ไข้เลือดออกระบาดหนัก! เมืองคอน สังเวย 6 ศพ ป่วยกว่า 1,600 คน

2019-07-14 11:20:55

ไข้เลือดออกระบาดหนัก! เมืองคอน สังเวย 6 ศพ ป่วยกว่า 1,600 คน

Advertisement

ไข้เลือดออกระบาดหนักที่ จ.นครศรีธรรมราช พบผู้ป่วยกว่า 1,600 คน เสียชีวิตแล้ว 6 ราย ด้าน สสจ.เร่งควบคุมป้องกันเต็มที่หลังพบการระบาดในทุกอำเภอของจังหวัด

วันที่ 14 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.จรัสพงษ์ สุขกรี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เปิดแถงข่าวถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกซึ่งกำลังแพร่ระบาดทั่วทั้งอาเซียนและระบาดหนักในประเทศไทย โดยที่ จ.นครศรีธรรมราช พบว่ามีการระบาดสูงมากที่สุดในภาคใต้ สถิติระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-8ก.ค.2562 มีผู้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกแล้วจำนวน 6 ราย ป่วยจำนวน 1,660 ราย

ทั้งนี้ได้พบการระบาดในทุกอำเภอของจังหวัด แต่มีอำเภอที่พบผู้ป่วยสูงสุดคือ อ.เมือง,อ.พรหมคีรี อ.ลานสกา อ.ฉวาง อ.พิปูน อ.เชียรใหญ่ ตามลำดับ โดยพบผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็ก อายุระหว่าง 8-15 ปี ทั้งนี้ทางสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราชได้ประสานความร่วมมือกับนายอำเภอ อปท. ประชาชน อสม. ผู้ปกครอง ครู นักเรียน เพื่อช่วยกันฝ่าวิกฤติไข้เลือดออกในช่วงนี้ไปให้ได้ โดยหากพบลูกหลานหรือคนในบ้านมีอาการป่วยไข้สูงติดต่อกัน 2-3 วัน ก็ให้รีบพาไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุดเพื่อให้สามารถรักษาให้หายทันท่วงทีต่อไป




สำหรับมาตรการการควบคุมโรคไข้เลือดออก เมื่อพบผู้ป่วยรายแรก ๆ ของหมู่บ้าน ให้กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในรัศมี 100 เมตร จากบ้านผู้ป่วย หากยังคงพบผู้ป่วยต่อเนื่องให้เปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) ดำเนินการร่วมกับท้องถิ่น ชุมชน และการจัดระบบการให้คำปรึกษาและส่งต่อผู้ป่วย โดยให้ทุกจังหวัดประชุมทบทวนกรณีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเสียชีวิตทุกราย (Dead case conference) อบรมแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแก่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ และให้ทุกเขตจัดให้มีทั้งกุมารแพทย์และอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษา และการสื่อสาร ให้ประสานทุกภาคส่วนร่วมรณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในสถานที่ราชการ โรงเรียน วัด พร้อมรณรงค์ ให้ความรู้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงเสียชีวิต เน้นมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค คือ เก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ ดำเนินการต่อเนื่องทุกสัปดาห์ รวมถึงสำรวจลูกน้ำยุงลายในกิจกรรม “1วัด 1 โรงพยาบาลด้วย

อย่างไรก็ตามขอให้ประชาชนสังเกตอาการของตนเอง หากมีอาการไข้สูง 2 วัน ไม่ดีขึ้น ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก ปวดเมื่อย หน้าตาแดง อาจมีผื่นขึ้นใต้ผิวหนังตามแขนขา ข้อพับ เป็นต้น ขอให้รีบไปพบแพทย์ที่ รพ.โดยเร็ว หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422