ฝ่ายค้านยื่น 214 รายชื่อเปิดซักฟอกนายกฯปมถวายสัตย์ (คลิป)

2019-08-16 10:45:50

ฝ่ายค้านยื่น 214 รายชื่อเปิดซักฟอกนายกฯปมถวายสัตย์ (คลิป)

Advertisement

พรรคร่วมฝ่ายค้านนำ 214 รายชื่อ ยื่นประธานสภาฯ เสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริง และเสนอแนะปัญหาต่อ ครม.กรณีถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน แถลงนโยบายต่อรัฐสภาไม่แสดงแหล่งที่มาของงบประมาณ อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญเป็นปัญหาในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล

เมื่อวันที่ 16 ส.ค. ที่รัฐสภา 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดยนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) พร้อมคณะ ได้นำรายชื่อ ส.ส.จำนวน 214 รายชื่อยื่นต่อต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอเสนอญัตติ ขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริง และเสนอแนะปัญหาต่อ ครม.


สำหรับเหตุผลในญัตติ ระบุว่า การที่นายกฯกล่าวนำการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนถูกต้อง ถือว่าเป็นการจงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญอันเป็นเรื่องที่เป็นแบบแผนและขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญ เป็นการกระทำต่อหน้าองค์พระมหากษัตริย์ผู้ใช้อำนาจแทนปวงชนชาวไทยผ่านทางรัฐสภา ครม.และศาลตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 161 การถวายสัตย์ปฏิญาณครั้งนี้จึงเป็นอันใช้บังคับมิได้ตามมาตรา 5 วรรคแรก การกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนของนายกรัฐมนตรี เป็นข้อเท็จจริงที่ประจักษ์ชัดต่อประชาชนทั่วไปและนายกรัฐมนตรีก็ยอมรับข้อเท็จจริงข้างต้นแล้ว แต่ก็ยังไม่ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องกลับเดินหน้าบริหารราชการแผ่นดินต่อไป กรณีดังกล่าวจึงเกิดประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการเข้ารับหน้าที่ของ ครม.จนส่งผลต่อเนื่องไปถึงความถูกต้องสมบูรณ์ของการแถลงนโยบายของ ครม.ต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 25 -26 ก.ค. 2562 อีกทั้งการแถลงนโยบายในครั้งนั้นก็ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบายไม่ละเอียดครบถ้วนตามรัฐนูญมาตรา 162


ดังนั้น ส.ส.ผู้มีรายชื่อท้ายญัตติ จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวน ส.ส.เท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาแล้วเห็นว่าหากยังไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นข้างต้น อาจส่งผลเสียหายต่อประเทศชาติอย่างร้ายแรง เกิดความไม่แน่นอนชัดเจนเกี่ยวกับการเข้ารับหน้าที่ของ ครม.จนอาจส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินที่ได้ดำเนินการไปแล้ว และกำลังดำเนินการอยู่ จึงได้เข้าชื่อร่วมกันเสนอญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงและเสนอแนะปัญหาต่อ ครม. โดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 152 ดังนั้นจึงเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปดังกล่าว มาเพื่อซักถามข้อเท็จจริงและเสนอแนะปัญหาต่อ ครม.ได้ชี้แจงข้อเท็จจริง และแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป ส่วนเหตุผลและรายละเอียดจะได้ชี้แจงในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อไป อนึ่งญัตติที่ข้าพเจ้าทั้งหลายได้เสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้ มีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวพันถึงการปฏิบัติหน้าที่ของ ครม.ว่าจะเป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งหากปล่อยเนิ่นนานช้าไปอาจส่งผลกระทบเสียหายอย่างร้ายแรงต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ข้าพเจ้าทั้งหลายจึงขอความกรุณามายังท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรได้โปรดดำเนินการตามญัตตินี้เป็นเรื่องเร่งด่วนด้วย

นายชวน กล่าวภายหลังการรับหนังสือว่า ตามกระบวนการตามมาตรา 152 เพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไป ถือเป็นเรื่องใหม่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งของเดิมไม่มีกำหนดไว้  และระเบียบตามมาตราดังกล่าวยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ  มีแต่เรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จึงต้องอนุโลมตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเดิมไปก่อน และจากนี้ตนจะนำไปมอบให้นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ในฐานะรับผิดชอบเรื่องกระทู้และญัตติตรวจสอบความถูกต้อง หากไม่มีอะไรต้องแก้ไข ตนจะแจ้งให้ผู้เสนอญัตติทราบภายใน 7 วันก่อนที่จะนำบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระเป็นเรื่องด่วน และแจ้งให้ครม. ทราบต่อไป ซึ่งคาดว่าน่าจะเปิดอภิปรายทั่วไปตามญัตตินี้ได้ภายในเดือนส.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม การพิจารณาต้องยึดตามข้อกฎหมายเป็นหลัก รัฐสภาไม่มีแนวทางอื่นนอกจากทำตามข้อบังคับการประชุม


“พล.อ.ประยุทธ์ จะมาตอบเองหรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่ต้องไปถามรัฐบาลเอง อย่างกระทู้ถาม ผมเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ ควรต้องมาตอบ เพราะตามหลักการ การที่ไม่มาชี้แจงต่อสภาจะต้องแจ้งถึงเหตุผลตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 150 กำหนด หากครม.เห็นว่า เรื่องนั้นยังไม่ควรเปิดเผย เพราะจะกระทบต่อความมั่นคงก็ต้องแจ้งมา อย่างไรก็ตาม ผมจะให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แจ้งไปยังท่านนายกรัฐมนตรีให้ทราบเรื่องดังกล่าว เพราะก่อนหน้านี้ท่านนายกรัฐมนตรีไม่เคยแจ้งเหตุผลอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรมายังสภาผู้แทนราษฎรเลย”ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าว



ด้าน นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า ตามที่สังคมทราบว่านายกฯถวายสัตย์ไม่ครบและดูเหมือนท่านจะยอมรับแล้ว ประกอบกับการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาที่ไม่แสดงแหล่งที่มาของงบประมาณ ทำให้ทั้ง 2 ประเด็นอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญและเป็นปัญหาของการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลซึ่งจะส่งผลเสียต่อประเทศ ต่อประชาชน เพราะฉะนั้นการใช้มาตรา 152 อภิปรายและเสนอแนะจึงถือเป็นทางออกหนึ่งตามกระบวนการของฝ่ายนิติบัญญัติ เมื่อถามว่า หากนายกฯ ไม่มาตอบหรือส่งผู้อื่นมาอภิปรายต่อประเด็นดังกล่าวแทน นายสุทิน กล่าวว่า เรื่องนี้เทียบเคียงได้เหมือนกันอภิปรายไม่ไว้วางใจซึ่งหากเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีต้องมาตอบด้วยตนเอง มาตรา 150 ระบุชัดว่าหากนายฯไม่มาตอบ ต้องชี้แจงและต้องเป็นมติ ครม.ว่าเหตุใดไม่ตอบ ซึ่งที่ผ่ายมาฝ่ายค้านก็ให้โอกาสให้ตอบแต่ก็ไม่ได้รับคำตอบจนถึงวันนี้

นายสุทิน ยังกล่าวอีกว่า หากนายกฯมีการแก้ไข ลุล่วงจนชัดเจนและสามารถเดินหน้าบริหารบ้านเมืองโดนชัดเจนฝ่ายค้านก็ไม่ติดใจเนื่องจากไม่มีเจตนาที่จะล้มล้างรัฐบาลเพียงแต่อยากทำเรื่องนี้ให้รัฐบาลทำงานได้สะดวกเท่านั้น ก็จะยินดีถอนญัตติให้