ผอ.ศูนย์คุณธรรมชี้การแก้ปัญหาเด็กตีกันเพื่อให้ได้รับการยอมรับ ต้องร่วมมือกันทั้งครอบครัว โรงเรียน และชุมชน โรงเรียนต้องรู้จักวิธีดึงจุดอ่อนเด็กมาเป็นจุดแข็งในทางสร้างสรรค์ ไม่ใช่ส่งเสริมแค่เด็กหน้าห้อง ขณะที่ครอบครัวต้องรู้จักวิธีเหลาความคิดของบุตรหลาน เพราะเด็กในวัยนี้เป็นวัยที่ต้องการได้รับการยอมรับ และต้องการมีความภาคภูมิใจในตนเอง
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผอ.ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กล่าวถึงกรณีที่นักเรียนชั้นมัธยม รร.หนึ่งใน จ.นครปฐม โดนรุ่นพี่รุมกระทืบ เพื่อรับเลสข้อมือ จนบาดเจ็บสาหัส เหตุเกิดเมื่อวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา ว่า ส่วนตัวรู้สึกเสียใจที่ยังคงมีเหตุการณ์แบบนี้อยู่ เพราะความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง ควรเป็นความรัก ความอบอุ่น และเกิดความไว้วางใจ ซึ่งเป็นความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดการทำร้ายร่างกายเพื่อให้ได้เข้ากลุ่ม มาจากการที่เด็กวัยรุ่นเหล่านี้ ขาด "ทุน” ชีวิต คือ ทักษะการรู้คิดบวก จิตสำนึกต่อตนเองและสังคมแวดล้อมบกพร่อง อีกทั้งมาจากการขาดความภาคภูมิใจในตนเอง จึงต้องการสร้างการยอมรับ แต่เลือกวิธีใช้ความรุนแรง เพื่อให้รู้สึกว่าตนเองเป็นฮีโร่ ซึ่งเป็นความเชื่อแบบผิดๆ
ด้วยร่างกายของวัยรุ่นแล้วโดยเฉพาะเพศชายจะมีฮอร์โมน “เทสโทสเตอโรน” สูง ซึ่งจะมีจุดอ่อนไหวที่ทำให้สมองส่วนอารมณ์ไวต่อสิ่งเร้า เห็นได้จากการที่บางครั้งแค่มองหน้ากัน ก็ยกพวกตีกัน นี่เป็นจุดอ่อนไหวเรื่องหนึ่งในวัยรุ่น และยังมีฮอร์โมนออกซิโตซิน ที่จะหลั่งมากที่สุดในวัย14-15ปี ไปกระตุ้นสมองส่วนอารมณ์ ทำให้สมองส่วนคิดชั้นสูงอ่อนแอ เมื่ออยู่กับกลุ่มเพื่อน จะพยายามสร้างการยอมรับ ต้องการเป็นฮีโร่ ซึ่งฮีโร่นั้นที่มีทั้งทางบวก และทางลบ หากครอบครัว ชุมชน โรงเรียน ช่วยกัน “เหลา” ความคิด จะทำให้เด็กกลายเป็นคนมีวุฒิภาวะ รู้ผิดชอบ เคารพสิทธิ และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ถ้าได้รับการพัฒนามาดี ก็จะไม่เกิดปัญหา เหมือนการติดเบรคให้กับวัยรุ่น ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงของวัยรุ่น ต้องช่วยกัน 3 ส่วน คือ ครอบครัว โรงเรียน และชุมชน
1. ครอบครัว ต้องช่วย "เหลา" ความคิด แทนที่จะใช้การไปครอบงำความคิดเด็ก เพราะการสร้างทักษะให้เด็ก "รู้คิด" เสมือนเป็นการติดเบรกให้กับบุตรหลาน โดยครอบครัวอาจใช้การเปิดประเด็นจากคลิป ที่แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้น และสอบถามความคิดเห็นของบุตรหลาน ว่า หากถูกกระทำแบบนี้จะรู้สึกอย่างไร และคิดว่ายุติธรรมหรือไม่ และอย่าให้เด็กเอาเวลาไปมุ่งเรื่องเรียนเพียงอย่างเดียว แต่ควรมีปฏิสัมพันธ์ ภายในบ้าน ทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อสร้างความเอื้ออาทร หากสอนให้มีจิตใจที่อ่อนโยน จะไม่ทำให้เด็กทะเลาะกัน หรือในกรณีที่เด็กออกนอกบ้านในยามวิกาลโดยไม่มีเหตุจำเป็น พ่อแม่จะต้องไม่ปล่อยให้ออกไปแบบนั้น หรือหากจะให้ลูกออกไป อาจจะต้องมีข้อตกลง รวมถึงกลไกในติดตาม ว่าลูกจะไปที่ไหนหรือทำอะไร และไปกับใคร สิ่งเหล่านี้ถือเป็นหน้าที่สำคัญของพ่อแม่ โดยไม่ควรทิ้งภาระให้ภาครัฐ หรือรอกลไกของสังคม มาช่วยแต่เพียงอย่างเดียว
2.โรงเรียน ต้องสร้างระบบเฝ้าระวังและการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ไม่ควรให้ความสำคัญเฉพาะแค่เด็กหน้าห้อง เพราะเด็กทุกคนมีศักดิ์ศรี และสามารถเข้ามาสู่การเป็นผู้นำได้ทั้งนั้น โรงเรียนควรเปิดรั้วของตัวเอง ให้เป็น community Learning Organization สร้างกิจกรรมที่ใฝ่ดี เพื่อช่วยในการค้นพบตัวตนของเด็กแต่ละคน เป็นการนำจุดอ่อนของเด็ก มาสร้างให้กลายเป็นจุดแข็งในด้านบวก เช่น เด็กบางคนอาจไม่ได้ถนัดเรื่องการเรียน แต่มีความถนัดด้านอื่น โรงเรียนสามารถใช้ความถนัดเหล่านั้น ไปสร้างประโยชน์ ทำให้เด็กได้รับการยอมรับ เพราะอย่าลืมว่าเด็กวัยนี้ มีพลังเยอะ บางคนอาจไม่ใช่เด็กเรียน แต่เขามีความถนัดด้านอื่น หากโรงเรียนเปิดรั้ว เพื่อให้เด็กเหล่านี้ มีพื้นที่บ้าพลังในทางที่สร้างสรรค์ ให้เขาได้ใช้พลังไปทำประโยชน์ให้ชุมชนรอบรั้วโรงเรียน ถ้าทำลักษณะนี้ได้ เด็กอาจจะกลายเป็นผู้นำ ที่สร้างการยอมรับ เป็นฮีโร่ในพื้นที่ดี โรงเรียนจะเป็นมิตรกับเด็ก และปัญหาเหล่านี้้จะไม่เกิดขึ้น
3.ชุมชน ต้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ในการช่วยเป็นหูเป็นตา หากพบความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการใช้ความรุนแรง ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ เป็นการป้องกันเหตุล่วงหน้า โดยไม่คิดว่าไม่ใช่ลูกหลานของตน และที่สำคัญอย่าให้สุรา บุหรี่ หรือยาเสพติดเข้าถึงวัยรุ่น เพราะเสมือนเป็นการทำลายจิตสำนึกที่ดี