ย้อนรอย “เมถุนธรรม ปฐมปาราชิก”

2019-08-11 17:20:02

ย้อนรอย “เมถุนธรรม ปฐมปาราชิก”

Advertisement

วันนี้เล่าอย่างสันติ เรามาพูดคุยกันพอได้หอมปากหอมคอ ด้วยการหยิบยกเอากรณีของ “พระจูเลียน” พระฝรั่งชาวแคนาดา ฉายา “นักบุญแห่งขุนเขา” อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ที่กระทำความผิดร้ายแรงถึงขั้นอาบัติ “ปาราชิก” ขาดจากความเป็นภิกษุ เพราะไปมีเพศสัมพันธ์กับสตรีเพศ จนกลายเป็นเรื่องอื้อฉาว

วันนี้ ขอยกเอาเรื่องนี้ ขึ้นมาปุจฉา และวิสัชนากันนะครับ

ต้องบอกก่อนนะครับว่า กฎหมายบ้านเมืองกับพระวินัยสงฆ์จะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง กฎหมายบ้านเมืองส่วนใหญ่บัญญัติกันไว้ก่อนเกิดเหตุ ส่วนวินัยสงฆ์ในสมัยพุทธกาล พระพุทธองค์บัญญัติพระวินัย ตามหลังเกิดเหตุแล้วนะครับ ไม่ได้บัญญัติไว้ล่วงหน้าเหมือนกฎหมายบ้านเมือง




เมื่อสืบสาวราวเรื่องย้อนกลับไปต้อนต้นพุทธกาล เชื่อไหมครับว่า ตั้งแต่พรรษาที่ 1 ถึงพรรษาที่ 11 พระพุทธเจ้ามิได้ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้เลย เพราะวัตรปฏิบัติของพระภิกษุสงฆ์ยังดีงามอยู่นั่นเอง แต่ถึงพรรษาที่ 12 ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีเรื่องมัวหมองเกิดขึ้นมาก่อน แต่ขณะที่พระพุทธเจ้าทรงประทับ อยู่ ณ เมืองเวรัญชา พระสารีบุตรเถระได้กราบทูลอาราธนาให้พระพุทธองค์ทรงบัญญัติสิกขาบท เพื่อต้องการให้พรหมจรรย์ได้ดำรงอยู่นานเหมือนกับพรหมจรรย์ของพระผู้มีพระภาคในกาลก่อน

ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ที่พระผู้มีพระภาคจะทรงบัญญัติสิกขาบท ทรงยกปาติโมกข์ ขึ้นแสดงแก่พระสาวกอันจะเป็นเหตุให้พรหมจรรย์ดำรงอยู่ได้ยืนนาน แม้จะเป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าเองก็ยังมิได้ทรงบัญญัติสิกขาบทแต่อย่างใด เนื่องจากในขณะนั้น พระภิกษุสงฆ์ส่วนใหญ่เป็นพระอริยบุคคลทั้งนั้น การรักษาศีลของพระภิกษุสงฆ์ยังเป็นไปตามจารีต และประเพณีตามแบบอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติมาที่เรียกว่า จารีตศีล



พระองค์ได้ตรัสตอบพระสารีบุตรว่า จงรอไปก่อนเถิด สารีบุตร ตถาคตรู้เวลาในเรื่องที่จะบัญญัติสิกขาบทนั้น พระศาสดาจะยังไม่บัญญัติสิกขาบทแก่พระสาวก ไม่ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงตลอดเวลาที่ยังไม่เกิดอาสวัฏฐานิยธรรม (ธรรมอันก่อให้เกิดอาสวะ) ในหมู่ พระภิกษุสงฆ์ เมื่อเกิดอาสวัฏฐานิยธรรมบางอย่างขึ้นในหมู่สงฆ์ ตถาคตจึงจะบัญญัติสิกขาบท จะยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่สาวกเพื่อขจัดธรรมนั้น...สารีบุตร ภิกษุสงฆ์ยังไม่มีเสนียด ไม่มีโทษ ไม่มีสิ่งมัวหมอง บริสุทธิ์ผุดผ่อง ดำรงอยู่ในสารคุณ... ดังนั้นเมื่อมีเรื่องที่นำความเสื่อมมาสู่คณะสงฆ์หมู่มาก โดยมีต้นเหตุของเรื่องที่เกิดนั้นและมีบุคคลผู้ที่เป็นต้นเหตุของเรื่อง พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติสิกขาบทนั้นไว้เป็นเครื่องประกันที่มาและที่ไปของการบัญญัติ

