สดุดีนักบินสละชีพป้องกันเครื่องตกใส่ชุมชน

2019-07-12 15:10:01

สดุดีนักบินสละชีพป้องกันเครื่องตกใส่ชุมชน

Advertisement

TAF สดุดีการตัดสินใจของนักบินที่เสียชีวิต หลีกเลี่ยงความสูญเสียร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนจนถึงวินาทีสุดท้าย

จากกรณีเมื่อวันที่ 11 ก.ค.2562 เครื่องบินขับไล่และฝึกแบบที่ 1 (L-39) สังกัดฝูงบิน 411 กองบิน 41 จ.เชียงใหม่ ประสบอุบัติเหตุบริเวณพื้นที่บ้านป่าแดด อ.สารภี จ.เชียงใหม่ โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจากนักบินได้ทำการฝึกบินในพื้นที่การฝึก ในขณะที่นำเครื่องกลับที่ตั้ง นักบินได้รายงานอากาศยานมีข้อขัดข้องเกี่ยวกับเครื่องยนต์ และได้ทำการแก้ไข ซึ่งต่อมานักบินทั้งคู่ได้ทำการสละอากาศยาน ทั้งนี้ เรืออากาศโท ธณวัฒน์ คูณขุนทด (นักบินที่ 1) บาดเจ็บเล็กน้อย ขณะที่ นาวาอากาศตรี ณฤพล เลิศกุศล (นักบินที่ 2 ซึ่งเป็นครูการบิน) เสียชีวิตตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

เมื่อวันที่ 12 ก.ค.ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเฟซบุ๊ก ThaiArmedForce.com (ไทยอาร์มฟอชดอทคอม) หรือ TAF ได้โพสต์ข้อความระบุว่า หนึ่งในขั้นตอนการสละอากาศยานของกองทัพอากาศไทย ซึ่งมีกระบวนการฝึกตามหลักสากล คือการพิจารณาถึงสภาพแวดล้อมและชุมชนในพื้นที่สละอากาศยานเป็นสำคัญ ในทุกเทียวบินต้องมีการประชุมสรุปก่อนขึ้นบิน (Brief) จะต้องมีการระบุถึงการปฏิบัติหากเกิดเหตุฉุกเฉิน ตั้งแต่พื้นที่การปลดอาวุธ บริเวณลงจอดฉุกเฉินหากเครื่องไม่สามารถประคองมาถึงฐานบินได้ ทั้งหมดเพื่อป้องกันความสูญเสียของประชาชนเป็นหลักสำคัญ

จากกรณีการสูญเสียอากาศยานขับไล่/ฝึกแบบ L-39ZA/ART ในวันนี้จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่นักบินผู้ทำหน้าที่ครูการบิน (IP/Instructor Pilot) ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนนิรภัยการบินอย่างถูกต้อง ตั้งแต่การเกิดเหตุเครื่องยนต์ดับกลางอากาศ ได้มีการแจ้งขานเหตุฉุกเฉิน (Emergency) เนื่องจาก L-39 Albatross แม้จะสูญเสียกำลังขับไปแล้ว ก็ยังมีแรงยกจากปีกที่สามารถประคองเครื่องให้เข้าหาพื้นที่กองบิน 41 จ.เชียงใหม่ให้มากที่สุด

แต่ด้วยสภาพสิ่งแวดล้อมโดยรอบปัจุบันเต็มไปด้วยชุมชนอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้นักบินต้องพิจารณาประเมินสภาวะของตัวอากาศยานและเลือกพื้นที่สำหรับการดีดตัวออกจากอากาศยาน เพราะหากดีดตัวออกไปแล้วเครื่องจะอยู่ในสภาวะขาดการควบคุม พื้นที่จุดตกนี้จึงเป็นจุดสุดท้ายที่นักบินจะตัดสินใจสละอากาศยาน เพราะหากจากเลยแนวนี้คือแม่น้ำปิงที่ไม่มีชุมชนตั้งอยู่ แม้จะห่างจากพื้นที่กองบิน 41 ราว 3 กิโลเมตร แต่โดยรอบพื้นที่สนามบินเชียงใหม่ก็เต็มไปด้วยชุมชนโดยรอบและเครื่องก็สูญเสียแรงขับจนเกือบจะสูญเสียการควบคุมแล้วเช่นกัน

ด้วยขั้นตอนการสละอากาศยานที่ครูการบินต้องให้ศิษย์สละเครื่องก่อน เพื่อให้ครูการบินที่มีทักษะการบินที่สูงกว่าเป็นผู้รักษาอาการเครื่องไว้ให้นานที่สุด จึงเป็นเหตุให้ครูการบินต้องทำการสละเครื่องช้ากว่าระดับความสูงที่ปลอดภัยในการดีดตัว เนื่องจากเก้าอี้ดีดตัวของ L-39 เป็นแบบ VS-1 ที่ต้องมีระยะสูงเพียงพอในการจุดระเบิดออกจากเครื่องเพื่อให้ร่มชูชีพกางออกเต็มระบบ แตกต่างจากเก้าอี้ดีดตัวของมาร์ตินเบเกอร์ที่ติดตั้งใน F-16, T-50 และ Gripen ที่กองทัพอากาศมีใช้ในประจำการ

TAF ขอร่วมสดุดีการตัดสินใจของนาวาอากาศตรี ณฤพล เลิศกุศล Instructor pilotของฝูงบิน 411 ที่สามารถหลีกเลี่ยงความสูญเสียร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนได้จนถึงวินาทีสุดท้าย

ขอบคุณเฟซบุ๊ก ThaiArmedForce.com,