ศิริราชแถลงอาการ “น้ำตาล” สมองบวม-ไม่พบจุดเลือดออก

2019-06-13 15:00:50

ศิริราชแถลงอาการ “น้ำตาล” สมองบวม-ไม่พบจุดเลือดออก

Advertisement

ศิริราชแถลงอาการ “น้ำตาล เดอะสตาร์” สัญญาณชีพคงที่ ไม่มีเลือดออกทางท่อหายใจแล้ว ผลการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองและปอด ไม่พบตำแหน่งเลือดออกที่ปอดทั้งสองข้าง ส่วนสมองบวมมากให้ยาเพื่อลดอาการสมองบวมขณะนี้ยังคงให้การรักษาแบบประคับประคองร่วมกับการใช้เครื่องช่วยพยุงการทำงานของหัวใจและปอด

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 13 มิ.ย. ที่ห้องสิรินธร อาคารเฉลิมพระเกียรติ ชั้น G รพ.ศิริราช ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นประธานชี้แจงอาการของ “น้ำตาล-บุตรศรัณย์ ทองชิว” โดยมี รศ.นพ.ปรัญญา สากิยลักษณ์ สาขาวิชาศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก ภาควิชาศัลยศาสตร์ และครอบครัวของน้ำตาลร่วมด้วย






ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ตามที่ รพ.ศิริราชได้รับการส่งตัว น้ำตาล-บุตรศรัณย์ ทองชิว จาก รพ.สมุทรสาครเข้ามารับการรักษาต่อ เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. เวลา 08.15 น. ณ หอผู้ป่วย ICU ตั้งตรงจิตร 1 ตึกสยามินทร์ ชั้น 6 ด้วยอาการอาเจียนเป็นเลือดในปริมาณมาก ส่งผลให้มีอาการหายใจลำบาก และทำให้หัวใจหยุดเต้น และได้ทำการช่วยเหลือฟื้นคืนชีพ (CPR) จำนวน 2 ครั้ง ที่บ้านและรพ.สมุทรสาคร หลังจากนั้นได้มีการประสานงานจากทีมแพทย์ มายังคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดย รศ.นพ.ปรัญญา สากิยลักษณ์ ได้เดินทางไปยังรพ.สมุทรสาคร และทำการผ่าตัดใส่เครื่องช่วยพยุงการทำงานของหัวใจและปอด (ECMO) ณ รพ.สมุทรสาคร ก่อนที่จะย้ายผู้ป่วยมารักษาต่อ ณ รพ.ศิริราช


ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า เมื่อมาถึงหอผู้ป่วย ICU ตั้งตรงจิตร 1 ทีมแพทย์ได้ทำการตรวจ พร้อมวางแผนการรักษาผู้ป่วย เริ่มจากการปรับเปลี่ยนกระตุ้นหัวใจ และยาเพิ่มความดัน พร้อมให้ยาแก้ไขสภาวะความเป็นกรดด่างของเลือด รวมทั้งมีการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อการเฝ้าระวังสัญญาณชีพอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง จนสัญญาณชีพของผู้ป่วยคงที่ พอที่จะนำผู้ป่วยไปตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม และเมื่อเช้าวันนี้ (13 มิ.ย.62) ผู้ป่วยมีสัญญาณชีพคงที่ และไม่มีเลือดออกทางท่อหายใจแล้ว แพทย์จึงได้พิจารณานำผู้ป่วยส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) สมอง และปอด เพื่อการวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการ เลือดออกที่ปอด และวินิจฉัยประเมินความเสียหายของสมอง ผลการตรวจพบว่า 1.ไม่พบตำแหน่งเลือดออกที่ปอดทั้งสองข้าง 2.สมองบวมมาก สำหรับแผนการรักษาต่อไป มีดังนี้ 1.เนื่องจากยังไม่พบตำแหน่งที่เลือดออก จึงต้องเฝ้าระวัง และหาสาเหตุต่อไป เพราะอาจจะมีภาวะเลือดออกได้อีก 2.แก้ไขภาวะผิดปกติของเกลือแร่ในร่างกาย และให้ยาเพื่อลดอาการสมองบวม 3.ขณะนี้ยังคงให้การรักษาแบบประคับประคองร่วมกับการใช้เครื่องช่วยพยุงการทำงานของหัวใจและปอด (ECMO)




ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า การรักษาอาจจะไม่ยาก ถ้าเราเจอจุดที่มันเกิด การรักษาไม่จำเป็นต้องผ่าตัดก็ได้แต่สามารถใช้วิธีใส่สายสอดเข้าไป แต่กรณีของน้ำตาลแสดงว่าอยู่ในจุดที่ไม่พบบ่อยในคนไข้ทั่วไป ไม่อยากให้สังคมตระหนก แต่หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น ขอให้รีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด เพราะกรณีเช่นนี้ 10,000 คน อาจมีเพียงหนึ่งคน อาการป่วยนี้จะไม่มีสัญญาณเตือน ไม่อยากให้ตื่นตระหนก ซึ่งกรณีของ "น้ำตาล" ต้องขอชื่นชมคุณแม่ที่มีสติดีมาก เรียกคนมาช่วยเหลือ และปฐมพยาบาลเบื้องต้น จนรถพยาบาลมารับ อีกทั้งยังเลือกสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุดก่อน เพื่อให้สามารถนำผู้ป่วยส่งถึงมือแพทย์ได้เร็วที่สุด

“อาการป่วยจากเส้นเลือดเปราะบางลักษณะนี้ เกิดขึ้นน้อยมาก ไม่ค่อยพบในคนไข้ทั่วไป หรืออาจจะมี แต่อยู่ในจุดที่คนทั่วไปไม่รู้ และไม่เคยก่อเรื่องขึ้น หรือบังเอิญอาจเกิดขึ้นในจุดที่ใกล้ท่อ และไม่มีอะไรไปกด ทำให้เลือดไหลออกมาได้เรื่อยๆเหมือนเช่นกรณีของน้ำตาล”ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

รศ.นพ.ปรัญญา สากิยลักษณ์ สาขาวิชาศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก ภาควิชาศัลยศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาใหญ่อยู่ที่ปอด หัวใจหยุดเต้นเพราะปอดไม่สามารถแลกเปลี่ยนอากาศได้ สิ่งที่ต้องทำคือนำปอดเทียม หรือเครื่องพยุงปอดและหัวใจ มาช่วย น้ำตาลมีภาวะเป็นกรดในเลือดสูง จึงต้องใส่เครื่องนี้เพื่อนำเลือดออกมาฟอกด้านนอก นำออกซิเจนเข้าไป พอย้ายมา รพ.ศิริราช ได้ปรับยา ในช่วง 24 ชม.ความดันยังขึ้นลงตลอดเวลา เช้าวันนี้ทุกอย่างนิ่ง แต่ยังไม่พบจุดที่เลือดออก จากการตรวจร่างกายสมองบวม ต้องรอสมองยุบจะตรวจอีกครั้ง