อินเดียเลื่อนส่งยานอวกาศไปลงดวงจันทร์ เจอปัญหาด้านเทคนิคเล็กน้อย

2019-07-15 07:05:50

อินเดียเลื่อนส่งยานอวกาศไปลงดวงจันทร์ เจอปัญหาด้านเทคนิคเล็กน้อย

Advertisement

องค์การอวกาศอินเดีย ต้องเลื่อนการส่งยานสำรวจดวงจันทร์ “จันทรายาน-2” ออกเดินทางจากโลกในวันจันทร์ ไม่ถึงชั่วโมงก่อนกำหนดปล่อยยาน เนื่องจากปัญหาขัดข้องทางเทคนิคเล็กน้อย และกำหนดการปล่อยใหม่จะประกาศให้ทราบในเวลาต่อไป

อินเดียจะส่งยานสำรวจลำนี้ ไปลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ ประมาณต้นเดือนกันยายน ซึ่งหากประสบความสำเร็จก็จะเป็นความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ครั้งใหญ่ และครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศ และเป็นประเทศที่ 4 ของโลกที่ทำได้ หลังจากสหรัฐอเมริกา รัสเซียในยุคที่ยังเป็นสหภาพโซเวียต และจีน

นาย เค. สิวาน ผู้อำนวยการองค์การวิจัยอวกาศอินเดีย หรือ อิสโร (the Indian Space Research Organisation : ISRO) เผยว่า ยานอวกาศจันทรายาน-2 ขนาดน้ำหนัก 2,379 กิโลกรัม มูลค่าการพัฒนาเพียงแค่ 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4,612 ล้านบาท จะเดินทางด้วยจรวดขับดัน ขนาดความยาว 44 เมตร น้ำหนัก 640 ตัน จากฐานปล่อยในศูนย์อวกาศสาธิตตาวัน ในเมืองศรีหริโกตา รัฐอันธรประเทศ บนชายฝั่งทางภาคตะวันออกเฉียงใต้




กำหนดเดิมจะออกเดินทางในเวลา 02.51 น. รุ่งสางของวันจันทร์ที่ 15 ก.ค. ตามเวลาท้องถิ่น เริ่มการเดินทางสู่เป้าหมาย ผ่านอวกาศระยะทางประมาณ 384,000 กิโลเมตร

นายสิวานกล่าวว่า ยานจันทรายาน-2 จะลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ ดาวบริวารหนึ่งเดียวของโลกมนุษย์ หลังออกเดินทางได้ 54 วัน คือประมาณวันที่ 6 หรือ 7 ก.ย. โดยจะลงจอดใกล้ขั้วใต้ ที่แถบไม่เคยถูกสำรวจ และจะเป็นยานจากโลกลำแรก ที่ลงจอดบริเวณนี้ โดยภารกิจหลักของยานจะอยู่ที่พื้นผิวดวงจันทร์การสำรวจทางวิทยาศาสตร์จะรวมถึงการ เก็บรวบรวมตัวอย่างดินหินและแร่ธาตุ การค้นหาร่องรอยของน้ำ และตรวจวัดแผ่นดินไหวบนดวงจันทร์ หรือ moonquakes



อินเดียส่งยานอวกาศไปสำรวจดวงจันทร์ลำแรก “จันทรายาน-1” เมื่อปี พ.ศ. 2551 แต่ยานไม่ได้ลงจอดพื้นผิว เพียงแต่โคจรรอบ และค้นหาร่องรอยของน้ำบนดวงจันทร์ โดยใช้ระบบเรดาร์ที่ออกแบบเป็นพิเศษ.