ยูเนสโก มีมติให้เมืองพุกาม อาณาจักรโบราณของเมียนมา และเมืองชัยปุระ หรือนครสีชมพู ของอินเดีย ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในการประชุมกันในกรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน เมื่อวันเสาร์
คณะกรรมการมรดกโลกขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ซึ่งอยู่ระหว่างการประชุมครั้งที่ 43 ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน ถึง 10 กรกฎาคม ในกรุงบากู เมืองหลวงของอาเซอร์ไบจาน มีมติให้เมืองพุกาม เมืองหลวงโบราณของเมียนมา เป็นแหล่งมรดกโลกแห่งใหม่ประจำปี 2562 เมื่อวันเสาร์ ผ่านมาเกือบ 25 ปีหลังรัฐบาลเมียนมาเสนอชื่ออาณาจักรวัดในพระพุทธศาสนาแห่งนี้ ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกครั้งแรก
การตัดสินใจยอมรับความสำคัญของอาณาจักรโบราณของเมียนมาที่เกี่ยวข้องกับกับความศรัทธาของพระพุทธศาสนาแห่งนี้ ซึ่งประกอบด้วยสถูปมากกว่า 3,500 องค์, วัดวาอาราม และโบราณวัตถุสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ที่สร้างขึ้นระหว่างศตวรรษที่ 11 และ 13 จะเป็นประโยชน์มหาศาลต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของเมียนมาด้วย
การเสนอขึ้นทะเบียนเมืองพุกามเป็นมรดกโลกของเมียนมา ผ่านความเห็นชอบในที่ประชุมขององค์การด้านวัฒนธรรมของยูเอ็นในกรุงบากู โดยสภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (International Council on Monuments and Sites) หรืออิโคโมส (ICOMOS) เสนอให้ขึ้นทะเบียนเมืองพุกามเป็นมรดกโลก ซึ่งให้เหตุผลว่า เมียนมาได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองมรดกชาติฉบับใหม่ และกำหนดแผนการลดผลกระทบจากโรงแรมและการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวรอบวัดโบราณแห่งนี้
อิโคโมส ระบุว่า เมียนมาหันกลับมาแทรกแซงการอนุรักษ์ที่ไม่มีความเหมาะสมแล้ว และบอกว่า พุกามเป็นสถานที่สำคัญและมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และยังเป็นศาสนสถานที่เคารพบูชาของพุทธศาสนิกชนมาจนถึงปัจจุบัน
เมียนมาเสนอชื่อเมืองพุกามเป็นมรดกโลกครั้งแรกในปี 2538 แต่รัฐบาลเผด็จการทหารที่ปกครองเมียนมาในขณะนั้น ถูกกล่าวหาว่า เพิกเฉยต่อคำแนะนำของบรรดาผู้เชี่ยวชาญในความพยายามบูรณะซ่อมแซม ทำให้การเสนอชื่อเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกถูกปฏิเสธ นอกจากนี้ เหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรง 6.8 ในปี 2559 ยังได้ทำลายโครงสร้างต่าง ๆ ในอาณาจักรโบราณแห่งนี้ ซึ่งวัดเกือบ 200 แห่ง ได้รับความเสียหาย
อย่างไรก็ตาม เมียนมาก็พยายามครั้งใหม่ในการเสนอชื่อเมืองพุกามเป็นมรดกโลก ตั้งแต่เริ่มต้นการถ่ายโอนอำนาจการปกครองประเทศจากทหารในปี 2554







ขณะเดียวกัน ยูเนสโก ยังมีมติให้เมือง “ชัยปุระ” หรือ “นครสีชมพู” รัฐราชสถาน ประเทศอินเดีย เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมด้วย ซึ่งเมืองประวัติศาสตร์แห่งนี้ ตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1727 (พ.ศ.2270) โดยมหาราชาสวาอี ชัยสิงห์ที่ 2 แห่งอาเมร์ ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากราชปุตราชวงศ์กาญจวาหา ชัยปุระเคยเป็นเมืองหลวงของรัฐราชสถาน รัฐที่ร่ำรวยวัฒนธรรม เนื่องจากเต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมแสนวิจิตร อลังการ จิตวิญญาณ และวิถีชีวิตชาวภารตะแบบดั้งเดิม
ในปี ค.ศ. 1876 (พ.ศ.2419) ในรัชสมัยของมหาราชาสวาอี ราม สิงห์ (Sawai Ram Singh) ได้มีพระบัญชาให้ทาสีอาคารบ้านเรือนต่าง ๆ ในเมืองเป็นสีชมพูเพื่อเป็นการต้อนรับเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด เจ้าชายแห่งเวลส์ ในคราที่เสด็จเยือนชัยปุระอย่างเป็นทางการ ซึ่งสีชมพูนั้นก็ยังคงไว้จนถึงปัจจุบันและได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์อันโดดเด่นของชัยปุระจนทุกวันนี้
ด้านนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ผู้นำอินเดีย แสดงความพอใจอย่างมากที่เมืองชัยปุระ ได้รับการยอมรับให้เป็นแหล่งมรดกโลก






