อย.บุกจับโรงงานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเถื่อน

2019-07-19 18:45:15

อย.บุกจับโรงงานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเถื่อน

Advertisement

อย. –บก.ปคบ. บุกจับโรงงานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเถื่อนไม่ขออนุญาต พบเป็นเครือข่ายของบริษัทดังที่ผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อ Lyn จนทำให้มีผู้เสียชีวิต นอกจากนี้ยังพบแผ่นแปะสะดือเผาผลาญไขมัน สบู่นมเด้ง อวดอ้างสรรพคุณยึดของกลางกว่า 10 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก. ปคบ.) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา พร้อมด้วย ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (กก 4.บก.ปคบ.) นำทีมโดย พล.ต.ต.ศิร์ธัชเขต ครูวัฒนเศรษฐ์ ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.วินัย วงษ์บุบผา รอง ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.ชนันนัทธ์ สารถวัลย์แพศย์ ผู้กำกับการ 4 บก.ปคบ. ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคให้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ LANO BY GLUTA COLLA เลขสารบบอาหาร 13-1-05459-5-0024 เนื่องจากตรวจสอบไม่พบข้อมูลการได้รับอนุญาตจาก อย. นั้นเมื่อตรวจสอบพบว่าบริษัทดังกล่าวขาดต่ออายุไปแล้ว ต่อมา อย. ได้มีการสืบหาข้อเท็จจริงจึงได้นำไปสู่การออกหมายค้น เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2562 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าตรวจค้นที่บ้านเลขที่ 49/14-15 และ 49/777 หมู่บ้านอรุณธร แขวงออเงิน เขตสายไหม กทม. ซึ่งพบสถานที่ผลิตอาหารลักษณะเข้าข่ายเป็นโรงงานผลิตอาหารไม่ได้รับอนุญาต นอกจากนี้ยังพบวัตถุดิบ เครื่องมือเครื่องจักร และอุปกรณ์การผลิตอาหาร รวมทั้งภาชนะบรรจุที่ฉลากระบุสถานที่ผลิตเป็นบริษัท ฟู้ดซายน์ ซัพพลาย เซอร์วิส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ไม่ได้มาดำเนินการยื่นต่ออายุใบอนุญาต และพบว่าผู้ผลิตได้สั่งซื้อวัตถุดิบและภาชนะบรรจุจากบริษัทดังกล่าว รวมทั้งภาชนะบรรจุมาทำการผลิต แบ่งบรรจุ ณ สถานที่ดังกล่าว โดยไม่ได้ขออนุญาตผลิตอาหารแต่อย่างใด ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ตรวจพบ เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อหาการปลอมปนยาแผนปัจจุบันต่อไป


เลขาธิการ อย. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้จากการตรวจสอบยังพบ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เอสเคบี 1 เลขสารบบอาหาร 13-1-205459-5-0163 ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ใช้ชุดทดสอบเบื้องต้น Sibutramine ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผลปรากฎว่าพบการปลอมปนยาแผนปัจจุบัน Sibutramine ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 ตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 ทั้งนี้เจ้าหน้าที่จะได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าวส่งตรวจวิเคราะห์ เพื่อยืนยันต่อไป ในส่วนของผลิตภัณฑ์อาหารเข้าข่ายมีความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ดังนี้ 1. กรณีตั้งโรงงานผลิตอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2. กรณีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท และ เข้าข่ายเป็นอาหารที่มีการแสดงฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงให้เข้าใจผิดในเรื่อง สถานที่ผลิต จัดเป็นอาหารปลอม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน – 10 ปี และ ปรับตั้งแต่ 5,000 บาท – 100,000 บาท 3. กรณีหากผลการตรวจวิเคราะห์ตรวจพบยาแผนปัจจุบัน จะเข้าข่ายเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ 4. กรณีหากตรวจพบยาแผนปัจจุบันไซบูทรามีน ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 ตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 กรณีผลิต นำเข้า หรือส่งออก ผลิตภัณฑ์ที่มีไซบูทรามีนเป็นส่วนผสม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 -20 ปี และปรับตั้งแต่ 500,000 –2,000,000 บาท หากขายมีโทษจำคุกตั้งแต่ 4-20 ปี และ ปรับตั้งแต่ 400,000 - 2,000,000 บาท

ด้าน ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวต่อว่า นอกจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแล้ว ยังพบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ตรวจค้นจากสถานที่ดังกล่าวยังพบอุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตเครื่องสำอาง และจากการตรวจสอบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง พบการผลิตเครื่องสำอางไม่จดแจ้ง ผลิตเครื่องสำอางปลอม เนื่องจากมีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง โดยแสดงแหล่งผลิต และเลขที่จดแจ้ง ไม่ตรงตามข้อเท็จจริง ในส่วนของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเข้าข่ายมีความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ดังนี้1. กรณีผลิตเครื่องสำอางไม่จดแจ้ง มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ2. กรณีผลิตเครื่องสำอางที่มีการแสดงฉลากแจ้งชื่อผู้ผลิต หรือแหล่งผลิตที่มิใช่ความจริง จัดเป็นเครื่องสำอางปลอม มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และพบมีการแสดงว่าเป็นเครื่องสำอางที่จดแจ้งไว้ซึ่งมิใช่ความจริง จัดเป็นเครื่องสำอางปลอม มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 3. กรณีขายเครื่องสำอางที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง โดยฉลากไม่มีข้อความภาษาไทย และมีการแสดงข้อความไม่ครบถ้วน มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

รองเลขาธิการ อย. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ อย. ยังได้ขยายผล ร่วมกับ บก.ปคบ. ตรวจสอบพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ และ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ได้แก่ 1. แผ่นแปะสะดือเผาผลาญไขมัน ขายเกลื่อนตามสื่อออนไลน์ อวดอ้างสรรพคุณทำนองช่วยปรับสมดุลของขบวนการเผาผลาญพลังงานในร่างกายช่วยสลายไขมัน ขับไขมันออกจากร่างกาย ระบุวิธีระบุวิธีใช้โดยการแปะลงบนสะดือ เพื่อลดน้ำหนักตามต้องการ การโฆษณาแผ่นแปะสะดือเผาผลาญไขมัน ดังกล่าวเป็นการโฆษณาเข้าข่ายเป็นเครื่องมือแพทย์ ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 ซึ่งผู้ผลิตหรือนำเข้า จะต้องจดทะเบียนสถานประกอบการผลิตหรือ นำเข้า ยื่นขอผลิตและนำเข้าเครื่องมือแพทย์และขออนุญาตโฆษณากับ อย. ก่อน จึงจะสามารถเผยแพร่ได้ ซึ่ง อย. ได้ดำเนินการตรวจสอบฐานข้อมูล ผลิตภัณฑ์ แต่ไม่พบการยื่นคำขออนุญาตผลิตหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแต่อย่างใด ในส่วนของการโฆษณาผลิตภัณฑ์แผ่นแปะสะดือเผาผลาญไขมันเข้าข่ายมีความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 ดังนี้ ผู้ประกอบการที่ไม่จดทะเบียนสถานประกอบการนำเข้า เครื่องมือแพทย์ ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากนำเข้าเครื่องมือแพทย์โดยไม่มีหนังสือประกอบการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โฆษณาเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


2. ผลิตภัณฑ์ สบู่นมเด้ง (สบู่นมตึงจนผัวทัก) อวดอ้างสรรพคุณทำนองว่า เพิ่มเนื้อนมให้ดูอวบอิ่มผิวขาวกระจ่างใส ข้อความลักษณะดังกล่าวนี้ ถือเป็นข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินจริง และก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง เป็นข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค เนื่องจากผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้สำหรับภายนอกร่างกาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำความสะอาดและความสวยงามเท่านั้น โดยไม่ได้มีผลต่อการปรับเปลี่ยนโครงสร้างหรือทำหน้าที่ใด ๆ ของร่างกาย การโฆษณาดังกล่าวจะมีความผิด ตาม พ.ร.บ.ครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ หากเป็นการผลิตหรือนำเข้าเครื่องสำอางโดยไม่ได้จดแจ้ง ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ ผู้ขายต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท

รองเลขาธิการธิการ อย. กล่าวด้วยว่า อย. เตรียมดำเนินคดีกับผู้ผลิตทันที ย้ำเตือนผู้ขายอย่าได้ลักลอบผลิต จำหน่าย ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอาง และเครื่องมือแพทย์ที่ผิดกฎหมาย เพราะ อย. ได้มีการเฝ้าระวังและตรวจสอบอย่างเข้มงวด ในส่วนของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางขอเตือนผู้บริโภคอย่าได้หลงเชื่อโฆษณาแผ่นแปะสะดือเผาผลาญไขมัน และ ผลิตภัณฑ์สบู่นมเด้ง (สบู่นมตึงจนผัวทัก) เพราะอาจได้รับจากการใช้ผลิตภัณฑ์ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ไม่ได้แสดงปริมาณและส่วนประกอบที่ชัดเจน และส่วนผสมของกาวแปะ อาจทำให้เกิดการอักเสบ ระคายเคืองได้ หากแปะไว้นานเกินไป อาจทำให้เกิดอาการแพ้ตั้งแต่น้อย ๆ เป็นผื่นแพ้คัน หรืออาจเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต โดยผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพก่อนการเลือกซื้อได้ที่ Application “ตรวจเลข อย.” ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางการสื่อสารที่ช่วยเข้าถึงมือผู้บริโภคได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว เป็นการสร้างความมั่นใจเบื้องต้นให้กับผู้บริโภค ทั้งนี้ อย. ได้มีการตรวจสอบเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพ และการโฆษณาที่ไม่ได้รับอนุญาตอย่างใกล้ชิด หากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือ E-mail:1556@fda.moph.go.th หรือตู้ ปณ.1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือผ่านทาง Oryor Smart Application หรือ Line @FDAthai หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อ อย. จะทำการตรวจสอบและดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่กระทำผิดต่อไป