คพ.พัฒนาระบบคาดการณ์สถานการณ์มลพิษอากาศ

2019-07-17 11:50:29

คพ.พัฒนาระบบคาดการณ์สถานการณ์มลพิษอากาศ

Advertisement

คพ. พัฒนา“ระบบคาดการณ์สถานการณ์มลพิษอากาศ” เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ในเรื่องของข้อมูลฝุ่นละอองขนาดเล็ก


เมื่อวันที่ 17 ก.ค. นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากที่ผ่านมา สถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน กทม. ที่อาจส่งผลต่อสุขภาพ ของพี่น้องประชาชน รวมทั้งในขณะเดียวกัน คพ.ก็ได้จัดทำยุทธศาสตร์การจัดการมลพิษ 20 ปีเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสิ่งแวดล้อมในระดับประเทศ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน มุ่งเน้นที่การลดระดับฝุ่นละอองขนาดเล็ก และสารเบนซีนในพื้นที่สำคัญที่ต้องพัฒนาระบบการบริหารจัดการมลพิษ เช่น การศึกษาและกำหนดศักยภาพการรองรับมลพิษของพื้นที่ (carrying capacity) การพยากรณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เพื่อแจ้งเตือนประชาชน และการเตรียมการรับมือมลพิษใหม่ เช่น ฝุ่นละอองขนาดนาโน (Nano-particle) มลพิษข้ามแดนระยะไกล (Long range transport pollution) เป็นต้น


นายประลอง กล่าวต่อว่า ดังนั้น คพ.จึงได้พัฒนาระบบคาดการณ์สถานการณ์มลพิษทางอากาศ เพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนการดำเนินงานของยุทธศาสตร์ดังกล่าวให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ทั้งยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการบริหารจัดการปัญหาสถานการณ์ในพื้นที่เป้าหมาย เช่นพื้นที่ภาคเหนือและในกรุงเทพมหานคร ได้อย่างแม่นยำมากขึ้น โดยระบบดังกล่าวได้พัฒนาขึ้นบนพื้นฐานของแบบจำลองคณิตศาสตร์ด้านการกระจายตัวมลพิษอากาศ และแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ด้านสภาพอุตุนิยมวิทยาและชั้นบรรยากาศที่พัฒนาโดย องค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งสหรัฐอเมริกา (US. National Oceanic and Atmospheric Administration) และองค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (US. Environmental Protection Agency)


นายประลอง กล่าวด้วย ปัจจุบันระบบดังกล่าว ใช้สนับสนุนการคาดการณ์สถานการณ์มลพิษทางอากาศที่แม่นยำสูงสุดได้ไม่เกิน 3 วัน ในพื้นที่ต่างๆได้แก่ 1) พื้นที่ กทม.และปริมณฑล 2) พื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือของประเทศไทย สามารถคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่รวมถึงการเคลื่อนตัวของมลพิษข้ามแดน 3) พื้นที่เขตควบคุมมลพิษ ต.หน้าพระลาน จ. สระบุรี สามารถประเมินสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกิดขึ้นจากแหล่งกำเนิดมลพิษภายในพื้นที่ และ 4) พื้นที่เขตควบคุมมลพิษ ต. มาบตาพุด จ.ระยอง สามารถประเมินศักยภาพการรองรับมลพิษของพื้นที่ (Carrying Capacity) โดยเฉพาะสารอินทรีย์ระเหยง่ายจากแหล่งกำเนิดมลพิษ นอกจากนี้ยังสามารถใช้สนับสนุนการประเมินสถานการณ์ที่เกิดจากกรณีเหตุฉุกเฉินที่ต้องการรับมืออย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมถึงสามารถใช้ประเมินสถานการณ์กรณีร้องเรียนปัญหามลพิษทางอากาศ และเพื่อให้การจัดการมลพิษทางอากาศประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย คพ.จึงได้ปรับปรุงและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มศักยภาพในการประมวลผล( ระบบคอมพิวเตอร์) สำหรับการพยากรณ์ให้สามารถทำนายผลได้ล่วงหน้าจากเดิม 3 วันเป็นประมาณ 5-7 วัน และมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องประชาชนต่อการทำงานของรัฐบาลต่อไป