ตรวจพบ“แกงไตปลาแห้ง”สารกันบูดเกินมาตรฐาน

2019-08-14 11:30:45

ตรวจพบ“แกงไตปลาแห้ง”สารกันบูดเกินมาตรฐาน

Advertisement

“ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ” ร่วมกับ “เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้” เผยผลทดสอบสารกันบูดในผลิตภัณฑ์ “แกงไตปลาแห้ง” รอบสอง พบ 4 ตัวอย่างจาก 15 ตัวอย่างสารกันบูดเกินมาตรฐาน แนะผู้บริโภคดูฉลากของฝากก่อนซื้อ โดยเฉพาะข้อมูลผู้ผลิต การใช้วัตถุ เจือปนอาหาร วันผลิต และวันหมดอายุ


เมื่อวันที่ 14 ส.ค. ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ ในโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ สุ่มเก็บตัวอย่าง “แกงไตปลาแห้ง” จำนวนทั้งหมด 15 ตัวอย่าง จากตลาดสดและร้านขายของฝากในภาคใต้ ส่งตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารกันบูดประเภทกรดซอร์บิก และกรดเบนโซอิก เป็นครั้งที่ 2 (สุ่มตรวจครั้งแรก มี.ค.2561) โดยผลทดสอบพบว่า มีผลิตภัณฑ์แกงไตปลาแห้ง 5 ตัวอย่าง ที่ตรวจไม่พบสารกันบูดทั้ง 2 ชนิด และ มี 6 ตัวอย่าง ที่ตรวจพบสารกันบูดแต่ไม่เกินมาตรฐาน ส่วนที่เหลืออีก 4 ตัวอย่าง ตรวจพบปริมาณสารกันบูดประเภทกรดซอร์บิก หรือกรดเบนโซอิกเกินมาตรฐาน ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 389 พ.ศ. 2561 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 5) อนุญาตให้ตรวจพบวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก ปริมาณสูงสุดได้ไม่เกิน 500 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม และ ประเภทกรดซอร์บิก ปริมาณสูงสุดได้ไม่เกิน 1,000 มก./กก. ในหมวดอาหารประเภทเครื่องปรุงรส


น.ส.มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านอาหาร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ฉลาดซื้อเคยสุ่มตรวจแกงไตปลาแห้งครั้งแรก เมื่อมี.ค. 2561 จำนวน 10 ตัวอย่าง พบว่ามี 5 ยี่ห้อ ที่มีสารกันบูดเกินมาตรฐาน (ร้อยละ 50) ส่วนครั้งนี้ตรวจทั้งหมด 15 ตัวอย่าง พบว่ามี 4 ยี่ห้อ ที่สารกันบูดเกินมาตรฐาน (ร้อยละ 26) ซึ่งดีขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะ 3 ยี่ห้อ ที่มีสารกันบูดเกินมาตรฐานในครั้งแรก ในครั้งนี้พบว่ามีสารกันบูดไม่เกินมาตรฐาน ซึ่งขอชมเชยผู้ประกอบการที่ปรับปรุงสินค้าให้ดีขึ้น ในเรื่องการให้ข้อมูลการใช้สารกันบูด บนฉลากบรรจุภัณฑ์พบว่า แกงไตปลาแห้งที่ตรวจพบสารกันบูดทั้ง 10 ยี่ห้อ ไม่มียี่ห้อใดเลย ที่ระบุว่าใช้วัตถุกันเสีย จึงอยากให้ผู้ผลิตได้ปรับปรุงการแสดงฉลากให้ถูกต้อง เมื่อมีการใช้สารกันบูดจะมากหรือน้อยก็ต้องระบุไว้ให้ผู้บริโภคทราบ


“ในอีกกรณีหนึ่ง ที่ผลตรวจพบว่ามีสารกันบูดปริมาณเล็กน้อยในหลักสิบ หรือ ร้อยกว่าๆ ก็อาจเป็นไปได้ที่ผู้ผลิตไม่ได้ใส่เอง แต่สารกันบูดเหล่านี้ อาจมาจากวัตถุดิบที่เป็นส่วนผสม หากจะใช้คำว่า “ไม่ใช้วัตถุกันเสีย หรือ ปราศจากสารกันบูด” บนฉลากก็ขอให้ตรวจสอบให้แน่ใจก่อน โดยอาจส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไปตรวจกับหน่วยงานที่ให้บริการตรวจคุณภาพอาหาร เมื่อแน่ใจแล้วว่าไม่มีวัตถุกันเสียจึงค่อยระบุบนฉลาก ไม่เช่นนั้นอาจกลายเป็นว่าให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องกับผู้บริโภคได้” นางสาวมลฤดีกล่าว





ด้าน ภญ.ชโลม เกตุจินดา ผู้แทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ กล่าวว่า แกงไตปลาเป็นของฝากภาคใต้ที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว จากผลตรวจสารกันบูด กว่าร้อยละ 73 ที่ไม่เกินมาตรฐาน หรือ ไม่พบสารกันบูดก็ถือว่าน่าชื่นชม โดยเฉพาะผู้ผลิตที่ใช้กระบวนการพาสเจอร์ไรซ์ (pasteurization) ซึ่งไม่ต้องใช้สารกันบูดเลย ก็อยากให้ร้านค้าอื่นๆ ลองศึกษาข้อมูลเพื่อปรับเปลี่ยนไปสู่กระบวนการผลิตที่ไม่ต้องพึ่งพาสารกันบูดหากว่าเป็นไปได้ เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานอาหารของฝากภาคใต้ให้ดียิ่งขึ้น สำหรับผู้บริโภคที่ชอบของฝากจำพวกน้ำพริกหรือแกงไตปลาแห้ง ก่อนซื้ออยากแนะนำให้ดูวันผลิตด้วย อย่าดูแค่วันหมดอายุอย่างเดียว เพราะของฝากจำพวกอาหารที่ผลิตเอาไว้นานเกินไป ก็อาจมีกลิ่นหรือรสชาติที่เปลี่ยนแปลงไป แม้ว่าจะยังไม่หมดอายุ ซึ่งหากผู้ประกอบการสามารถระบุทั้งวันผลิตและวันหมดอายุ ก็จะเป็นการเพิ่มความมั่นใจให้ผู้บริโภคในการเลือกซื้อของฝากที่มีความสดใหม่ รวมทั้งร้านค้าเองก็จะสามารถจัดเรียงสินค้าวางขายตามลำดับก่อนหลังได้อย่างถูกต้องอีกด้วย

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ผลทดสอบสารกันบูดในแกงไตปลาแห้ง 15 ยี่ห้อ