จิตแพทย์ชี้อดทนต่อปัญหาครอบครัวน้อยทำหย่าร้างพุ่งปีละแสน

2019-08-04 10:30:48

จิตแพทย์ชี้อดทนต่อปัญหาครอบครัวน้อยทำหย่าร้างพุ่งปีละแสน

Advertisement

จิตแพทย์เผย!ชีวิตสมรสไทยหย่าร้างปีละกว่า 1 แสนคู่ ชี้สาเหตุสามีภรรยาใช้เวลาส่วนใหญ่กับการทำงานนอกบ้าน อาจเกิดความเครียดทั้งจากหน้าที่การงาน สภาวะสังคม เศรษฐกิจทำให้ต้องทำงานหนักมากขึ้น ความอดทนต่อปัญหาในครอบครัวอาจน้อยลงเนื่องจากทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีงานทำมีรายได้ แนะะพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวคงบทบาทครอบครัวให้ลูกต่อเนื่อง


พญ.กรองกาญจน์ แก้วชัง รอง ผอ.ด้านการแพทย์และประธานทีมนำทางคลินิก รพ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับปัญหาการหย่าร้างของครอบครัวไทยว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สถิติของกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย ในปี 2547 มีอัตราการหย่าร้างร้อยละ 24 โดยมีผู้จดทะเบียนสมรส 365,721 คู่ จดทะเบียนหย่า 86,982 คู่ ล่าสุดในปี 2560 อัตราการหย่าร้างเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 41 มีผู้จดทะเบียนสมรส 297,501 คู่ หย่า 121,617 คู่ เฉลี่ยหย่าวันละ 333 คู่ จังหวัดที่มีจำนวนหย่าร้างสูงที่สุดในปี 2560 อันดับ1 คือกทม.16,187 คู่ รองลงมาคือชลบุรี 6,476 คู่ และนครราชสีมา 4,572 คู่ สาเหตุของการหย่าร้างในปัจจุบันนี้ อาจเนื่องมาจากลักษณะของครอบครัวยุคใหม่ เป็นครอบครัวเดี่ยวคืออยู่กันเฉพาะพ่อแม่ลูก ทำให้มีความเปราะบาง และจากแรงกดดันภายนอก สามีภรรยาใช้เวลาส่วนใหญ่กับการทำงานนอกบ้าน อาจเกิดความเครียดทั้งจากหน้าที่การงาน สภาวะสังคมและเศรษฐกิจเช่นภาระหนี้สินต่างๆ ทำให้ต้องทำงานหนักมากขึ้น ขณะเดียวกันความอดทนต่อปัญหาในครอบครัวอาจน้อยลงเนื่องจากทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีงานทำมีรายได้ 

“การหย่าร้าง เป็นการสิ้นสุดอย่างหนึ่งของชีวิตสมรส เกิดขึ้นได้ทั่วไป ไม่ใช่เรื่องผิดปกติหรือเป็นความผิดของใคร ซึ่งจะมีผลกระทบต่ออารมณ์จิตใจทำนองการสูญเสีย ผู้ที่หย่าร้างใหม่ๆจะมีความรู้สึกคล้ายๆกับการสูญเสียอะไรบางอย่างที่เคยอยู่ใกล้ใจ หากเป็นครอบครัวที่มีลูกด้วยกันการหย่าร้างจะเป็นการเริ่มต้นใหม่ของชีวิตการเป็นผู้นำทั้งพ่อทั้งแม่ในคนๆเดียวกัน ( Single parent) หรือที่เรียกว่าพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว ประเด็นสำคัญที่สุดแม้ว่าชีวิตสมรสจะสิ้นสุด แต่ความเป็นครอบครัวของลูกต้องไม่สิ้นสุดหรือสลายตามไปด้วย ทั้ง2 คน ยังคงต้องทำบทบาทพ่อและแม่ของลูกตลอดไปไม่ว่าลูกจะอยู่กับฝ่ายใดก็ตาม เพื่อลดปัญหาและผลกระทบต่อจิตใจลูกที่อาจตามมาในภายหลังให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะปฏิกิริยาสูญเสีย เช่นเด็กอาจว้าวุ่นใจ ก้าวร้าว หงุดหงิด ซึมเศร้า ผลการเรียนตกต่ำเป็นต้น สำหรับผู้ใกล้ชิดกับคู่หย่าร้างก็ต้องช่วยกันให้กำลังใจ ไม่ควรพูดแสดงความเสียใจ หรือแสดงความยินดี เพราะอาจเป็นการสะกิดแผลในใจได้ ” พญ.กรองกาญจน์ กล่าว 

พญ.กรองกาญจน์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่พ่อแม่ควรทำหลังหย่าร้างมี 4 ประการไม่ว่าเด็กจะอยู่กับใครก็ตาม ได้แก่ 1. ต้องให้ความมั่นใจกับเด็กว่า การที่พ่อแม่แยกทางกันไม่ใช่มีสาเหตุมาจากลูกและยังคงรักลูกเหมือนเดิม ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เนื่องจากเด็กมีระบบความคิดที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ มักจะเข้าใจว่าตนเองเป็นสาเหตุทำให้พ่อแม่แยกทางกัน เช่นดื้อ เรียนไม่ดี 2. บอกความจริงแก่เด็ก เป้าหมายสำคัญคือการให้ความมั่นใจอนาคต จะทำให้การปรับตัวของเด็กในระยะยาวดีกว่า การปิดบังเด็กเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง จะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้ง หรือคิดว่าตนเองเป็นคนผิด ทำให้มีปัญหาการปรับตัว 3.พยายามรักษาสภาพความเป็นอยู่ให้ใกล้เคียงกับชีวิตเดิมของลูกที่สุดเท่าที่จะทำได้ และ4.ปฏิบัติต่อเด็กด้วยความรักความใส่ใจเหมือนเดิม ทั้งหมดนี้จะทำให้เด็กใช้ชีวิตอย่างมีความสุขตามวัย ไม่เกิดบาดแผลทางใจหรือปมในใจ ติดตัวไปตลอดชีวิต

ส่วนสิ่งที่พ่อหรือแม่ไม่ควรทำกับลูกเป็นอย่างยิ่งภายหลังหย่าร้าง มี 4 ประการคือ 1. การด่าหรือเล่าความไม่เอาไหนของอีกฝ่ายหนึ่งให้ลูกฟัง ซึ่งมักจะเกิดจากพ่อหรือแม่มีความเจ็บปวด ทนทุกข์กับการกระทำของอีกฝ่าย จะเป็นการสร้างความเกลียดชังเกิดขึ้นในใจของเด็กและทุกข์ทรมานใจไปตลอดชีวิต พ่อแม่ควรระบายความโกรธ ความอึดอัดคับข้องใจ กับญาติหรือเพื่อนสนิทแทน 2. การดึงลูกให้เข้ามาเป็นพวกกับฝ่ายของตน เช่นบางคนกีดกัน แสดงความไม่พอใจเมื่อลูกไปคุยกับอีกฝ่าย บางคนพูดให้ลูกรู้สึกผิด เช่นถ้าลูกไปคุยกับพ่อ แปลว่าลูกไม่รักแม่ เป็นต้น 3. การใช้ลูกเป็นสื่อกลาง ส่งสารระหว่างพ่อกับแม่ที่ไม่พูดกัน 4. บังคับให้เด็กเลือกว่าจะอยู่กับใคร จะทำให้เด็กรู้สึกผิดอย่างมากกับฝ่ายที่เขาไม่ได้เลือก รู้สึกเสียใจ และกลัวพ่อแม่จะเลิกรักเขา หากต้องการรู้ว่าเด็กอยากอยู่กับใครมากกว่ากัน พ่อแม่อาจใช้วิธีการอ้อมๆคือถามญาติที่สนิทกับเด็กจะดีกว่า

“เรื่องที่พ่อแม่ควรคำนึงไว้เสมอก็คือ ในส่วนลึกของใจเด็กยังรักยังโหยหาพ่อแม่ของเขาอยู่เสมอ เพราะลูกไม่มีคำว่าอดีตพ่อหรือแม่ ดังนั้นจึงไม่ควรห้ามลูกพูดถึงพ่อหรือแม่ที่เขาขาดไป ควรให้เด็กระบายความรู้สึก ควรเห็นใจและเข้าใจในความต้องการของเขา แล้วเขาจะพูดน้อยลงตามเวลาที่ผ่านไป ” พญ.กรองกาญจน์ กล่าว