กระทรวงยุติธรรมพร้อมช่วยเหลือเหยื่อ “แพรวา” ขับรถชนบนโทลล์เวย์ 9 ศพ ยังไม่ได้รับค่าสินไหมทดแทนตามคำพิพากษาศาล แนะจำเลยเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย
จากกรณีโลกออนไลน์ได้แสดงความเห็นคดีอุบัติเหตุบนโทลล์เวย์เมื่อ 9 ปีก่อนว่า จนถึงขณะนี้ญาติของผู้เสียชีวิตทั้ง 9 คน รวมถึงผู้รอดชีวิตยังไม่มีใครได้รับเงินเยียวยาจากแพรวา ตามคำพิพากษาศาลแพ่ง อีกทั้งผู้ก่อเหตุก็ไม่เคยมาไกล่เกลี่ยค่าเสียหาย หรือฟังคำพิพากษาด้วยตนเองแต่อย่างใด
ล่าสุด นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และโฆษกกระทรวงยุติธรรม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “ธวัชชัย ไทยเขียว”ระบุว่า ผู้เสียหายหรือโจทก์มีอาการมึนงง เดินไม่เป็นกรณีลูกหนี้ไม่ยอมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามคำพิพากษาจะทำอย่างไร ? หลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ไม่ว่าจะเป็นค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญาตามมาตรา 44/1 ถือเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา หรือคดีแพ่งทั่วไป เมื่อระยะเวลาได้ล่วงเลยกว่า 30 วันไปแล้ว พยายามติดตามทวงถามก็แล้ว ลูกหนี้ทำไม่รู้ร้อนรู้หนาว ทำหน้ามึน ผู้เสียหายจะต้องดำเนินการ ดังนี้ 1.ต้องไปยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี 2.เมื่อได้หมายบังคับคดีมาแล้ว ผู้เสียหายหรือโจทก์ก็มีอำนาจเข้าไปสืบทรัพย์ว่าจำเลยมีทรัพย์สินอะไรบ้าง ชั้นนี้ยากที่สุด เพราะศักยภาพบุคคลทั่วไปนั้นยากต่อการเข้าถึงข้อมูล ต้องจ้างทนายความครับ ถ้าเป็นคนจนคนด้อยโอกาสสามารถขอเงินค่าจ้างทนายความสืบทรัพย์ได้จากกองทุนยุติธรรมได้ครับ 3.เมื่อได้บัญชีทรัพย์สินมาแล้วให้ไปยื่นคำขอบังคับคดีต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดี เพื่อเข้าสู่กระบวนการบังคับคดี ด้วยการขอให้อายัดทรัพย์ดังกล่าว 4. เจ้าหน้าที่ก็จะตั้งเรื่องเข้าสู่กระบวนการบังคับคดี ด้วยการยึดทรัพย์ตามบัญชี โดยการแจ้งการยึดทรัพย์ไปยังลูกหนี้ ผู้มีส่วนได้เสีย และผู้เกี่ยวข้องดังกล่าว 5.เจ้าพนักงานบังคับคดีนำเอาทรัพย์เข้าสู่กระบวนการขายทอดตลาด เพื่อนำทรัพย์ที่ได้ไปเฉลี่ยให้กับผู้เสียหายแล้วแต่กรณี
6.กรณีที่ทรัพย์ที่ขายมีจำนวนที่ไม่พอตามคำพิพากษา หรือไม่มีทรัพย์ ผู้เสียหายก็ต้องนำคดีไปยื่นฟ้องขอให้จำเลยตกเป็นคนล้มละลายต่อศาลล้มละลายกลางได้ในกรณีที่มีมูลหนี้มากกว่า 1 ล้านบาท 7.ศาลก็จะมีคำสั่งให้กรมบังคับคดีรายงานว่าจำเลยมีศักยภาพพอที่จะชดใช้ได้หรือไม่ ถ้าไม่มีและเข้าข่ายมีหนี้สินล้นพ้นตัว ศาลก็จะมีคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
นายธวัชชัย ระบุอีกว่า ผลของการเป็นบุคคลล้มละลาย ไม่สนุกครับ เพราะจะทำให้บุคคลนั้น 1.ไม่สามารถทำนิติกรรมนิติกรรมสัญญาใดๆ ทั้งสิ้นได้ รวมถึงธุรกรรมการเงินต่างๆ 2.ไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ หรือหากมีความจำเป็นต้องเดินทางไปจริงๆ ก็ต้องขออนุญาตจากพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก่อน หากได้รับอนุญาตให้ออกนอกประเทศจะต้องทำบัญชีรายรับรายจ่ายส่งต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่าทุกๆ 6 เดือน พร้อมทั้งส่งรายได้ตามที่เจ้าพนักงานจะอายัดเข้ากองทรัพย์สินด้วย การถูกสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลายนั้นจะมีระยะเวลา 3 ปี เมื่อครบกำหนดก็จะถูกปลดจากการเป็นบุคคลล้มละลาย ยกเว้นกรณีที่ไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหนี้ก็อาจจะมีการขยายเวลาเป็น 5 หรือ 10 ปีก็ได้ โดยเมื่อครบกำหนดระยะเวลา 3 ปีก็ให้บุคคลล้มละลายติดต่อกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ เพื่อขอปลดจากการเป็นบุคคลล้มละลาย หลายคนไม่มีความรู้ก็คิดว่าสบายลั่นลา แต่หาเช่นนั้นไม่ เพราะเมื่อได้ปลดจากการเป็นบุคคลล้มลายแล้วก็จะสามารถทำงานและทำธุรกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติแล้วก็จริง แต่การภาระชดใช้ตามคำพิพากษาก็ยังคงดำเนินการได้ต่อไปจนกว่าจะหมดอายุความครับ คำแนะนำของผมสำหรับจำเลยควรเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยจะดีที่สุดครับ ส่วนผู้เสียหายหรือโจทก์ ถ้าหากเกิดอาการมึนงงเดินไม่เป็น สามารถขอคำแนะนำช่วยเหลือได้ที่สำนักงานยุติธรรมจังหวัดทุกจังหวัด หรือศูนย์บริการร่วมกระทรวงยุติธรรมชั้น 2 อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯถนนแจ้งวัฒนะ หรือโทร 1111 กด 77 ครับ
ขอบคุณเฟซบุ๊ก : ธวัชชัย ไทยเขียว