เวทีเสวนาบทบาทแม่ยุคดิจิทัล แนะ อย่าใช้มือถือ-ไอแพดเลี้ยงลูก โดยเฉพาะ ช่วง 2 ขวบปีแรก ชี้มีผลต่อพัฒนาและสมาธิเด็ก "แอฟ ทักษอร" ระบุใช้ธรรมนูญครอบครัว ทำข้อตกลงร่วมสอนให้ลูกเรียนรู้ พร้อมทำเป็นตัวอย่าง
เมื่อวันที่ 9 ส.ค. น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม.เขตบางซื่อ-ดุสิต พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะผู้สนับสนุนโครงการพัฒนาทักษะสตรีให้เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย จัดกิจกรรมมอบความรู้ให้ผู้หญิงทุกคนได้ดูแลตัวเองและครอบครัวได้ พร้อมมีทักษะและความรู้เท่าทันยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทุกวินาที หัวข้อ “บทบาทแม่ยุคดิจิทัล” โดยมี นพ.อดิสรณ์ ลำเภาพงษ์ กุมารแพทย์ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า และ แอฟ ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ ดารานักแสดงชื่อดัง ตัวแทนคุณแม่ยุคดิจิทัล ร่วมพูดคุย
น.ส.ธณิกานต์ กล่าวว่า ส่วนตัวผลักดันนโยบายด้านสตรีมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านความปลอดภัยของผู้หญิง การพัฒนาทักษะของสตรีให้ดูแลตัวเองและครอบครัวได้ในทุกช่วงวัย เนื่องในโอกาสวันแม่ จะเห็นได้ว่า สตรีมีบทบาททั้งสังคม เศรษฐกิจ เป็นลูกของแม่ และเป็นแม่ของลูก ดังนั้นทำอย่างไรเราจะได้มอบองค์ความรู้เหล่านี้ จึงเชิญ นพ.อดิสรณ์ และคุณแอฟ ทักษอร มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แบ่งปันประสบการณ์ เพราะปัจจุบันยุคสมัยเปลี่ยน การเลี้ยงลูกก็เปลี่ยน ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ด้วยความที่เป็น ส.ส.ในพื้นที่ นอกจากจะช่วยเหลือ ประสานงานต่างๆ ก็อยากเชื่อมคนในชุมชนกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมผลักดันนโยบายต่างๆให้เกิดผลโดยเร็ว
นพ.อดิสรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีปัญหาเด็กติดเกมส์และติดโซเชียล ปกติเด็กจะพัฒนาต้องได้รับการพัฒนาทั้งทางภาษาและกล้ามเนื้อ หากเด็กติดโซเชียลจะไม่ได้พัฒนากล้ามเนื้อ บางครั้งฟังเสียงอย่างเดียว แต่ไม่รู้วิธีการเปล่งเสียง เด็กพวกนี้จะพูดช้า ดูการ์ตูนที่ภาพเปลี่ยนไปตลอด สมาธิก็จะน้อย ดังนั้นหากติดโซเชียลแต่เด็ก ก็จะส่งผลด้านการพัฒนาที่ช้าและกลายเป็นเด็กสมาธิสั้น ดังนั้นในช่วง 2 ขวบปีแรกต้องใช้ให้น้อยที่สุด เรื่องสารสนเทศสำคัญ เด็กโตก็ต้องคอยดู เพราะสนใจเรื่องของเกมส์ แต่เราต้องบริหารจัดการ เราปฏิเสธเทคโนโลยีไม่ได้ แต่คุมได้ว่าจะให้อะไรกับเขา หรือให้เขาเล่นอะไรได้บ้าง โดยวางข้อตกลง หากทำได้ก็ได้รางวัลเพื่อให้เขาภูมิใจในสิ่งที่เขาทำ อีกประเด็นคือ เวลาอยู่กับพ่อกับแม่ มักจะห้ามแต่คุณตาคุณยายมักจะตามใจ ดังนั้นต้องคุยกันให้การปฏิบัติให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน พอเด็กโต ช่วงประถมมัธยม ครูยุคใหม่ให้ส่งการบ้านผ่านกูเกิ้ล คลาสรูม ดังนั้นจะไปห้ามทั้งหมดไม่ได้ กรณีเด็กติดเกมต้องตกลง ดูหรือ ใช้ในช่วงไหนอย่างไร หรือให้ใช้ในพื้นที่ส่วนกลางของบ้านจะได้รับรู้ว่าเด็กเล่นเกมอย่างไร เพราะเกมมีผลต่อพฤติกรรมของเด็ก เราต้องเลือกใช้ให้มีประโยชน์
