มติศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง 32 ส.ส.เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ แต่ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส่วนอีก 9 คนไม่รับคำร้อง
เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมปรึกษาพิจาณาคดี กรณีประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตร 92 จำนวน 2 คำร้อง โดยขอให้วินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของ ส.ส. 41 คน สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบ มาตรา 98 (3) หรือไม่ เนื่องจาก ส.ส. จำนวน 41 คน เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ซึ่งเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส. สิ้นสุดลง
ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาแล้วเห็นว่ารัฐธรรมนูญ มาตร 98(3) บัญญัติลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะใช้สิทธิสมัครับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไว้ว่า "เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด" มิใช่เพียงมีเจตนาหรือความประสงค์จะทำกิจการดังกล่าวเท่านั้น ถึงแม้การถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่มีวัตถุที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจพอที่จะใช้เป็นเหตุให้มีการยื่นคำร้องต่อศาลได้ แต่ก่อนที่จะรับคำร้องไว้พิจารณาต่อไปได้ยังจำเป็นต้องตรวจสอบวัตถุที่ประสงค์ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่ผู้ถูกร้องทั้ง 41 คนถือหุ้นอยู่ว่าเป็นวัตถุที่ประสงค์ที่จะประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ หรือไม่ ซึ่งเมื่อตรวจสอบจากเอกสารประกอบคำร้องของผู้ร้องแล้ว ปรากฏว่าหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งออกให้แก่ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทของนายศาสตรา ศรีปาน, นายสุรศักดิ์ ชิงนวรรณ์,น.ส.ภริม พูลเจริญ ,น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์, นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์, นายจักรพันธ์ พรนิมิต, นายกรณ์ จาติกวณิช, นายประมวล พงศ์ถาวราเดช และนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ โดยมีข้อความระบุรายละเอียดวัตถุที่ประสงค์ไว้ทำนองเดียวกันว่า "การประกอบกิจการค้ากระดาษ เครื่องเขียน แบบเรียน แบบพิมพ์ หนังสือ อุปกรณ์ การเรียนการสอน อุปกรณ์ถ่ายภาพและภาพยนตร์ เครื่องคำนวณ เครื่องพิมพ์ อุปกรณ์การพิมพ์ สิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ ตู้เก็บเอกสาร และเครื่องใช้สำนักงานทุกชนิด เครื่องมือสื่อสาร คอมพิวเตอร์ รวมทั้งอุปกรณ์ และอะไหล่ของสินค้าดังกล่าว" ซึ่งเป็นวัตถุที่ประสงค์ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ที่จะเป็นลักษณะเข้าข่าย อันเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส. ต้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (2) ประกอบมาตร 98 แต่อย่างใด จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องในส่วนของผู้ถูกร้อง 9 คน ไว้พิจารณาวินิจฉัย
สำหรับคำร้องของผู้ร้องในส่วนของผู้ถูกร้องที่เหลือ จำนวน 32 คน เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (5) แล้ว ศาลจึงสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และแจ้งให้ผู้ร้องทราบพร้อมส่งสำเนาคำร้องให้ผู้ถูกร้องทั้ง 32 คนยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง สำหรับคำขอให้ผู้ถูกร้องทั้ง 32 คนหยุดปฏิบัติหน้าที่นั้น ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 4 วรรคสอง บัญญัติเงื่อนไขไว้ว่าจะต้อง "ปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าสมาชิกผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง" แต่ในคดีนี้ผู้ร้องไม่ได้ตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงคงมีเอกสารประกอบคำร้องเพียงหนังสือรับรองห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทระบุรายละเอียดวัตถุที่ประสงค์กับสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นเท่านั้น ไม่ปรากฏแบบแสดงรายการเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของห้างหุ้นส่วนบริษัทฯ (แบบ สสช.1) และแบบนำส่งงบการเงินของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทว่ามีรายได้จากการประกอบกิจการใด กรณีจึงยังไม่มีความชัดเจนว่า ผู้ถูกร้องประกอบธุรกิจใด ซึ่งศาลจะต้องดำเนินการไต่สวนเพื่อหาข้อเท็จจริงให้ยุติต่อไป เมื่อยังไม่ปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกร้องจำนวน 32 คน มีกรณีตามที่ถูกร้อง ในชั้นนี้ จึงยังไม่เข้าเงื่อนไขที่จะสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้ง 32 คนหยุดปฏิบัติหน้าที่
นอกจากนั้นศาลรัฐธรรมนูญยังชี้แจงว่า คดีที่ กกต. ยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สิ้นสุดลงหรือไม่นั้น ได้ผ่านการสอบสวนของ กกต. ซึ่งมีการสืบสวนหาข้อเท็จจริงมาก่อนยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีเอกสารประกอบคำร้อง เช่น แบบ สสช.1 ระบุสินค้าหรือบริการที่ประกอบการว่า ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ โรงพิมพ์ รับพิมพ์ หนังสือ พิมพ์หนังสือจำหน่าย ประกอบกับแบบนำส่งงบการเงินที่บริษัทของนายธนาธรยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า 2554-2558 ซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่ามีรายได้จากการขายนิตยสาร และรายได้จากการให้บริการโฆษณา กรณีดังกล่าวจึงมีเหตุอันควรสงสัยว่านายธนาธร มีกรณีตามที่ถูกร้อง ศาลรัฐธรรมนูญจึงได้มีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง
32 ส.ส. ที่ศาลรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
พรรคพลังประชารัฐ
1.นายกษิติ์เดช ชุติมันต์ ส.ส.กทม.
2.น.ส.กุลวลี นพอมรบดี ส.ส.ราชบุรี
3.นายชาญวิทย์ วิภูศิริ ส.ส.กทม.
4.นายฐานิสร์ เทียนทอง ส.ส.สระแก้ว
5.น.ส.ตรีนุช เทียนทอง ส.ส.สระแก้ว
6.นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
7.นายทวิรัฐ รัตนเศรษฐ ส.ส.นครราชสีมา
8.นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา ส.ส.ราชบุรี
9.นายปฐมพงศ์ สูญจันทร์ ส.ส.นครปฐม
10.น.ส.พิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
11.นายภิญโญ นิโรจน์ ส.ส.นครสวรรค์
12.นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์
13.พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ ส.ส.กำแพงเพชร
14.นายสมเกียรติ วอนเพียร ส.ส.กาญจนบุรี
15.นายสมพันธ์ มะยูโซ๊ะ ส.ส.นราธิวาส
16.นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.
17.นายสุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.ชลบุรี
18.นายอนุชา น้อยวงศ์ ส.ส.พิษณุโลก
19.นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ
20.นายฐาปกรณ์ กุลเจริญ ส.ส.สมุทรปราการ
21.น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์ ส.ส. กทม.
พรรคประชาธิปัตย์
1. นายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง
2.นายอัศวิน วิภูศิริ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
3.นายสมชาติ ประดิษฐพร ส.ส.สุราษฎร์ธานี
4.น.ส.วชิราภรณ์ กาญจนะ ส.ส.สุราษฎร์ธานี
5.นายภานุ ศรีบุศยกาญจน์ ส.ส.สุราษฎร์ธานี
6.น.ส.จิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ
7.นางกันตวรรณ ตันเถียร ส.ส.พังงา
พรรคภูมิใจไทย 1 คน
นายปกรณ์ มุ่งเจริญพร ส.ส.สุรินทร์
พรรครวมพลังประชาชาติไทย 1 คน
ม.ร.ว.จตุมงคล โสณกุล หัวหน้าพรรค
พรรคชาติพัฒนา 1 คน
นายเทวัญ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรค
พรรคประชาภิวัฒน์ 1 คน
นายสมเกียรติ ศรลัมพ์ หัวหน้าพรรค
9 ส.ส.ที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง
พรรคพลังประชารัฐ
1.นายศาสตรา ศรีปาน ส.ส.สงขลา
2.นายสุรศักดิ์ ชิงบวรรณ์ ส.ส.สระแก้ว
3.นางสาวพริม พูลเจริญ ส.ส.สมุทรปราการ
4.นางปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี
5.นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
6.นายจักรพันธ์ พรนิมิตร ส.ส.กทม.
พรรคประชาธิปัตย์
1.นายกรณ์ จาติกวานิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ
2.นายประมวล พงศ์ถาวรเดชส.ส.ประจวบคีรีขันธ์
3.นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี