ธ.ก.ส.เร่งคลอดมาตรการช่วยเกษตรกรประสบภัยแล้ง

2019-07-23 14:20:50

ธ.ก.ส.เร่งคลอดมาตรการช่วยเกษตรกรประสบภัยแล้ง

Advertisement

ผู้จัดการ ธ.ก.ส.เผยเร่งคลอดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรประสบปัญหาภัยแล้ง ชงบอร์ด ธ.ก.ส.พิจารณา 24 ก.ค.นี้ ก่อนเสนอ ครม.เห็นชอบต่อไป 

เมื่อวันที่ 23 ก.ค.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจข่าวจริงประเทศไทย เผยแพร่คำให้สัมภาษณ์ นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ระบุว่า ธนาคารกำลังจัดทำมาตรการรับมือภัยแล้งสำหรับช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง ตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างนำเสนอหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม ทันสถานการณ์ ให้ที่ประชุม คณะกรรมการ (บอร์ด) ธ.ก.ส.พิจารณาในวันที่ 24 ก.ค.นี้ ก่อนเสนอ ครม.เห็นชอบ กรณีมีการเผยแพร่ข่าวมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้งเร่งด่วน ซึ่งบางหลักเกณฑ์ไม่เป็นปัจจุบัน ธ.ก.ส. ขอชี้แจงดังนี้ 

1. สินเชื่อเงินด่วน ให้กู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR 7% (เพื่อใช้ในการจัดหาปัจจัยการผลิตเพาะปลูกพืชระยะสั้น และทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ) เป็นมาตรการพื้นฐานปกติตามเดิม เกษตรกรสามารถติดต่อที่ ธ.ก.ส. สาขาที่ตนขึ้นทะเบียนเป็นลูกค้า

2.สินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับเกษตรกรลูกค้าผู้ประสบภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติ ให้กู้ต่อรายสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท ดอกเบี้ย MRR -2 หรือเท่ากับ 5% ระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ไม่เกิน 15 ปี สินเชื่อพื้นฐาน ปกติตามเดิม ติดต่อ ธ.ก.ส.สาขาที่เกษตรกรเป็นลูกค้า

3.สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน กู้ได้รายละไม่เกิน 50,000 บาท สำหรับนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ป้องกันไม่ให้เป็นหนี้นอกระบบ เป็นมาตรการ พื้นฐานปกติ ติดต่อ ธ.ก.ส ที่ตนขึ้นทะเบียนเป็นลูกค้า

สำหรับมาตรการที่ 1-3 เกษตรกรสามารถติดต่อ ธ.ก.ส. สาขาที่ตนเองขึ้นทะเบียนเป็นลูกค้าเพื่อขอรับบริการสินเชื่อได้ตามปกติ

4.มาตรการปรับโครงสร้างและตารางชำระหนี้ ให้ลูกหนี้ ธ.ก.ส. ที่เข้าโครงการขยายเวลาชำระหนี้ตามแนวทางเกษตรประชารัฐ โดยพักชำระเงินต้นให้ 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2561 - 31 ก.ค. 2564 รวมถึงเกษตรกรที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการสามารถขอขยายเวลาปรับตารางชำระ พักหนี้ได้ 1 รอบปีการผลิต เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการต้องมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนด ปัจจุบันปิดรับสมัครแล้ว เพื่อเข้าสู่กระบวนการติดตามศักยภาพของเกษตรกรลูกค้า

5.จัดหาเมล็ดพันธุ์ข้าว และพืชไร่อื่น ๆ แก่เกษตรกร ที่ประสบปัญหาต้นกล้าแห้งตายเพราะขาดแคลนน้ำ ไม่ใช่โครงการของธนาคาร

6.จัดโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ สร้างฝายมีชีวิตร่วมกับท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนการประกอบอาชีพภาคการเกษตร 6,100 ฝายเป็นโครงการ แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ( Corporate Social Responsibility/CSR )ของธนาคาร ร่วมกับหน่วยงานในภูมิภาคซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้งในปีนี้ ธ.ก.ส ขอยืนยันว่า จะเร่งดำเนินการมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้งให้รวดเร็ว เหมาะสมกับสถานการณ์ตามนโยบายรัฐบาลอย่างดีที่สุด เกษตรกรสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธ.ก.ส.ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือ Call center 0 2555 0555

ข่าวคุณเพจข่าวจริงประเทศไทย