เตรียมอพยพชาวโรฮีนจากลับพม่าครั้งใหม่

2019-08-16 12:50:49

เตรียมอพยพชาวโรฮีนจากลับพม่าครั้งใหม่

Advertisement

รัฐบาลเมียนมาและรัฐบาลบังกลาเทศ จะเริ่มความพยายามครั้งใหม่ในสัปดาห์หน้า ในการอพยพผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมโรฮีนจาหลายแสนคน ที่หลบหนีความรุนแรงจากรัฐยะไข่ ทางภาคตะวันตกสุดของเมียนมา ข้ามแดนเข้าสู่บังกลาเทศ เกือบ 1 ปีหลังจากความพยายามครั้งใหญ่ล้มเหลว

ชาวโรฮีนจากว่า 730,000 คน หนีข้ามแดนจากรัฐยะไข่เข้าสู่บังกลาเทศ หลังจากกองทัพเมียนมาเปิดฉากปฏิบัติการกวาดล้างกลุ่มติดอาวุธ ในเดือน ส.ค. 2560 ซึ่งองค์การสหประชาชาติระบุว่า “มีเจตนาล้างเผ่าพันธุ์” และผู้ลี้ภัยโรฮีนจาจำนวนมากปฏิเสธที่จะเดินทางกลับยะไข่ เนื่องจากเกรงจะเกิดความรุนแรงอีก

เจ้าหน้าที่เมียนมาและบังกลาเทศ เผยว่า แผนการอพยพครั้งใหม่ มีผู้ลี้ภัยรวมทั้งหมด 3,540 คนผ่านการตรวจสอบความพร้อม และความสมัครใจ ในการเดินทางกลับสู่เมียนมา โดยคนกลุ่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของผู้ลี้ภัยกว่า 22,00 คน ที่ทางการบังกลาเทศส่งรายชื่อให้เมียนมา เมื่อเร็ว ๆ นี้




นายมยินต์ ธู โฆษกกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา เผยเมื่อวันพฤหัสบดี ว่า ผู้ลี้ภัยชุดแรก 3,540 คน จะเดินทางข้ามแดนกลับสู่เมียนมา ในวันที่ 22 ส.ค.

ความพยายามก่อนหน้านี้ ในการโน้มน้าวให้ชาวโรฮีนจาลี้ภัยกลับคืนสู่ยะไข่ ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากผู้ลี้ภัยหวาดวิตกเรื่องความปลอดภัย และการเจรจาครั้งล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ตัวแทนชาวโรฮีนจาได้ยื่นเงื่อนไข ให้รัฐบาลเมียนมารับรองสิทธิความเป็นพลเมืองของชาวโรฮีนจาในประเทศ แต่ยังไม่มีการตอบรับจากทางการเนปิดอว์

ขณะเดียวกัน แหล่งข่าวของกองทัพเมียนมา รายงานว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 15 คน เมื่อวันพฤหัสบดี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกของกองกำลังรักษาความมั่นคง และเจ้าหน้าที่สูญหายไป 4 คน โดยกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรงจากชนกลุ่มน้อยในเมียนมา บุกโจมตีสถานที่ 5 แห่ง ในรัฐฉาน ทางตะวันออกของประเทศและที่อื่น ๆ ซึ่งเป้าหมายรวมทั้งวิทยาลัยการทหารด้วย




กลุ่มติดอาวุธที่เรียกตัวเองว่า “พันธมิตรฝ่ายเหนือ” ออกมาอ้างความรับผิดชอบสำหรับการโจมตีที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนต่อวิทยาลัยบริการเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ในเมืองพิน อู ละวิน ในรัฐฉาน ซึ่งเป็นที่ฝึกและเรียนของวิศวกรกองทัพ และโจมตีสถานที่อื่น ๆ อีก 4 แห่ง

ตุน ตุน นี โฆษกกองทัพเมียนมา กล่าวว่า ทหารยิงต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธใกล้สะพานโกเต็ค เวียดัค ซึ่งเป็นสะพานทางรถไฟที่สร้างขึ้นตั้งแต่ยุคอาณานิคมอังกฤษ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งที่ถือว่ามีความสวยงามมาก

การโจมตีครั้งนี้ ถือเป็นการขยายความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมานานหลายสิบปีในภูมิภาคแห่งนี้ ซึ่งมีกลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่มกำลังต่อสู้เพื่อสิทธิปกครองตนเองมากขึ้นสำหรับชนกลุ่มน้อย ก่อนหน้านี้ ข้อตกลงหยุดยิง ซึ่งสิ้นสุดลงในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ถูกขยายออกไปอีกจนถึงวันที่ 31 สิงหาคมนี้



โฆษกของกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง หรือทีเอ็นแอลเอ ซึ่งเป็นกลุ่มหนึ่งของกลุ่มพันธมิตรฝ่ายเหนือ กล่าวว่า การโจมตีครั้งนี้ เป็นการตอบโต้ปฏิบัติการของกองทัพรัฐบาลในพื้นที่ชนกลุ่มน้อยเมื่อไม่นานมานี้