“ปิยบุตร” ยก 4 กรณีถือหุ้นสื่อเทียบมาตรฐานกระบวนการยุติธรรม ระบุ 27 ส.ส.พปชร.ไม่มีกฎหมายข้อใดให้ขอคุ้มครองชั่วคราวได้
เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ แถลงกรณีที่พรรคอนาคตใหม่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้วินิจฉัยกรณี 41 ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลถือหุ้นสื่อ ว่า ถือว่าขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามหรือไม่ โดยนายปิยบุตรระบุว่าสิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญอยู่ในขณะนี้มีสองเรื่อง เรื่องแรกก็คือเกณฑ์ในการพิจารณาดูว่ามีการถือหุ้นสื่อจริงหรือไม่ และเรื่องที่สอง คือจะมีการสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวหรือไม่
นายปิยบุตร ระบุว่าในเรื่องแรกนั้นเคยมีแนวทางคำพิพากษาศาลฎีกาออกมาแล้วในสองคดีหลักๆ คือคดีของอดีตผู้สมัคร ส.ส.สกลนคร พรรคอนาคตใหม่ นายภูเบศวร์ เห็นหลอด และอดีตผู้สมัคร ส.ส.อ่างทอง พรรคประชาชาติ นายคมสัน ศรีวนิชย์ ซึ่งทั้งสองคดีนี้ศาลได้ให้แนวทางมาแล้ว ว่าให้ไปดูที่หนังสือบริคณห์สนธิ โดยถ้ามีข้อความระบุว่าทำกิจการที่เกี่ยวกับสื่อวลชน ก็ให้ถือว่าบริษัทนั้นประกอบกิจการสื่อจริง ส่วนเรื่องที่สอง กรณีที่เกิดขึ้นกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว โดยระบุว่าหากปล่อยให้ปฏิบติหน้าที่ต่อไป จะส่งผลให้เกิดปัญหาทางกฎหมายและการดำเนินงานที่สำคัญในการประชุมสภา
นายปิยบุตรได้นำกรณีของคดีที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ และมีข้อเท็จจริงไม่ได้แตกต่างกัน มาชี้เปรียบเทียบให้เห็นถึงมาตรฐานในการพิจาณา คือกรณีของนายดอน ปรมัตถ์วินัย ที่ กกต.ใช้เวลา 386 วันหลังจากรับเรื่อง ก่อนที่จะส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลา 70 วันก่อนจะมีคำวินิจฉัยรับคำร้อง และมีคำสั่งออกมาว่าไม่ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ และยังมีกรณีของ 4 รัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. ที่ กกต.ใช้เวลาถึง 355 วันหลังจากรับคำร้อง ในการส่งเรื่องต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญ โดยศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาถึง 75 วันก่อนจะมีคำวินิจฉัยรับคำร้อง และมีคำสั่งออกมาว่าไม่ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเมื่อเทียบกับกรณีของนายธนาธร กกต.ใช้เวลา 51 วันก่อนส่งเรื่องต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญหลังจากรับคำร้องมา และศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาเพียง 7 วันเท่านั้นพร้อมมีคำวินิจฉัยให้นายธนาธรยุติการปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว
นายปิยบุตร กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีของ 41 ส.ส. ที่มีการยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรไปนั้น ประธานสภาผู้แทนราษฎรใช้เวลา 8 วันก่อนส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ และจนขณะนี้ทุกคนก็ยังรออยู่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องหรือไม่ และจะมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ที่น่าสนใจคือ ไม่ทราบว่าจะมีการใช้บรรทัดฐานแบบนายดอน 4 รัฐมนตรี หรือใช้บรรทัดฐานเดียวกับกรณีของนายธนาธร
นายปิยบุตร กล่าวด้วยว่า ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการโต้แย้งในหลายประเด็นว่ากรณีของนายธนาธรไม่เหมือนกันกับกรณีของ 41 ส.ส. ซึ่งตนก็เชื่อว่ามีความไม่เหมือนกันจริงๆ เพราะกรณีของนายธนาธรได้มีการโอนหุ้นหมดแล้วตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.2562 เพราะฉะนั้นในวันสมัครรับเลือกตั้ง นายธนาธรไม่มีชื่ออยู่ในการถือหุ้นสื่ออะไรอีกเลย แต่ทาง 41 ส.ส.นั้น ในวันที่รับสมัครยังคงถือหุ้นสื่ออยู่ เป็นที่แน่ชัดว่าทุกคนถือหุ้นอยู่จริงโดยไม่มีการโต้แย้งในเรื่องนี้
เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ระบุด้วยว่า ส่วนการโต้แย้งว่ากรณีของ 41 ส.ส.ไม่ได้เป็นบริษัทที่ทำกิจการสื่ออยู่จริง เป็นเพียงการระบุไปในข้อหนึ่งของหนังสือบริคนธ์สนธิเท่านั้น อย่างนั้นตนก็ต้องถามว่าแล้วกรณีของนายภูเบศวร์และนายคมสัน ก็เป็นกรณีที่บริษัทไม่ได้ทำกิจการสื่ออยู่จริงๆ เช่นเดียวกัน แต่ก็ถูกตัดสิทธิ์โดยศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง เช่นนั้นแล้วตนก็ต้องถามว่าตกลงแล้วเราจะใช้มาตรฐานใดในเรื่องนี้กันแน่ ส่วนกรณีที่ 27 ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐไปยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญคุ้มครองชั่วคราว โดยอ้างว่าหากหยุดปฏิบัติหน้าที่จะกระทบกับการทำหน้าที่สำคัญนั้น ตนก็ต้องตั้งคำถามว่ากรณีของนายธนาธร ศาลมีการสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่โดยเหตุผลว่าอาจกระทบกับการดำเนินงานที่สำคัญ แล้วจะเอาเหตุผลว่ากำลังปฏิบัติหน้าที่สำคัญอยู่มาอ้างได้อย่างไร ตกลงแล้วจะใช้มาตรฐานไหนกันแน่
"กระบวนการตอนนี้ศาลยังไม่พูดอะไรซักแอะ แต่คุณส่งไปแล้วว่าขอให้คุ้มครองชั่วคราว คุณไปร้องก่อนล่วงหน้า แล้วไปร้องโดยไม่มีช่องทางให้ร้องด้วย แต่สุดท้ายหากกรณีชองพรรคพลังประชารัฐได้รับการคุ้มครองชั่วคราวแบบนี้ขึ้นมา ทางพรรคอนาคตใหม่และนายธนาธรก็จะขอสงวนสิทธิขอคุ้มครองชั่วคราวด้วย แต่เบื้องต้นตอนนี้เราขอยืนยันว่าช่องทางนี้ไม่มี แต่ถ้าสุดท้ายศาลให้เมื่อไหร่เราจะขอด้วยแน่” นายปิยบุตร กล่าว
ส่วนการขอให้ศาลเปิดการไต่สวนสองครั้งนั้น นายปิยบุตรระบุว่าใน พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดเอาไว้เลยว่าศาลต้องเปิดการไต่สวนในขั้นตอนการรับคำร้อง รวมถึงในขั้นตอนวินิจฉัยว่าจะสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ โดยในมาตรา 49 ระบุไว้ว่าศาลอาจจะตั้งองค์คณะเล็กขึ้นมาพิจารณาหรือร่วมกันพิจารณาโดยองค์คณะใหญ่เองก็ได้ ซึ่งตอนนี้ตนก็ไม่รู้ว่าขั้นตอนอยู่ตรงไหนแล้ว หากใช้องค์คณะใหญ่ ณ ตอนนี้ก็ถือว่าเกินช่วงเวลา 5 วันมาแล้ว และสุดท้ายหากศาลอนุญาตให้ 41 ส.ส.เข้าชี้แจงก่อนวินิจฉัยว่าจะให้หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ตนก็ต้องถามกลับไปว่าแล้วทำไมกรณีของนายธนาธร ไม่มีการเปิดโอกาสให้ชี้แจงในลักษณะเดียวกันบ้าง การแถลงข่าวในวันนี้ ตนไม่ได้ต้องการตั้งคำถามถึงองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่เราต้องการตั้งคำถามต่อกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย เราขอเพียงอย่างเดียวว่าขอให้มีมาตรฐานในกระบวนการยุติธรรมแบบเดียวกัน กรณีที่เหมือนกันต้องได้รับการปฏิบัติในลักษณะเดียวกัน อำนาจขององค์กรทั้งหลายที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมตั้งอยู่บนกฎหมายว่าแต่ละองค์กรมีอำนาจใด และมีกฎหมายห้ามละเมิด ห้ามหมิ่นเจ้าหนักงาน ห้ามละเมิดศาล แต่กฎหมายเหล่านี้ไม่ได้ทำให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น ความยุติธรรมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีศรัทธาจากพี่น้องประชาชน ของสาธารณชนต่างหาก ร่วมกันประเมินตัดสินว่ายุติธรรมจริงหรือไม่ ถ้าหากคุณจะทำให้เกิดความยุติธรรมขึ้นมา ทำให้คนทั้งประเทศเชื่อมั่นว่ายุติธรรมจริงหรือไม่ คุณก็ต้องทำให้คดีที่มีลักษณะเดียวกันได้รับการปฏิบัติด้วยมาตรฐานเดียวกัน