ยูเนสโก ประกาศขึ้นทะเบียนเขตสงวนพันธุ์สัตว์ป่า ถิ่นอาศัยของนกย้ายถิ่นตามแนวชายฝั่งทะเลเหลือง-อ่าวปั๋วไห่ของจีน เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ และมีมติให้บาบีโลน แหล่งอารยธรรมโบราณของอิรัก เป็นมรดกโลกแห่งใหม่ประจำปี 2562 ด้วย
คณะกรรมการมรดกโลก ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ประกาศขึ้นทะเบียน เขตสงวนพันธุ์นกอพยพ ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของนกย้ายถิ่นตามแนวชายฝั่งของทะเลเหลือง-อ่าวปั๋วไห่ เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งใหม่ประจำปี 2562 เมื่อวันศุกร์ที่ 5 กรกฏาคม ระหว่างการประชุมครั้งที่ 43 ของคณะกรรมการมรดกโลกยูเนสโก ในกรุงบากู เมืองหลวงของอาเซอร์ไบจาน โดยถือเป็นแหล่งมรดกโลกลำดับที่ 54 ของจีน และเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่ 14 ของจีนด้วย และพื้นที่แห่งนี้ ยังกลายเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่อยู่ในเขตน้ำขึ้นน้ำลงแห่งแรก ที่ถูกจารึกเป็นมรดกโลกในจีน
แหล่งที่อยู่อาศัยของนกอพยพย้ายถิ่น ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเหยียนเฉิง พื้นที่ใหญ่ที่สุดของมณฑลเจียงซู ทางตะวันออกของจีน อยู่บริเวณชายฝั่งของทะเลเหลือง-อ่าวปั๋วไห่ ประกอบด้วยระบบนิเวศ 3 อย่างด้วยกัน คือป่า, ทะเล และพื้นที่ชุ่มน้ำ สิ่งแวดล้อมที่พิเศษแบบนี้ ดึงดูดนกย้ายถิ่นฤดูหนาวจำนวนมากให้อพยพมารวมตัวกันในสถานที่แห่งนี้เป็นประจำในแต่ละปี ซึ่งในจำนวนนี้ มากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นนกกระเรียนมงกุฏแดง ที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในไซบีเรีย นอกจากนี้ ยังมีนกหายาก หรือใกล้สูญพันธุ์ 33 สายพันธุ์จากทั่วโลก อพยพมาที่นี่ และยังเป็นเขตป่าสงวนธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดของโลกสำหรับกวางเอลก์ด้วย
คณะกรรมการมรดกโลก ยังมีมติขึ้นทะเบียนเมืองบาบีโลน แหล่งอารยธรรมโบราณอายุ 4,000 ปี ยุคเมโสโปเตเมียของอิรัก เป็นแหล่งมรดกโลกแหล่งใหม่ประจำปี 2562 ด้วย หลังรัฐบาลอิรักล็อบบี้และเสนอชื่อมานานตั้งแต่ปี 2526 โดยเมืองบาบีโลน ศูนย์กลางของอาณาจักรโบราณ ถูกสร้างขึ้นริมฝั่งแม่น้ำยูเฟรตีส ห่างจากกรุงแบกแดด ไปทางตอนใต้ประมาณ 85 กิโลเมตร มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักเกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้างที่น่าทึ่ง ประกอบด้วยวิหารที่สร้างด้วยอิฐดินเผาสูงตระหง่าน, สวนลอยแห่งบาบีโลน, และหอสูงของวิหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์โบราณของโลก นอกจากนี้ ยังมีชมรูปปั้น Lion of Babylon ที่โด่งดัง รวมถึงประตูหลวงที่เรียกว่า “ประตูติชตาร์” (The Ishtar Gate) ที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมได้ในพื้นที่กว้างใหญ่ถึง 10 ตารางกิโลเมตร
ปัจจุบันสวนลอยเกือบไม่เหลือซากใด ๆ เลย นอกจากกองอิฐและหิน ซึ่งกระจายอยู่เป็นหย่อมๆ สิ่งที่ตระหง่านตากว่าคือ อาคารของรัฐบาลที่มักเรียกกันว่า “วัง” ของซัดดัม ซึ่งปลูกอยู่ถัดไปสองสามร้อยเมตร นอกจากเคยเป็นวังของซัดดัมแล้ว ในเวลาต่อมา สถานที่แห่งนี้ ยังถูกใช้เป็นฐานทัพของทหารสหรัฐด้วย
ทั้งนี้ อิรักเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยแหล่งโบราณคดีหลายพันแห่ง ซึ่งหลายแห่งได้รับความเสียหายอย่างหนักหรือถูกปล้นโดยกลุ่มนักรบรัฐอิสลาม หรือไอเอส ที่ประกาศปกครองตนเองนานสามปีในพื้นที่กว้างใหญ่ของอิรักและซีเรีย ก่อนถูกกวาดล้าง