร่ประสบการณ์และผลงานสร้างสรรค์มาในอดีต แก่สถาบันต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (การออกแบบผังเมือง) พ.ศ.2557