ในช่วงแรกของการประกาศพระศาสนา พระสารียบุตรเถระได้กราบทูลให้ทรงบัญญัติสิกขาบทเพื่อความดำรงอยู่ได้นานแห่งพระศาสนา พระพุทธองค์ทรงเห็นว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะบัญญัติ เพราะยังไม่มีเรื่องเสียหายเกินขึ้นในหมู่ภิกษุสงฆ์ ซึ่งขณะนั้นพระสงฆ์ที่ติดตามพระพุทธเจ้าล้วนแต่เป็นพระอริยบุคคลทั้งสิ้น

ครั้นกาลเนิ่นนานมา สมเด็จพระบรมศาสดา ได้ทำการเผยแพร่พระสัจธรรมคำสอน ก็มีนายสุทินกลันทกบุตร บุตรชายคนเดียวของกลันทเศรษฐี อยู่หมู่บ้านชื่อกลันทคาม ใกล้เมืองเวสาลี แคว้นวัจชี ได้ฟังธรรมจากพระบรมศาสดาแล้วเกิดศรัทธาในพระศาสนาจึงเข้ามาบรรพชาอุปสมบท ครั้นเป็นพระสุทินแล้ว ได้ถือธุดงควัตรอย่างเคร่งครัด ในกูฏาคารศาลาในป่ามหาวัน วันหนึ่งบิดาพระสุทิน นิมนต์ท่านฉันภัตราหาร ที่บ้านเดิมของท่าน



แต่เรื่องไม่น่าจะเกิดและไม่คาดคิดว่าจะเกิดก็เกิดขึ้น หลังจากท่านฉันภัตราหารเสร็จ มารดาเข้ามากล่าวกับท่านว่า ตระกูลนี้เป็นตระกูลมั่งคั่ง มีทรัพย์สมบัติมากมาย เจ้าจงสึกมาครองสมบัติเหล่านี้ และจงทำบุญตามปรารถนาเถิด นางกล่าวถึงสามครั้ง พระสุทินก็ไม่ยินดีที่จะสึก นางจึงกล่าวอีกว่า “ถ้าอย่างนั้นเจ้าจงให้พืชเถิด” กษัตริย์ลิจฉวีทั้งหลายจะได้ไม่นำสมบัติอันตระกูลเราได้สะสมมาไปเสียหากไม่มีทายาทในการสืบสกุล พระสุทินตอบว่า อย่างนั้นพอจะทำได้ แล้วจึงลากลับไปสู่ที่ตนอยู่

ต่อมาไม่นานเมื่อภรรยาเก่าของพระสุทินมีระดู มารดาพระสุทินจึงได้พาไปสู่ที่พระสุทินอยู่ กล่าววิงวอนให้พระสุทินสึกอีก ถึงสามครั้ง พระสุทินก็ยังยืนยันคำเดิมที่จะไม่สึก มารดาจึงขอให้พระสุทินให้พืช เพื่อจะได้มีทายาทสืบสกุล รักษาสมบัติของตระกูล จะได้ไม่ตกไปเป็นของหลวง พระสุทินตกลงใจทำตามคำร้องขออ้อนวอนของมารดา จึงเสพเมถุนธรรม(การมีเพศสัมพันธ์) กับภรรยาเก่าเพื่อให้มีทายาท จะได้บวชต่อโดยไม่ต้องลาสิกขาออกไป ภรรยาเก่าก็ได้ตั้งครรภ์ถึงกำหนดก็คลอดบุตรเป็นชาย หลังจากเสพเมถุนธรรมแล้วท่านมีผิวพรรณหมองคล้ำ พวกภิกษุที่เป็นเพื่อนจึงสอบถาม ครั้นทราบความ จริงแล้วจึงพากันตำหนิท่านแล้วพาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์จึงให้ประชุมภิกษุสงฆ์ แล้วตรัสถามพระสุทิน พระสุทินก็ทูลรับทุกประการ พระองค์ตรัสติเตือนแล้วทรงบัญญัติเมถุนปาราชิกสิกขาบทว่า “ภิกษุใดเสพเมถุนธรรม ภิกษุนั้นต้องอาบัติปาราชิก”

หลังกรณีของพระสุทินแล้ว ก็ยังมีปัญหาที่ทรงให้พระพุทธองค์ทรงบัญญัติสิกขาบท เกี่ยวกับการเสพเมถุนอีกหลายกรณี เชิญหาความรู้กันต่อไป

ต่อมาได้มีเหตุ ภิกษุรูปหนึ่งอยู่ในป่ามหาวันได้เสพเมถุนกับลิง พระพุทธเจ้าทรงทราบจึงรับสั่งให้ประชุมสงฆ์ ทรงสอบสวนภิกษุนั้นรับสารภาพ ทรงตำหนิแล้วทรงบัญญัติเพิ่มเติมว่า “ภิกษุใดเสพเมถุนธรรม โดยที่สุดแม้กับสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย ภิกษุนั้นก็ต้องอาบัติปาราชิก”



