ป้องกันซ้ำรอย "มาเรียม" อาจเลี้ยง "ยามีล" ในอควาเรียม

2019-08-18 17:25:54

ป้องกันซ้ำรอย "มาเรียม"    อาจเลี้ยง "ยามีล" ในอควาเรียม

Advertisement

ผอ.ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ ชี้กรณีการอนุบาลมาเรียมและมาเรียมตาย เป็นประโยชน์ต่อการทำงานด้านการอนุบาลสัตว์น้ำที่กำพร้า และส่งทอดต่อไปถึงการดูแล "ยามีล" ที่จะต้องให้หย่านมก่อน จะปล่อยคืนธรรมชาติ หากทดลองปล่อยแล้วไม่ได้ก็จำเป็นต้องเลี้ยงในอควาเรียม เหมือนในต่างประเทศ

รศ.สพญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ  ผอ.ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กรณีการอนุบาลมาเรียมในระบบเปิดตามธรรมชาติ และการตายของมาเรียม เกิดประโยชน์อย่างมากต่อทางวิชาการและการแพทย์ด้านสัตว์น้ำ ทำให้เราเห็นว่าแนวทางที่จะปฏิบัติที่จะช่วยเหลือลูกสัตว์กำพร้า ลูกสัตว์ทะเลหายากกำพร้า ควรจะเป็นอย่างไรก่อนที่เราจะปล่อยเขาคืนสู่ธรรมชาติ เพราะว่าบางทีธรรมชาติก็ไม่ได้สวยงามและดีอย่างที่เราคิด  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่มีพวกมลภาวะต่างๆเกิดขึ้น หรือว่าขยะต่างๆเกิดขึ้น ดังนั้น เราก็ได้เรียนรู้ว่าถ้ามีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกครั้งเราจะจัดการอย่างไร และในทางสัตวแพทย์เองก็ได้เรียนรู้ถึงการให้ยา การดูแลรักษาโรคของพะยูน และวิธีการเจาะเลือด  วิธีการป้อนอาหารอะไรต่างๆ จากมาเรียม และการดูแลสิ่งแวดล้อมเรื่องปัญหาขยะไม่ให้มีในทะเล เพื่อความปลอดภัยของสัตว์   และจะส่งต่อไปถึงการดูแลยามีลหลังจากนี้ เพราะยามีลเนื่องจากว่าอยู่ในสภาพที่แตกต่างจากมาเรียมมาก  ยามีลอยู่ในพื้นที่ที่ปกป้องอยู่แล้ว  ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งดูแลอยู่แล้วก็มีการเสริมหมอ รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากทางกรมอุทยาน ทหารเรือแล้วก็ทางสัตวแพทย์จุฬาก็ต้องเข้าไปช่วยกันอย่างเต็มที่เช่นกัน และคิดว่าตอนนี้เราก็คงจะต้องปรับยามีลให้ไปอยู่ในพื้นที่กว้างขึ้น เพื่อให้สบายขึ้น หวังว่าน่าจะยังไม่มีปัญหา

ส่วนในเรื่องที่จะนำยามีลไปเลี้ยงตามแนวทางตามธรรมชาติตามที่ทุกฝ่ายคาดหวังไว้เดิมนั้น  คงจะต้องให้ยามีลเลิกนมก่อน เพราะว่าในธรรมชาติไม่มีนมให้กิน แต่พวกคนมีนมให้กินเพราะฉะนั้นถ้าหย่านมเสร็จแล้ว ขึ้นตอนก็อาจต้องลองเอาไปปล่อยดูก่อนในธรรมชาติ ถ้าค่อยๆปล่อยแล้วเขาดูแลตัวเองได้ ก็ปล่อยไป แต่ถ้าดูแลตัวเองไม่ได้ ก็จะต้องเอากลับมาอยู่ในอควาเรียม เหมือนในต่างประเทศเขาก็ทำกันแบบนี้หลายแห่ง เช่น ที่ซิดนีย์ คือ ถ้าสัตว์อยู่ได้เราก็ให้อยู่ ถ้าอยู่ไม่ได้แล้วก็กลับมาเลี้ยงต่อ ในส่วนกรณีสัตว์สัมผัสกับคนสามารถติดเชื้อได้เช่นกัน  เพราะฉะนั้นอาสาสมัครที่จะมาช่วยดูแลก็จะต้องมีการคัดเลือกแล้วก็ห้ามป่วย ต้องทำความสะอาดฆ่าเชื้อก่อนที่จะเข้าไป หรือดูแลสัตว์แล้วก็ไม่เปิดให้คนนอกเข้า เพราะเกรงว่าเชื้อโรคต่างๆจะเข้าไป