นายสุโตโป ปูร์โว นูโกรโฮ โฆษกสำนักงานภัยพิบัติของอินโดนีเซีย ซึ่งคุ้นหน้าคุ้นตากันดีในสื่อต่างชาติ เนื่องจากเขาเป็นผู้ที่ต้องแถลงข่าวในช่วงที่อินโดนีเซียเผชิญภัยพิบัติทางธรรมชาติหลายครั้ง ขณะที่เขาเองก็กำลังต่อสู้กับโรคมะเร็งระยะสุดท้าย เสียชีวิตแล้วด้วยโรคร้ายดังกล่าว ในวัยเพียง 49 ปีเท่านั้น
นายนูโกรโฮ ซึ่งรู้จักกันในชื่อ ปัค โตโป หรือมิสเตอร์ โตโป ถือเป็นหน้าตาของรัฐบาลในการแถลงข่าวให้รายละเอียดเกี่ยวกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งรวมทั้งแผ่นดินไหวและสึนามิ ที่คร่าชีวิตประชาชนไปหลายพันคนบนเกาะสุลาเวสี ในปี 2561 ที่ผ่านมา
สำนักงานป้องกันภัยพิบัติของอินโดนีเซีย แถลงว่า เขาเสียชีวิตลงอย่างสงบเมื่อเช้าวันอาทิตย์ที่ผ่านมาที่โรงพยาบาลในกวางโจว ประเทศจีน ซึ่งเขาไปรักษาโรคมะเร็ง ที่ลุกลามกัดกินกระดูกและอวัยวะสำคัญต่าง ๆ ทั่วร่างกาย “เราทุกคนรู้สึกว่า เราได้สูญเสียปัค สุโตโป เขามักเป็นคนแรกเสมอและเป็นคนทรหด ไม่ย่อท้อ ในการชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับภัยพิบัติในอินโดนีเซีย” สำนักงานฯ ระบุในแถลงการณ์ฉบับหนึ่งผ่านทางอินสตาแกรม
ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในเมืองปาลู นายนูโกรโฮไม่เคยย่อท้อ พาสังขารไปแถลงข่าวประจำวันทุกวัน รับโทรศัพท์นักข่าวและให้ข้อมูลทางโซเชียล มีเดียอย่างต่อเนื่องด้วยความรวดเร็วเกี่ยวกับความคืบหน้าของเหตุการณ์ แม้ว่านายนูโกรโฮ ซึ่งไม่สูบบุหรี่ อยู่ระหว่างการรักษาโรคมะเร็งปอดระยะที่ 4 ก็ตาม
นายนูโกรโฮ ซึ่งมีรูปร่างผอมบางและซูบซีดกว่าในอดีตที่ผ่าน ประกาศข่าวร้ายในเดือนมกราคม 2561 ว่า เขากำลังจะตายและอาจมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่ถึงปีเท่านั้น
นายนูโกรโฮ ซึ่งอาศัยอยู่กับภรรยาและลูก 2 คน จบการศึกษาระดับปริญญาเอกในสาขาเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม โดยมีความเชี่ยวชาญด้านอุทกวิทยาและการทำฝนเทียม เขาใช้เวลาหลายปีในการเป็นนักวิจัย และฝันอยากเป็นอาจารย์ ปฏิเสธข้อเสนอตำแหน่งโฆษกรัฐบาลถึง 3 ครั้ง จนกระทั่งเจ้านายของเขาเกลี้ยกล่อมเขาว่า ภูมิหลังของเขาจะทำให้เขาได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากประชาชน เขาจึงรับตำแหน่งในปี 2553 ซึ่งเขาก็ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในอินโดนีเซีย จนมีผู้ติดตามทางทวิเตอร์เกือบ 2 แสนคน และอินสตาแกรมอีก 70,000 คน
เขาให้คำมั่นกับภรรยาว่าจะลดตารางการทำงานลง แต่เขาก็ยังต้องให้ข้อมูลความคืบหน้าเกี่ยวกับเหตุการณ์ดินถล่มในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 จากเตียงผู้ป่วย ที่เขาพักรักษาตัวอยู่
เขาทำตัวเป็นข้าราชการรับใช้ประชาชนจนวาระสุดท้ายของชีวิต เขาบอกว่า “มันไม่ได้เกี่ยวกับว่าชีวิตของคุณจะยืนยาวแค่ไหน แต่มันเกี่ยวกับสิ่งที่คุณทำในขณะที่มีชีวิตอยู่ต่างหาก”