เตือนภัย! 3 โรคอันตราย ไข้เลือดออกระบาดหนัก “เมืองคอน”

2019-06-11 10:20:25

เตือนภัย! 3 โรคอันตราย ไข้เลือดออกระบาดหนัก “เมืองคอน”

Advertisement

เตือน 3 โรค พบผู้เสียชีวิตแล้ว 8 ศพ! โรคไข้เลือดออกเมืองคอนระบาดสูงสุดในภาคใต้ พบผู้ป่วย 1,186 ราย เสียชีวิต 5 ราย โรคพิษสุนัขบ้าเกิด 24 รายเสียชีวิต 1ราย และโรคฉี่หนูเกิด 24 ราย เสียชีวิต 2 รายส่วนโรคไข้หวัดใหญ่ พบผู้ป่วย 2,010 คน ยังไม่มีผู้เสียชีวิต ส่วนวัณโรค พบผู้ป่วยมีอาการดื้อยาหลายขนานชนิด 2 ราย แยกเป็นรายเดิม 1 ราย รายใหม่ 1 ราย

เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ที่ห้องประชุมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช นายวิรัตน์ รักษ์พันธ์ รอง ผวจ.นครศรีธรรมราช เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครศรีธรรมราช มีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม โดยที่ประชุมได้รับทราบสถานการณ์การระบาดของโรคไข้เลือดออก โรคพิษสุนัขบ้า โรควัณโรค โรคไข้หวัดใหญ่ โรคเลปโตสไปโรซีส หรือโรคฉี่หนู รวมทั้งโรคไข้หวัดนก อีกทั้งที่ประชุมยังได้ให้ความเห็นชอบมาตรการเร่งรัดการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก มาตรการควบคุมการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า และมาตรการควบคุมวัณโรคดื้อยา

นายวิรัตน์ รักษ์พันธ์ รอง ผวจ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า จากข้อมูลสถานการณ์โรคไข้เลือดออกของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2562 – 6 มิ.ย. 2562 ได้รับรายงานผู้ป่วยจำนวน 1,186 ราย มีผู้เสียชีวิต 5 ราย โดยผู้เสียชีวิตรายล่าสุดเป็นเด็กหญิงอายุ 10 ปี ได้รับรายงานผู้ป่วยในทุกอำเภอ แต่มากที่สุด คือ อ.เมือง นครศรีธรรมราช รองลงมา อ.นาบอน ท่าศาลา ปากพนัง ถ้ำพรรณรา และพิปูน ตามลำดับ ซึ่ง จ.นครศรีธรรมราช มีอัตราผู้ป่วยไข้เลือดออกสูงที่สุดของภาคใต้ และเป็นอันดับที่ 6 ของประเทศ




ทางด้าน นพ.จรัสพงษ์ สุขกรี นพ.สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกของ จ.นครศรีธรรมราชปีนี้มีแนวโน้มสูงกว่าและรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งผู้ป่วยที่พบส่วนใหญ่จะเป็นนักเรียน แต่ก็พบผู้ป่วยได้ทุกเพศทุกวัย และผู้ที่เคยป่วยไข้เลือดออกแล้ว หากติดเชื้อสามารถป่วยได้อีก และอาการป่วยจะรุนแรงขึ้นกว่าการป่วยครั้งแรก โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ โรคอ้วน ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง ดังนั้นสิ่งที่ป้องกันไม่ให้โรคไข้เลือดออกระบาดขยายวงกว้างคือต้องขอความร่วมมือทุกภาคส่วนช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง และมีการฉีดพ่นสารเคมีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างต่อเนื่องและครอบคลุมทุกบ้านทุกพื้นที่ทุกสัปดาห์

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้รับทราบสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าของ จ.นครศรีธรรมราช ปี 2562 ตั้งแต่ ม.ค. 2562- 7 มิ.ย. 2562 พบโรคพิษสุนัขบ้า จำนวน 24 ครั้ง ระบาดในสุนัข 15 ครั้ง โค 7 ครั้ง แพะ 2 ครั้ง และพบผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า 1 ราย ในพื้นที่ตำบลช้างซ้าย อ.พระพรหม เป็นรายที่ 2 ของประเทศไทย โดยรายแรกที่ จ. สุรินทร์ สำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ ดำเนินการระหว่างเดือน มี.ค.- มิ.ย.2562 โดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด ปศุสัตว์อำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่ง อปท.ได้มีการจัดซื้อวัคซีนแล้ว จำนวน 131 แห่ง จำนวนวัคซีน 206,359 โด๊ส นอกจากนี้ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด ได้กำหนดเป้าหมายทำหมันสุนัข แมว จำนวน 2,000 ตัว และปัจจุบันมูลนิธิสุนัขในซอย (SOI DOG ) ได้เข้าดำเนินการทำหมันสุนัข แมว พร้อมฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่อำเภอสิชล



“ส่วนโรคไข้หวัดใหญ่ พบผู้ป่วย 2,010 คน ไม่มีผู้เสียชีวิต ,โรคเลปโตสไปโรซีส หรือโรคฉี่หนู พบผู้ป่วย จำนวน 43 ราย เสียชีวิต 2 ราย โรควัณโรค พบผู้ป่วยมีอาการดื้อยาหลายขนานชนิด 2 ราย แยกเป็นรายเดิม 1 ราย รายใหม่ 1 ราย และโรคไข้หวัดนก ยังไม่พบการระบาด แต่ได้เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องทั้งในไก่ไข เป็ดไล่ทุ่ง ให้วัคซีนไก่พันธุ์พื้นเมือง และการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกและซากสัตว์ปีกเข้ามาในจังหวัดและออกต่างจังหวัด”นายแพทย์จรัสพงษ์ สุขกรี กล่าวย้ำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในวันเดียวกันที่บริเวณองค์การบริหารส่วนตำบลท่าดี อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด ร่วมกับโรงพยาบาลสัตว์ สัตวแพทย์ 4 มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา และคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ร่วมออกหน่วยเคลื่อนที่เพื่อให้บริการทำหมันและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแก่สุนัขและแมวในพื้นที่ ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า รวมทั้งเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญและอันตรายของโรคพิษสุนัขบ้า

โดยการออกหน่วยให้บริการเคลื่อนที่ครั้งนี้เป็นการดำเนินงานภายใต้โครงการทำหมันสัตว์เลี้ยงช่วยชุมชน “VET 4 & UPENN ” ประจำปี 2562 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลสัตว์ สัตวแพทย์ 4 และโรงเรียนสัตวแพทย์จากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 ทั้งนี้เพื่อรณรงค์ให้มีการทำหมัน และฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ให้แก่สัตว์เลี้ยงในชุมชนทั้งในส่วนของกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย