"คารม" เผยภัยแล้งอีสานวิกฤตจี้ภาครัฐเอาจริงแก้ปัญหา งงชวน ส.ว.ร่วมพูดคุยแต่กลับให้พูดเรื่องสารเคมีภาคเกษตร
เมื่อวันที่ 17 ก.ค. ที่เทศบาลตำหินกอง อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ร่วมหารือในหัวข้อ "การปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วย" โดย นายคารมระบุว่า ตนเองได้รับเชิญแบบไม่เป็นทางการจากอดีตเกษตร จ.ร้อยเอ็ด และอดีตผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองหนึ่ง ให้ไปร่วมหารือในกิจกรรมนี้ ซึ่งจัดโดย กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนเข้าร่วมกว่า 500 คน ทั้งนี้ ได้รับคำอธิบาย ในเรื่องการทำฝนหลวงเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ขณะนี้ ว่าทำไม่ได้อย่างไรบ้าง หรือทำได้แต่ฝนตกไม่ครอบคลุมพื้นที่อย่างไร เพราะอะไร แต่ที่ไม่เข้าใจคือ การที่พาชาวบ้านขึ้นเฮลิคอปเตอร์บินดูสภาพความแห้งแล้ง ซึ่งไม่รู้จะทำไปทำไม เพราะตอนนี้ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็พบแต่ความแห้งแล้งเห็นชัดเจนอยู่แล้ว
"ในฐานะ ส.ส.และเป็นคนในพื้นที่ เท่าที่ได้ไปร่วมฟังในวันนี้ พบว่า ราชการไม่ได้มีการนำเสนอการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเลย ควรขุดบ่อเก็บกักน้ำอย่างไร โครงการโขง ชี มูล ควรมีการนำกลับมาศึกษาหรือไม่ ตรงนี้ไม่มีการพูดถึง มิหนำซ้ำยังให้ คุณรณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล ซึ่งเป็น ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากประชาชนแต่อย่างใด ได้นำเสนอ พูดเรื่องการไม่ไม่ใช้สารเคมีในภาคการเกษตร ซึ่งไม่ตรงประเด็น ไม่เกี่ยวกับเรื่องการแก้ภัยแล้ง ตอนนี้ควรถามไถ่ หรือหารือแก้ปัญหาภัยแล้งที่ประชาชนประสบอยู่ไม่ใช่หรือ ไม่ใช่เรื่องการไม่ใช่สารเคมี วันนี้ทุ่งกุลาร้องไห้ไม่มีน้ำ ข้าวแห้งตายไม่ต้องใช้สารเคมีอะไรแล้ว กิจกรรมวันนี้ ดูแล้วเหมือนให้ ส.ว.มาเปิดงานให้ผ่านๆไปเท่านั้น ไม่ได้แก้ปัญหาให้ประชาชนอย่างแท้จริง" นายคารม กล่าว
นายคารม กล่าวอีกว่า ปัญหาเรื่องภัยแล้งในภาคอีสาน ตอนนี้ภาครัฐต้องเอาจริงเอาจังได้แล้ว เพราะล่าสุด ตนได้รับการแจ้งจากเพื่อนที่ จ.บุรีรัมย์ ว่า ห้วยจรเข้มาก ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำประปาของจังหวัด น้ำเหลือน้อยมาก และเหมือนไม่ได้รับการใส่ใจ งบประมาณกระทรวงเกษตรฯ ทำไมไม่ทุ่มเทมาแก้ปัญหาเรื่องนี้ ยอมรับเลยว่า ภัยแล้งปีนี้หนักที่สุดในหลายสิบปี ตอนนี้เกษตรกรต้องพึ่งตัวเอง ยังไม่เห็นราชการให้ความช่วยเหลือ ที่ห่วงนอกจากภาคการเกษตรแล้ว ตอนนี้จะลามไปสู่เรื่องน้ำอุปโภคบริโภคของประชาชนด้วย เพื่อนที่บุรีรัมย์แจ้งด้วยว่า อีกไม่กี่สิบวันน้ำในห้วยจรเข้มากจะหมด เรื่องข้าวที่ปลูกและแห้งตายไปแล้วแทบจะบอกเลยว่าไม่ได้คืน ตอนนี้ระยะสั้นต้องป้องกันไม่ให้ลามไปสู่เรื่องน้ำอุปโภคบริโภค ส่วนระยะยาว รัฐบาลต้องมีนโยบาย มีโครงการที่จะแก้ปัญหาระยะยาว
"นี่คือบทพิสูจน์แรกของรัฐบาลชุดใหม่ คือ สิ่งที่ 4 รัฐมนตรีของกระทรวงเกษตรฯ ต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกๆ ที่เป็นเรื่องเร่งด่วนเลย คือ แผนเผชิญเหตุ ที่อาจจะมีนายกรัฐมนตรี หรือ รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ นั่งหัวโต๊ะ และนำหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้เชี่ยวชาญมาทำงานร่วมกัน เพราะสถานการณ์เข้าขั้นวิกฤตแล้ว ต้องมีการตั้งวอร์รูมสำหรับประเมินพื้นที่ สถานการณ์แหล่งน้ำตามที่ต่างๆ, ประเมินสถานการณ์ฝน, พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ รวมถึงการเข้าให้ความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นการทำฝนเทียม หรือแม้แต่รถบรรทุกน้ำสำรองที่เข้าไปถึงบ้านเรือนประชาชน รวมถึงต้องเยี่ยวยาผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตรที่เสียหายและราคาผลผลิตตกต่ำด้วย ส่วนระยะยาวต้องคิดถึงแผนการจัดการน้ำที่เป็นระบบ การขุดลอกแม่น้ำลำคลอง อ่างเก็บน้ำ ธนาคารน้ำใต้ดิน เป็นต้น" นายคารม กล่าว