ตรวจพบยาอันตรายผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก – เพิ่มสมรรถภาพเพศชาย

2019-06-13 13:30:16

 ตรวจพบยาอันตรายผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก – เพิ่มสมรรถภาพเพศชาย

Advertisement

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเผยผลทดสอบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกลุ่มลดน้ำหนักรอบสอง ยังพบ “ไซบูทรามีน” และกลุ่มอ้างสรรพคุณเสริมสมรรถภาพเพศชาย พบยาอันตราย “ซิลเดนาฟิล-ทาดาลาฟิล” เรียกร้อง อย. ลงโทษปรับสูงสุด 2 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ สุ่มซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนักรอบสอง จำนวน 15 ตัวอย่าง และ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างสรรพคุณเพิ่มสมรรถภาพทางเพศสำหรับผู้ชาย จำนวน 10 ตัวอย่าง จากห้างออนไลน์ 6 แห่ง ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนัก ตรวจวิเคราะห์กลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ได้แก่ ไซบูทรามีน (Sibutramine) และยาอันตราย อีกจำนวน 3 ชนิด ได้แก่ ฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) เฟนฟลูรามีน (Fenfluramine) และ บิซาโคดิล (Bisacodyl) พบ 3 ตัวอย่าง มีส่วนผสมยาไซบูทรามีน ส่วนในกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างสรรพคุณเสริมสมรรถภาพเพศชาย ตรวจวิเคราะห์ยาอันตราย 3 ชนิด ได้แก่ ซิลเดนาฟิล (Sildenafil) ทาดาลาฟิล (Tadalafil) และ วาร์เดนาฟิล (Vardenafil) พบ 7 ตัวอย่าง มีส่วนผสมยาอันตราย


ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาประกาศให้ไซบูทรามีน (Sibutramine) เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 กำหนดให้ผู้ใดนำเข้าหรือส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีไซบูทรามีนเป็นส่วนผสม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี และปรับตั้งแต่ 500,000 – 2,000,000 บาท ผู้ใดขายจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 4 – 20 ปี และปรับตั้งแต่ 4 แสนบาท ถึง 2 ล้านบาท ผู้ใดครอบครองจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 – 5 ปี หรือ ปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาทถึง 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมไปถึงผู้ที่บริโภคก็ถือว่าเป็นความผิดด้วย โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แรกเริ่มใช้ไซบูทรามีนเป็นยาต้านอาการซึมเศร้า ซึ่งพบว่าสามารถลดความอยากอาหารได้ด้วย จึงมีการนำมาใช้เป็นยาลดน้ำหนัก แต่พบว่ามีความเสี่ยงทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง เสี่ยงต่อการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและโรคหลอดเลือดในสมอง จึงได้ประกาศให้ยาอันตรายไซบูทรามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1


ส่วน ซิลเดนาฟิล (Sildenafil), ทาดาลาฟิล (Tadalafil) และ วาร์เดนาฟิล (Vardenafil) เป็นยาที่ใช้รักษาในกลุ่มอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หรือ ภาวะองคชาตไม่แข็งตัว จัดเป็นยาควบคุมพิเศษ มีผลข้างเคียงสูง เช่น อาการปวดศีรษะ ตาลาย ความดันโลหิตต่ำเฉียบพลัน หัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว ความดัน เบาหวาน โรคหัวใจ และผู้สูงอายุ อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงจนถึงชีวิตได้


ทั้งนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ทำหนังสือพร้อมแนบผลทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ตรวจพบวัตุถออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทและยาอันตรายดังกล่าวไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเพื่อขอให้ยกเลิกทะเบียนผลิตภัณฑ์ทั้ง 10 รายการ และขอให้ อย. ลงโทษปรับอัตราสูงสุดจำนวน 2 ล้านบาทกับผู้ผลิตและผู้จำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาททั้ง 3 รายการพร้อมเรียกร้องลงโทษผลิตภัณฑ์เสริมสมรรถภาพเพศชาย ให้ปรับสูงสุดที่ 120,000 บาท เพราะถือเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของยาถือเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25(1) ประกอบมาตรา 26(1) ต้องได้รับโทษตามมาตรา 58 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ ยังอาจเข้าข่ายอาหารปลอมที่มีฉลากเพื่อลวงให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ตามมาตรา 25 (2) ประกอบมาตรา 27 (4) มีโทษตามมาตรา 59 คือ จำคุกตั้งแต่ 6 เดือน – 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 – 100,000 บาท

ก่อนหน้านี้ ฉลาดซื้อ ได้สุ่มทดสอบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนัก จำนวน 16 ตัวอย่าง จากห้างออนไลน์ 8 แห่ง ในเดือนมิถุนายน 2561 (ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 208) พบว่ามีผลิตภัณฑ์ 6 ตัวอย่าง ผสมยาไซบูทรามีนและฟลูออกซิทีน ซึ่งเป็นยาอันตรายที่ห้ามใช้ในผลิตภัณฑ์อาหาร