นอกจากนี้ ยังมีบัญญัติตามมาอีกเพื่อเป็นการป้องกันว่า หญิง ๓ จำพวก คือหญิงมนุษย์ หญิงอมนุษย์ และสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย ทั้ง ๓ นี้มีทวาร ๓ คือ ปาก ทวารหนัก ทวารเบา ภิกษุเสพเมถุนธรรมกับกับหญิง ๓ จำพวกนี้ทางใดทางหนึ่งต้องปาราชิก

คนมีสองเพศ มี ๓ จำพวก มีทวาร ๓ เหมือนกัน บัณเฑาะก์ ๓ จำพวก ทั้งที่เป็น มนุษย์ อมนุษย์ และสัตว์ดิรัจฉานตัวผู้ มี ๒ ทวาร คือ ปาก ทวารหนัก ชาย ๓ จำพวก ทั้งที่เป็นมนุษย์ อมนุษย์ สัตว์เดรัจฉาน มีทวาร ๒ คือ ปาก ทวารหนัก ภิกษุเสพเมถุนธรรมกับคนมีสองเพศ บัณเฑาะก์ สัตว์เดรัจฉาน และชาย ๓ จำพวกนี้ ทางใดทางหนึ่งต้องปาราชิกในทันที

มาถึงตรงนี้ก็ได้เห็นและเข้าใจชัดขึ้นนะครับว่า อาบัติปาราชิกเป็นมาอย่างไร พุทธศาสนิกชนจะได้เข้าใจมากขึ้น เมื่อพระภิกษุสงฆ์เสพเมถุน จะมีโทษอย่างไรบ้าง

ปาราชิก แปลว่า ผู้พ่ายแพ้ หรือชื่ออาบัติหนักที่สุดในพระวินัย เมื่อภิกษุล่วงละเมิดแม้เพียงข้อใดข้อหนึ่งต้องขาดจากการเป็นภิกษุในทันที บวชเป็นภิกษุอีกไม่ได้ เป็นโทษหนักในพระศาสนา หรือที่เรียกว่า ครุกาบัติ หรืออาบัติหนัก ห้ามสวรรค์ ห้ามนิพพาน ที่พระภิกษุใดล่วงละเมิดต้องขาดจากการเป็นภิกษุทันที ต้องสละสมณเพศ(สึก) และไม่ได้รับอนุญาตให้อุปสมบท(บวช)เป็นภิกษุอีก



แต่ก็มีข้อยกเว้นนะครับ หากเป็นกรณีการเสพเมถุนธรรมที่มิเป็นการต้องอาบัติปาราชิกคือ ๑.ภิกษุไม่รู้สึกตัว ๒.ภิกษุไม่ยินดี ๓.ภิกษุวิกลจริต ๔.ภิกษุมีจิตฟุ้งซ่าน ๕.ภิกษุกระสับกระส่ายเพราะเวทนา ๖.ภิกษุต้นอาบัติ

ดังนั้นในกรณีดังกล่าว พระสุทิน ผู้เป็นปฐมแห่งการประพฤติผิด อันเป็นต้นเหตุทำให้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทนี้ จึงได้รับการยกเว้นความผิด ด้วยเป็นภิกษุต้นอาบัติ คือผู้ต้นเหตุที่ทำให้เกิดสิกขาบท (“อาทิกัมมิกะ)

ปฐมปาราชิก : ว่าด้วยการเสพเมถุน ภิกษุเสพเมถุนหมายความว่า มีเพศสัมพันธ์กับมาตุคามหรือ ผู้หญิงเป็นหลัก เมื่อต้องแล้วต้องขาดจากความเป็นภิกษุทันที เปรียบเสมือนคนที่ถูกตัดศีรษะ แม้จะนำศีรษะมาต่อเข้าใหม่ก็มิอาจจะมีชีวิตอยู่ได้หรือเปรียบเสมือนกับ “ตาลยอดด้วน” หาโอกาสเจริญก้าวหน้ามิได้เลย

ขอจบด้วยพุทธสุภาษิตบทนี้นะครับ

กาเมหิ โลกมฺหิ น อตฺถิ ติตฺติ.

ความอิ่มด้วยกามทั้งหลาย ไม่มีในโลก

หวังว่า พุทธศาสนิกชนทั้งหลายจะเข้าใจตามนี้ และช่วยกันดำรงพระพุทธศาสนาไว้ต่อไปตราบนานเท่านานนะครับ