สมเด็จเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีทรงรับ "มาเรียม-ยามีล" ไว้ในโครงการอนุรักษ์แนวปะการัง (คลิป)

2019-07-05 14:35:09

สมเด็จเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีทรงรับ "มาเรียม-ยามีล" ไว้ในโครงการอนุรักษ์แนวปะการัง (คลิป)

Advertisement

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระกรุณาพระราชทานชื่อให้แก่ลูกพะยูนเกยตื้นเพศผู้ว่า "ยามีล" เป็นภาษายาวีมีความหมายว่า “ชายรูปงามแห่งท้องทะเล” และทรงรับลูกพะยูน "มาเรียม-ยามีล" ไว้ในโครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลฯ


เมื่อวันที่ 5 ก.คง นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) พร้อมด้วยผู้แทนจากกองทัพเรือและผู้แทนจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมแถลงข่าว เนื่องในโอกาสที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระกรุณาพระราชทานชื่อให้แก่ลูกพะยูนเกยตื้นตัวล่าสุดที่ จ.กระบี่ว่า "ยามีล" ซึ่งเป็นภาษายาวี มีความหมายว่าชายรูปงามแห่งท้องทะเล และทรงรับลูกพะยูน "มาเรียม" และ "ยามีล" ไว้ในโครงการ อนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าสิริวัณวรีนารีรัตน์


นายจตุพร กล่าวว่า เมื่อวันที่ 26 เม.ย. ที่ผ่านมามีการพบลูกพะยูนมาเกยตื้นที่บริเวณอ่าวทึง ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ หลังจากมีการตรวจสอบทราบว่าเป็นลูกพะยูนเพศเมีย อายุประมาณ 6 เดือน - 1 ปี เจ้าหน้าที่จึงตัดสินใจนำลูกพะยูนตัวดังกล่าวมาอนุบาลบริเวณบ้านแหลมจูโหย เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง เนื่องจากเป็นแหล่งหญ้าทะเลอันเป็นอาหารของพะยูนที่อุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพะยูนมากที่สุดในเมืองไทย โดยมีทีมสัตวแพทย์จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช คอยดูแล ป้อนนม หญ้าทะเล และได้ตั้งชื่อว่ามาเรียม แปลว่า หญิงสาวที่มีความสง่างามแห่งท้องทะเล


นายจตุพร กล่าวต่อว่า ต่อมาเมื่อวันที่ 1 ก.ค. พบลูกพะยูนเกยตื้นอีกตัว บริเวณชายหาดบ่อม่วง ต.ทรายขาว อ.คลองท่อม จ.กระบี่ เป็นลูกพะยูนเพศผู้ อายุประมาณ 3 เดือน มีความยาว 111 ซม. รอบตัว 66 ซม. น้ำหนักประมาณ 25 กก. สภาพอ่อนแรง อิดโรยมาก จากการประเมินเบื้องต้นพบว่าสภาพร่างกายอ่อนแรง ไม่สามารถประคองตัวเองได้ตามปกติ มีบาดแผลบริเวณแผ่นหลัง 5-6 แผล เป็นบาดแผลร่องรอยขีดข่วน สภาพร่างกายยังคงแข็งแรง ขณะนี้ทีมสัตวแพทย์ ทช. ได้รับไปดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ จ.ตรัง และหน่วยงานภาคเอกชน จัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือพะยูนและอนุรักษ์พะยูนไม่ให้สูญพันธุ์ไปจากทะเลตรัง เพราะ จ.ตรังเป็นถิ่นอาศัยของพะยูนฝูงใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยตั้งชื่อกองทุนมาเรียม โดยในวันที่ 7 ก.ค. จะมีการจัดกิจกรรมปั่นปันน้ำใจ ให้พะยูนน้อย ซึ่งเส้นทางการปั่นจักรยานจะเริ่มต้นจากสถานีรถไฟกันตัง สิ้นสุดที่เกาะลิบง ผู้สมัครเข้าร่วมปั่นจักรยานจะได้รับเสื้อพะยูนน้อย ราคาตัวละ 300 บาท โดยค่าสมัครทั้งหมดจะนำเข้ากองทุนมาเรียมเพื่อการอนุรักษ์พะยูนตรัง ในการดูแล รักษาพะยูนที่ได้รับบาดเจ็บ หรือนำไปซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยเพื่อมาทำการรักษาพะยูนต่อไป


“จากการสำรวจพบว่า ในประเทศไทยสามารถพบเห็นพะยูนได้ในบริเวณฝั่งทะเลอันดามันมากกว่าบริเวณฝั่งอ่าวไทย และบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมและพื้นที่ใกล้เคียง มีการสำรวจพบฝูงพะยูนและแหล่งหญ้าทะเลที่มีปริมาณมากที่สุดในประเทศไทย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระกรุณาพระราชทานชื่อให้แก่ลูกพะยูนเกยตื้นตัวล่าสุด ที่ จ.กระบี่ว่า ยามีล ซึ่งมีความหมายในภาษายาวี ว่าชายรูปงามแห่งท้องทะเลและทรงรับลูกพะยูนทั้ง 2 ตัวไว้ในโครงการฯ จึงนับเป็นพระเมตตาและเป็นที่ปลาบปลื้มใจอย่างยิ่งให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานดูแลลูกพะยูนทั้ง 2 ตัว อีกทั้งยังเปรียบเสมือนการสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนได้เห็นถึงความสำคัญของระบบนิเวศทรัพยากรทางทะเลและสัตว์ทะเลหายาก”นายจตุพร กล่าว





ขอบคุณภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง