กรมควบคุมโรคชี้ “โรคลายม์” ไม่ใช่โรคใหม่

2019-07-17 17:15:31

กรมควบคุมโรคชี้ “โรคลายม์” ไม่ใช่โรคใหม่

Advertisement

อธิบดีกรมควบคุมโรคเผย “โรคลายม์” ไม่ใช่โรคใหม่ พบได้ในต่างประเทศ ที่ผ่านมายังไม่เคยมีรายงานโรคลายม์ในประเทศไทย ประชาชนสามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ตามปกติ เพียงแต่ต้องระมัดระวังถูกเห็บกัด หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีเห็บอาศัยอยู่ เช่น กองใบไม้ บริเวณป่า พุ่มไม้ ถ้าต้องทำงานในบริเวณดังกล่าวควรใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว รองเท้าที่ปิดนิ้วเท้า

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีรายงานข่าวหญิงชาวไทย ป่วยด้วยโรคลายม์หลังกลับจากท่องเที่ยวในต่างประเทศ ว่า จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น แพทย์วินิจฉัยเป็นโรคลายม์โดยการตรวจทางห้องปฏิบัติการหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ Borrelia ในเลือด ผู้ป่วยรายนี้ได้รับยาปฏิชีวนะตรงกับโรคนี้ตั้งแต่ต้น อาการจึงค่อยๆ ดีขึ้นช้าๆ โรคนี้ไม่พบในประเทศไทย ส่วนคนไทยที่ไปท่องเที่ยวในต่างประเทศกลับมา ก็ไม่มีรายงานว่าเคยป่วยเป็นโรคนี้แต่อย่างใด

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า โรคลายม์ หรือโรคไลม์ หรือโรคลัยม์ (Lyme Disease) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียโบเรลเลีย (Borrelia) ติดต่อจากการแพร่เชื้อผ่านเห็บ อาการของโรคแตกต่างกันไป โรคนี้พบได้ทั่วโลก โดยพบสุนัข ม้า และโค สามารถเป็นโรคนี้ได้ จากการถูกเห็บที่มีเชื้อกัด รวมถึงสัตว์ป่า โดยเฉพาะสัตว์ฟันแทะขนาดเล็กและกวาง ก็เป็นพาหะของเชื้อตามธรรมชาติได้ เห็บได้รับเชื้อจาการดูดเลือดสัตว์ป่าที่มีเชื้อ และสามารถแพร่ไปยังสัตว์อื่นหรือคนได้เมื่อถูกเห็บกัด

นพ.สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า โรคนี้ไม่ใช่โรคใหม่ พบได้ในต่างประเทศ ที่ผ่านมายังไม่เคยมีรายงานโรคลายม์ในประเทศไทย ประชาชนสามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ตามปกติ เพียงแค่ต้องระมัดระวังถูกเห็บกัด เนื่องจากคนติดโรคนี้ได้จากการถูกเห็บที่มีเชื้อกัด ซึ่งเห็บต้องเกาะอยู่อย่างน้อย 24 ชั่วโมงจึงจะสามารถแพร่เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ บางรายอาจไม่แสดงอาการป่วยเลยหรืออาจทำให้เกิดอาการรุนแรงมากได้ อาการหลังจากถูกเห็บกัด เริ่มจากเป็นรอยบวมแดงบริเวณที่ถูกเห็บกัดแล้วกลายเป็นผื่นวงกลมคล้ายเป้ายิงปืนขนาดใหญ่ อาจไม่พบในผู้ป่วยทุกราย อาการอื่นๆ ได้แก่ มีไข้ ปวดตามตัว คอแข็ง ปวดหัว และปวดตามข้อ ซึ่งโรคนี้สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการให้ยาปฏิชีวนะ

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวด้วยว่า สำหรับการป้องกันโรค ควรหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีเห็บอาศัยอยู่ เช่น กองใบไม้ บริเวณป่า พุ่มไม้ ถ้าต้องทำงานในบริเวณดังกล่าวควรใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว รองเท้าที่ปิดนิ้วเท้า เสื้อที่มีสีสว่างจะช่วยให้มองเห็นเห็บได้ง่าย ควรตรวจสอบทั่วร่างกายเพื่อหาเห็บบ่อยๆ และกำจัดเห็บทันทีที่พบ ควรใส่ถุงมือเมื่อกำจัดเห็บและล้างมือหลังจากเสร็จทุกครั้ง ควรใช้สารกำจัดและป้องกันเห็บ ดูแลสัตว์ให้อยู่ห่างจากเขตป่าและสัตว์ป่า ที่สำคัญหากต้องเดินทางไปต่างประเทศ ควรศึกษาว่าประเทศนั้นมีโรคประจำถิ่นอะไร คำแนะนำอย่างไร เพื่อป้องกันตนเอง ส่วนประชาชนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ แล้วมีอาการตามลักษณะดังกล่าวข้างต้น ขอให้ไปพบแพทย์โดยเร็วและให้ข้อมูลอย่างละเอียด เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง รวดเร็ว ต่อไป สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422