นพ.อดิสรณ์ กล่าวว่า ในช่วงวัยรุ่น เป็นวัยที่ไม่เชื่อพ่อแม่ เชื่อเพื่อนเป็นหลัก และยิ่งมีสื่อเข้ามามากมายก็จะเตลิดไปใหญ๋ ดังนั้นต้องเข้าใจพวกเขา และยึดมั่นในกติกาของบ้าน แต่จะไปสั่งไม่ได้ เพราะเขาคิดได้และมีเหตุผล บางครั้งต้องถามเขาว่าคิดยังไง รับฟัง ฝึกให้เขาได้ลองคิดลองทำ และทำให้เขารู้สึกว่าเราอยู่ข้างเขาเสมอและรักเขา ดังนั้นต้องเข้าใจเด็กในแต่ละช่วงวัย และมีวิธีในการคุย รับฟังให้มาก
ด้าน แอฟ ทักษอร กล่าวว่า จากประสบการณ์ในการเป็นแม่ยุคดิจิทัล ต้องพยายามศึกษาทุกๆด้าน คอยแก้ปัญหาในแต่ละช่วงวัย และปรับวิธีการเลี้ยงลูกใช้ทั้งความรู้เก่าและใหม่มาผสมผสานให้สอดคล้องกับลูกของเรา ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า 2 ขวบปีแรกไม่ควรให้ลูกรับสื่อดิจิตอล ซึ่งแม้จะยากมากด้วยบริบทของสังคมโดยเฉพาะใน กทม.ที่พบเจอผู้คนมากมาย สุดท้ายก็ต้องรับสื่อ หรือใช้ไอแพด และมือถือ มีบ้างแต่ขึ้นอยู่กับการจัดการของแต่ละบ้าน แต่อย่าฉวยโอกาสใช้เครื่องมือเหล่านี้ช่วยเลี้ยงลูก หรือ เป็นตัวแก้ขัดไปก่อน เพื่อจบปัญหาง่าย แม่จะได้ไปทำอะไรของแม่ ความจริงก็อยากแต่ส่วนตัวคิดว่าไม่คุ้ม เพราะหากเรายื่นไอแพดให้เขาไปแล้ว 1 ครั้ง ก็ต้องมีครั้งที่ 2 และ 3 และครั้งต่อๆไปซึ่งมันจะยากขึ้นเรื่อยๆ จึงคิดว่าอย่าเริ่มเลยดีกว่า แต่เทคโนโลยีก็มีประโยชน์ในการเรียนรู้ ตอนนี้ก็เลยตกลงกับลูกไว้ว่าถ้าจะดู ก็ให้เขาเรียนรู้เรื่องภาษาอังกฤษ เพราะมันจะมีความบันเทิงเหมาะสมกับวัย โดยแม่จะเปิดให้ดูบนทีวี เพราะกำหนดระยะห่างในการดูได้ และกำหนดเวลา ช่วงแรกก็ยากในการพูดคุยทำความเข้าใจ แต่ก็ต้องอธิบายและเลือกการ์ตูน หรือ สารที่เหมาะสมกับวัยของเขา ที่สำคัญต้องสื่อสารกับลูกโดยพยายามให้เขาไม่รู้สึกว่ามันเป็นของต้องห้าม แต่ว่าต้องอยู่ในข้อตกลงในครอบครัว เช่น การ์ตูน จะดูได้ต้องคืนวันศุกร์เท่านั้น และมีเวลาให้ดู 15 นาที แล้วปิด และไปทำหน้าที่ของตัวเอง ถ้าทำได้ก็ได้ดู ทุกศุกร์ หากไม่ได้ก็จะไม่ได้ดูเลย เหมือนเป็นการฝึกเรื่องรักษาเวลาไปด้วย
"ทั้งนี้ส่วนตัวอยู่บ้านจะไม่ได้เปิดทีวีเลย เนื่องจากกลัวว่าลูกจะดูด้วย ต้องทำให้เขาเห็นว่า เราไม่ได้ติดทีวีและมือถือ เวลาอยู่กับลูก เพราะตัวอย่างที่ดีสุดของลูก คือการทำให้เขาดู แต่เวลาไม่อยู่กับลูกก็มีเช็คข่าวสารบ้าง หากบ้านไหนมีคนอยู่ด้วยกีนหลายๆไว ก็อยากให้ทุกคนครอบครัวเป็นไปในแนวทางเดียวกันการรักษากฎจะได้ง่าย และไม่ยากสำหรับคนคุมกฎด้วย "แอฟ ทักษอร กล่าว
แอฟ ทักษอร กล่าวอีกว่า จริงๆการเป็นแม่ไม่ง่ายเลย หลายๆอย่างลูกสอนแม่ โดยเฉพาะทักษะในการอยู่รอดและผ่านมาได้ ต่างคนต่างสอน และในอนาคตเขาน่าจะมีความรู้เทคโนโลยีล้ำเราไปมาก ส่วนเรื่องการดูแลจิตใจสุดท้ายก็กลับมาที่บ้านเรา เรื่องความรัก ความอบอุ่น ความเข้าใจ ความรู้สึกปลอดภัย การที่เขาสามารถคุยกับทุกคนในครอบครัวได้ เรื่องพวกนี้จะทำให้เขามีความเข้มแข็งในจิตใจ ต้องเริ่มจากความสุขที่บ้าน พอไปเจอสังคมที่ใหญ่ขึ้นเขาก็จะเข้มแข็ง นอกจากนี้ยังทำใจและพยายามทำความเข้าใจลูกที่จะโตขึ้นในอนาคต สร้างธรรมนูญครอบครัว โดยให้เขาเข้ามามีส่วนในการคิดและตกลงร่วมกับเราด้วย